แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 4) : การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมของโลก


แหล่งที่มาของภาพ : http://s1.hubimg.com/u/5331416_f260.jpg

กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

หลังจากที่ผมได้นำเสนอแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านทรัพยากร โครงสร้างทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมของโลกปี ค.ศ.2050 ผ่านบทความทั้ง 3 ชิ้นที่ผ่านมา ยังคงมีอีกหลากหลายประเด็นที่ทุกคนควรรู้และให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างจริงจัง ทั้งนี้ประเด็นเรื่องสภาพแวดล้อมเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่เราควรให้ความสำคัญไม่ต่างไปจาก 3 ประเด็นข้างต้น ดังนั้น ในบทความฉบับนี้ ผมจึงอยากนำเสนอแนวโน้มโลกปี ค.ศ.2050 ในประเด็นเรื่อง การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลกว่าจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดและเราควรจะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างไร

โลกในปี ค.ศ.2050 มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมในเรื่องต่อไปนี้

1. น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลายเป็นวงกว้าง
ในปี ค.ศ.2050 แผ่นน้ำแข็งจำนวนมากที่เคยปกคลุมน่านน้ำแถบมหาสมุทรอาร์กติกจะละลายเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งจะเป็นผลดีในการทำให้เกิดเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศสายใหม่ ที่จะช่วยย่นระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางทะเลจากเอเชียไปยังชายฝั่งอีสต์โคสต์ (East Coast) ของสหรัฐฯ ได้มากกว่าในปัจจุบัน (Warmer climate to open new Arctic shipping routes by 2050 -study, 2013)


ทั้งนี้ ผลกระทบด้านลบสำหรับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คือ เกาะจำนวนมากมีแนวโน้มที่จะจมน้ำหายไป อาทิ หมู่เกาะในอินโดนีเซียที่กว่า 1,500 แห่ง จากทั้งหมดว่า 17,000 ถูกคาดการณ์ว่าอาจจะหายไปจากแผนที่โลก ซึ่งรวมถึงเมืองหลวงอย่างกรุงจาการ์ตาที่จะจมหายไปใต้ทะเลมากกว่า ร้อยละ 40 ของเมือง เป็นต้น (Zubaidah, 2014)

2. มลพิษทางอากาศรุนแรง
มลพิษทางอากาศที่มีมากยิ่งขึ้นในปี ค.ศ.2050 ส่งผลทำให้อัตราการตายก่อนวัยอันควร อันเกิดจากฝุ่นละอองในอากาศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของจำนวนประชากร ณ ปัจจุบัน คือ จากประชากร 1 ล้านคน เป็นเกือบ 3.6 ล้านคนต่อปี ทั้งนี้ 2 ประเทศที่จะมีประชาชนเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากที่สุดในปี ค.ศ.2050 คือ ประเทศจีน และ อินเดีย อันมีสาเหตุหลักมาจากจำนวนประชากรที่เข้าสู่วัยชรา (ทำให้อ่อนไหวกับสภาพอากาศ) และความเป็นเมือง (urbanization) ที่เพิ่มสูงขึ้น อันส่งผลทำให้อินเดีย และจีนมีความจำเป็นที่จะต้องปรับตัวและวางมาตรการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น หากต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน และเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชนภายในประเทศ (Christer, 2012)

3. ความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลกลดลง
ความหลากหลายทางชีวภาพบนบกทั่วโลก คาดว่าจะลดลงอีกร้อยละ 10 ในปี ค.ศ.2050 โดยความสูญเสียที่สำคัญนี้จะเกิดขึ้นทั่วโลกทั้งในทวีปเอเชีย ยุโรป และแอฟริกาตอนใต้ โดยพื้นที่ป่าไม้สมบูรณ์ทั่วโลก คาดว่าจะลดลง ร้อยละ 13

สิ่งสำคัญที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงอย่างต่อเนื่อง คือ การใช้ประโยชน์จากที่ดินของมนุษย์ที่เปลี่ยนแปลงไป คือ มนุษย์จะเน้นการปลูกพืชเชิงพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น เน้นการใช้ที่ดินเพื่อระบบโครงสร้างพื้นฐาน การบุกรุกที่ดินทางธรรมชาติที่มีมากยิ่งขึ้นเป็นต้น ทั้งนี้นอกจากประเด็นการใช้ที่ดินที่เปลี่ยนไป ปัจจัยด้านมลพิษ และสภาวะโลกร้อนเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลงเช่นกัน เหตุเพราะสภาวะโลกร้อนจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในปี ค.ศ.2050 รองลงมาคือ การปลูกพืชเชิงพาณิชย์ และการปลูกพืชพลังงานตามลำดับ

ทั้งนี้ การสูญเสียด้านความหลากหลายทางชีวภาพส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ห่างไกลความเจริญที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศน์ของโลก (Organization for Economic Cooperation and Development, 2012)

4. อุณหภูมิของโลกเพิ่มสูงขึ้นเกินกำหนด
เมื่อดูจากการคาดการณ์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกในปี ค.ศ.2050 พบว่า ปริมาณก๊าซเรือนกระจกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 50 จากปัจจุบัน ซึ่งอัตราการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่าร้อยละ 70 นี้จะเกิดขึ้นในภาคพลังงาน ทั้งนี้ ในอนาคต ปี 2050 ภาคการเกษตรจะเป็นภาคที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด (Organization for Economic Cooperation and Development, 2012)

องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development - OECD) ได้มีการคาดการณ์อุณหภูมิของโลกในปี ค.ศ.2050 ไว้ว่า อุณหภูมิโลกอาจจะเพิ่มสูงขึ้นกว่า 3 - 6 องศาเซลเซียส ซึ่งเกินเป้าที่ได้ตกลงกันไว้ในระดับระหว่างประเทศที่จำกัดให้เพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ หากทุกประเทศสามารถร่วมมือกันลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงจากปัจจุบัน อุณหภูมิโลกอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์เอาไว้

ดังนั้น จากแนวโน้มที่เราเห็นนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่ทุกประเทศควรให้ความสำคัญ และพัฒนาประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะมาถึง ซึ่งสำหรับประเทศไทยหากเราต้องการที่จะพัฒนาประเทศให้เป็นไปอย่างยั่งยืน และมีประสิทธิภาพ เราควรร่วมมือกันในการวางนโยบายประเทศให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึ้นในปี ค.ศ.2050 เช่น ประเทศไทยจะเตรียมตัวเพื่อใช้ประโยชน์จากการละลายของน้ำแข็งขั้วโลกที่จะทำให้เกิดเส้นทางการเดินเรือใหม่ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการขนส่งสินค้าทางทะเลจากเอเชียไปยังชายฝั่งอีสต์โคสต์ (East Coast) ของสหรัฐฯ ให้เต็มที่ได้อย่างไร

นอกจากนี้จะมีแนวทางในการลดมลภาวะทางอากาศที่เพิ่มขึ้นอย่างไร การวิจัยและพัฒนาด้านเกษตรกรรมภายในประเทศควรพัฒนาไปในทิศทางใดเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ รวมทั้งจะรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศที่มีแนวโน้มลดลงตามแนวโน้มของโลกได้อย่างไร เป็นต้น

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://the-elephant-in-the-r00m.weebly.com/uploads/3/0/1/6/30165377/3788629.jpg

Catagories: