การใช้ทุนทางวัฒนธรรมเป็นพลังขับเคลื่อนไปสู่ประเทศไทย?4.0

จากบทความตอนที่แล้ว ผมได้แสดงมุมมองต่อแนวคิดประเทศไทย 4.0 และกล่าวถึงความเกี่ยวข้องระหว่างทุนวัฒนธรรมกับการเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งผมมองว่าทุนวัฒนธรรมเป็นเหมือนกิจกรรมต้นน้ำ (Upstream)ในห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับทุนวัฒนธรรม คือ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งต้องทำหน้าที่พัฒนาทุนวัฒนธรรมและส่งมอบไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงพาณิชย์ เป็นต้นเพื่อสามารถนำไปสร้างคุณค่าและมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อไปได้

ผมมีข้อเสนอแนะในการใช้ทุนทางวัฒนธรรมโดยแบ่งเป็น 2 ประเด็นหลักๆ ได้แก่ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการโดยทุนวัฒนธรรม และการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม

ในบทความตอนนี้ ผมจะกล่าวถึงแนวทางสำหรับข้อเสนอแนะในประเด็นแรกกล่าวคือแนวทางการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการโดยทุนวัฒนธรรม ได้แก่

1.สร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรม ตามกรอบแนวคิด ?Dr. Dan Can Do 3I Innovation Model?

ในความคิดของผม นวัตกรรมมีทั้งสิ้น3ระดับ ได้แก่นวัตกรรมความคิด (Ideation Innovation) นวัตกรรมการปฏิบัติ (Implementation Innovation)และนวัตกรรมผลกระทบ (Impact Innovation)

การสร้างนวัตกรรมทางวัฒนธรรม ต้องเริ่มจากวัฒนธรรมทางความคิดหลักปรัชญาความเชื่อ เสียก่อน จึงจะสามารถสร้างนวัตกรรมวิถีปฏิบัติทางวัฒนธรรมได้ เพราะความคิดกำหนดการแสดงออกของมนุษย์ และการกระทำจะนำไปสู่การสร้างผลกระทบในที่สุด

การสร้างนวัตกรรมวัฒนธรรมของประเทศไทย จำเป็นต้องทำอย่างครบถ้วนทั้ง 3 ระดับ ทีละขั้นตอน เพื่อจะได้นวัตกรรมวัฒนธรรมที่เป็นคำตอบแก่ประเทศอย่างแท้จริง

2.ทุ่มงบวิจัยเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ตอบโจทย์

วัฒนธรรมที่ตอบโจทย์ คือวัฒนธรรมที่มีแนวโน้มที่ดีในตลาดโลก ส่งผลกระทบต่อสวัสดิการสังคมของคนในทางบวกสูงสุดและมีศักยภาพในการแข่งขันการจัดทำโครงการวิจัยจึงควรเป็นหัวข้อหรือประเด็นที่เจาะจงโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

ประการแรก ค้นหาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมที่ตอบโจทย์ เป็นจุดแกร่งของไทย เนื่องจากทรัพยากรมีจำกัดไม่สามารถสนับสนุนทุกอุตสาหกรรมได้ 

ประการที่สอง ค้นหาแนวทางการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรม เช่นการพัฒนามวยไทยให้มีมาตรฐาน โดยทำเป็นระดับขั้นหรือสายสีต่างๆ คล้ายการกระจายระดับเทควันโด โดยให้หน่วยงานของไทยเป็นผู้รับรองระดับฝีมือ และจัดเก็บค่าทดสอบระดับฝีมือ รวมทั้งการจัดตั้งศูนย์มวยไทยทั่วโลก หรือการทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งถ่ายภาพยนตร์ Hollywood, Bollywood ฯลฯ

ประการที่สาม พัฒนาผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมให้สามารถขายได้ทั่วโลก เป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะกับความต้องการและบริบทของแต่ละประเทศ และแต่ละวัฒนธรรม

3.พัฒนาจุดขายทางวัฒนธรรมของแต่ละจังหวัดและแต่ละคลัสเตอร์

ปัจจุบัน รัฐมีนโยบายส่งเสริมจุดขายทางวัฒนธรรมของจังหวัด แต่ยังไม่สามารถผลักดันจนทำให้เกิดผลผลิตหรือผลลัพธ์จากวัฒนธรรมอย่างมีนัยสำคัญดังตัวอย่างนโยบายการคัดเลือกเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ในประเทศไทยในปี 2554 เช่น การกำหนดให้จังหวัดชัยนาทเป็นเมืองแหล่งเมล็ดพันธุ์ข้าว จังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองหัตถกรรมสร้างสรรค์ หรือจังหวัดลำปางเป็นเมืองเซรามิกซึ่งยังไม่มีการดำเนินการเพื่อทำให้เป็นรูปธรรมที่ทำให้เกิดประสิทธิผล เป็นต้น

ผมจะขอยกตัวอย่างการผลักดันให้ลำปางเป็นเมืองเซรามิกสิ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการ ได้แก่ การบริหารจัดการให้มีห้องสมุด ศูนย์วิจัยเซรามิก คณะ สาขา หรือมหาวิทยาลัยที่มุ่งเชี่ยวชาญในเรื่องเซรามิก และมีองค์กรต่างๆที่คอยสนับสนุนและประสานงานเกี่ยวกับเซรามิกทั้งหมด เป็นต้น

4.สอดแทรกมิติทางด้านวัฒนธรรมเข้าไปในภารกิจของกระทรวงต่างๆ

ในอดีตนโยบายวัฒนธรรมของไทยโน้มเอียงไปในทางที่แยกส่วนออกจากการพัฒนาด้านอื่นๆแม้ปัจจุบัน มีความพยายามที่จะนำวัฒนธรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจทว่าการดำเนินการยังแคบมากและยังขาดการบูรณาการการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ทำให้มีการใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมอย่างไม่เต็มศักยภาพ

ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรผนวกมิติวัฒนธรรมเข้าไปในทุกนโยบายการพัฒนา ทั้งนี้นโยบายวัฒนธรรมมิใช่มีเพื่อส่งเสริมวัฒนธรรมแต่เพียงอย่างเดียวแต่ต้องส่งเสริมวัฒนธรรมให้ไปมีส่วนในการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วยทั้งด้านการศึกษา การสื่อสาร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม การเมือง การบริหาร เป็นต้น

ภารกิจของกระทรวงต่างๆควรสอดแทรกมิติวัฒนธรรมเข้าไปในนโยบายด้วย เช่น โครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคมการออกแบบก่อสร้างควรมีมิติของวัฒนธรรมไทยเข้าไปผสานหรือกระทรวงสาธารณสุขควรให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาส่งเสริมสมุนไพรไทย เป็นต้น

5.ส่งเสริมการส่งออกวัฒนธรรม 

ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรสนับสนุนการส่งออกวัฒนธรรม ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงการทูตเช่นการกำหนดนโยบายวัฒนธรรมเพื่อสร้าง Soft Power การสนับสนุนการส่งออกศิลปินและผู้ทำงานทางวัฒนธรรมของไทยไปยังประเทศเป้าหมาย การทำการตลาดให้กับสินค้าวัฒนธรรมไทยรวมถึงการสนับสนุนเงินทุนผลิตสินค้าและบริการวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ

ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าวัฒนธรรมส่วนใหญ่มาจากประเทศพัฒนาแล้วเพราะประเทศเหล่านี้สนับสนุนการเผยแพร่วัฒนธรรมอย่างจริงจัง เช่นสถาบันฝรั่งเศส (Alliance Francaise) สถาบันเกอเธ่ (The Goethe Institute)และ British Council มีบทบาทในการส่งเสริมศิลปะและวัฒนธรรมของตนในต่างประเทศโดยการสนับสนุนเงินทุน โครงสร้างพื้นฐาน เครือข่าย และข้อมูลให้แก่ศิลปินและผู้ทำงานด้านวัฒนธรรมของตนในต่างประเทศ

6.การพัฒนาบัญชีแสดงออกทางวัฒนธรรมประชาชาติ (Gross National Cultural Manifestation: GNCM) 

ผมเสนอว่า ควรมีการพัฒนาบัญชีการแสดงออกทางวัฒนธรรมประชาชาติ ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบข้อมูลสถิติด้านวัฒนธรรมที่เป็นมาตรฐานในระดับชาติ สามารถเชื่อมโยงกับระบบบัญชีประชาชาติมาตรฐาน เพื่อประโยชน์ในการติดตามสถานการณ์ด้านวัฒนธรรม การวิเคราะห์และคาดการณ์ผลกระทบของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาประเทศด้านต่างๆ และการกำหนดยุทธศาสตร์และนโยบายวัฒนธรรมของประเทศ

เนื่องด้วยการดำเนินนโยบายวัฒนธรรม เน้นการส่งเสริมวัฒนธรรมในเชิงคุณภาพ แต่ขาดการวัดในเชิงปริมาณ ขาดตัวชี้วัดทางวัฒนธรรมซึ่งอาจเป็นเพราะวัฒนธรรมยังไม่มีนิยามที่เป็นฉันทานุมัติเป็นสิ่งที่สังเกตและวัดได้ยากหลากหลายซับซ้อนและมีความเป็นนามธรรมสูงการจัดเก็บข้อมูลวัฒนธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบันยังกระจัดกระจาย ไม่มีมาตรฐานชัดเจนข้อมูลไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ไม่ต่อเนื่องการจัดเก็บข้อมูลมีจุดเน้นที่มุมมองด้านวัฒนธรรมแต่ยังขาดมุมมองด้านอื่นๆ ของการพัฒนาประเทศอีกทั้งข้อมูลบางส่วนไม่ได้เป็นการจัดเก็บในระดับชาติโดยหน่วยงานภาครัฐ

ประเทศไทยมีความโดดเด่นทางวัฒนธรรม ถ้าเราปรารถนาจะให้วัฒนธรรมไทยสร้างประโยชน์ให้กับประเทศในทุกมิติ และมีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรร่วมมือกันทำงานจริงจังจนเห็นความสำเร็จของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับข้อเสนอแนะในการสร้างวัฒนธรรมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างนวัตกรรม โปรดติดตามในบทความครั้งต่อไป

 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ