คุณสมบัติของ ผู้ประกอบการ ที่ดี

ผู้เขียนอยากเห็นประเทศของเรามี ผู้ประกอบการ เพื่อสังคมเกิดขึ้นจำนวนมากจนเต็มแผ่นดิน โดยไม่ใช่ผู้ที่มาประกอบการเพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการทำงานเท่านั้น จึงเสนอคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดี 10 ประการ 

การประกอบการเพื่อไปให้ถึงความสำเร็จตามเป้าประสงค์แห่งพันธกิจที่ดีนั้น ผู้ประกอบการจะต้องมีคุณสมบัติที่ดี ที่ไม่ใช่การประกอบการเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น อย่างไรก็ดีผู้ประกอบการจำนวนมากยังเพียงมุ่งแสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองความมั่งคั่งแห่งตน จนเหลือส่วนที่จะนำไปช่วยเหลือสังคมได้เพียงส่วนน้อย

ผู้เขียนอยากเห็นประเทศของเรามี ผู้ประกอบการ เพื่อสังคม เกิดขึ้นจำนวนมากจนเต็มแผ่นดิน โดยไม่ใช่ผู้ที่มาประกอบการเพราะไม่มีทางเลือกอื่นในการทำงานเท่านั้น จึงเสนอคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่ดี 10 ประการ ดังนี้

1. มีภาระใจแรงกล้า ปรารถนาช่วยเหลือสังคม
ผู้ที่มีภาระใจมาก ย่อมมีความพยายามมาก ผู้ประกอบการที่มีหัวใจปรารถนาแก้ไขปัญหาของสังคม จะนำองค์กรเข้าไปประกอบการเพื่อแก้ไขปัญหาของสังคมอย่างจริงจัง แม้ต้องเผชิญอุปสรรค ก็ยังมุ่งมั่นอดทนเพียรพยายามหาวิธีการใหม่ๆ เพื่อไปสู่เป้าหมาย ทั้งนี้หากผู้ประกอบการแต่ละคนมีใจปรารถนาแก้ปัญหาบางมุมบางด้านในสังคม ก็จะช่วยลดปัญหาต่างๆ ในสังคมลงได้มาก

2. คิดดี คิดบวก เห็นโอกาส

การคิดดี เป็นคุณสมบัติของการมีจิตสำนึกแห่งตัวตนที่ดี สะท้อนออกมาเป็นจิตสำนึกรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม รวมถึงมีส่วนรับผิดชอบต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือการสร้างคน

โดยปรารถนาให้คนในสังคมได้รับสิ่งที่ดี และพัฒนาสังคมให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน คนในสังคมดำเนินชีวิตด้วยยึดมั่นในคุณธรรมจริยธรรม อันจะช่วยให้ปัญหาต่างๆ จากความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในสังคมลดลงได้

การคิดแง่บวก จะทำให้เกิดความพยายามหาทาง “คิดนอกกรอบ” เพื่อให้ตนสามารถทำได้ พลังของความคิดแง่บวกจะนำไปสู่การคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ที่ดีกว่าเดิมเสมอ ไม่กลัวการเผชิญความยุ่งยาก ปัญหาซับซ้อน คลุมเครือ และความจำกัดต่างๆ

ผู้ที่คิดแง่บวกมักเห็นคุณค่าและสนุกกับการคิดต่อยอดจากสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเป็นไปไม่ได้ และสามารถพูดให้กำลังใจทีมงานจนเกิดความเชื่อมั่นว่าสามารถทำได้แน่

การเห็นโอกาส คือ ความตื่นตัวในการแสวงหาและฉวยโอกาสในทางที่ดี สามารถนำสิ่งต่างๆ ทั้งที่มีประโยชน์และอาจดูเหมือนไม่มีประโยชน์มาใช้ประโยชน์ได้ เพื่อทำให้ความปรารถนาและแนวคิดการประกอบการที่ดีนั้น ปรากฏเป็นความจริงได้

ดังตัวอย่าง Elijah Djan ชาวแอฟริกาใต้ที่มองเห็นโอกาสจากการนำขยะมาทำประโยชน์เพื่อคนยากไร้

ตัวอย่าง Nubrix อิฐจากกระดาษ เพื่อคนยากไร้ โดย Elijah Djan ชาวแอฟริกาใต้ 

 

3. การนำเชิงยุทธศาสตร์
ผู้ประกอบการต้องมีทักษะการคิดเชิงยุทธศาสตร์ เป็นนักสร้างวิสัยทัศน์เชิงยุทธศาสตร์ ที่ทำให้ทีมงานเห็นภาพชัดเจนถึงยุทธวิธีหลักที่จะดำเนินการร่วมกันสู่เป้าหมายความสำเร็จ และมีดุลพินิจที่ดีในการตัดสินใจชั่งน้ำหนักทางยุทธศาสตร์ได้ว่า ควรเลือกทางเลือกทางยุทธศาสตร์อย่างไร จึงจะทำให้พันธกิจไปถึงเป้าหมายความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิสภาพสูงสุด

4. ความรู้กว้าง รู้ลึก รู้ไกล
รู้กว้าง หมายถึง รู้สภาพแวดล้อมภายนอก ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ที่เข้ามากระทบต่อพันธกิจขององค์กร อาทิ

1) ภาวะเศรษฐกิจภาพรวมโลก ประเทศ และเฉพาะบางภาคอุตสาหกรรม

2) ทรัพยากรการผลิตที่ขาดแคลนซึ่งส่งผลให้การประกอบการมีต้นทุนสูง

3) เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่อาจนำมาใช้กับพันธกิจทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิสภาพมากขึ้น

4) วัฒนธรรมของสังคมซึ่งส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต และอาจเชื่อมโยงไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคสินค้าและบริการ และ 5) นโยบาย กฎหมาย กฎระเบียบ จริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจสนับสนุนการประกอบการหรือสร้างเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบการได้

รู้ลึก หมายถึง การรู้จริงในพันธกิจขององค์กร และรู้จักกลุ่มเป้าหมายและคู่แข่งเป็นอย่างดี เช่น พฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมายหรือพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และรู้เทคโนโลยีที่เป็นจุดเด่นหรือจุดแข็งของคู่แข่งเป็นอย่างดี เป็นต้น

รู้ไกล หมายถึง ความรู้ถึงแนวโน้มอนาคตและการเปลี่ยนแปลงของโลก ตลอดจนปัจจัยที่เชื่อมโยงหรือเกี่ยวข้องกับพันธกิจองค์กร เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของความต้องการของตลาด และสิ่งท้าทายใหม่ๆ ที่มีโอกาสเข้ามากระทบพันธกิจขององค์กรได้ในอนาคต

5. ความเชี่ยวชาญในพันธกิจ
ผู้ประกอบการต้องพัฒนาองค์กรไปสู่ความเชี่ยวชาญในพันธกิจให้นำหน้าคู่แข่งอยู่เสมอ รวมถึงการพัฒนาด้านภาพลักษณ์ขององค์กรให้ได้รับการยอมรับถึงความเป็นมืออาชีพในด้านนั้นๆ โดยเฉพาะในช่วงก่อตั้งองค์กรใหม่ตามพันธกิจ ซึ่งยังไม่มีต้นทุนด้านชื่อเสียง หากผู้ประกอบการหรือบุคลากรขาดความเชี่ยวชาญในพันธกิจ จะทำให้โอกาสก่อตั้งให้สำเร็จเป็นไปได้ยาก

ตัวอย่างความเชี่ยวชาญในพันธกิจ อาทิ การจัดกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิสภาพ การมีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับระดับสากล ความสามารถทางการตลาด การกำหนดกลยุทธ์เพื่อสร้างความแตกต่าง การเจรจาต่อรอง เพื่อที่จะทำให้องค์กรมีขีดความสามารถในการแข่งขัน

6. วุฒิภาวะการทำงานเป็นทีม
ผู้ประกอบการต้องสามารถสื่อสารพูดคุย ประสานงานกับคนทุกระดับในองค์กรได้เป็นอย่างดี รู้และเข้าใจในจุดแข็ง จุดเด่นของคนในทีม สามารถป้องกันไม่ให้จุดอ่อนของคนในองค์กรสร้างปัญหาต่อการทำงานเป็นทีม และสามารถแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยสามารถนำไปสู่การขัดเกลาให้เกิดการพัฒนา ทั้งต่อบุคลากรและกระบวนการทำงานขององค์กรได้

ฉะนั้น ผู้ประกอบการจึงไม่ใช่การเป็นผู้ประกอบการสำเร็จรูป แต่เป็นผู้ประกอบการที่เข้าใจความคิดและจิตใจของคนในทีม และสามารถผสานใจคนให้มาร่วมเป็นทีมงานกันได้อย่างลงตัว

7. ความสามารถนำความรู้และประสบการณ์มาประยุกต์ใช้
ผู้ประกอบการต้องสามารถนำความรู้ ทักษะความเชี่ยวชาญของตนและทีมงานมาประยุกต์ใช้เพื่อตอบโจทย์พันธกิจขององค์กรได้ โดยเฉพาะในบริบทสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ทำให้เกิดความท้าทายหรืออุปสรรคใหม่ๆ และนำไปสู่โจทย์ใหม่ที่องค์กรต้องปรับตัว

8. ความสามารถจัดการทางการเงิน
ผู้ประกอบการต้องมีความสามารถในการระดมทุนเพื่อจัดตั้งองค์กรและการดำเนินกิจการ รวมทั้งความสามารถจัดการทรัพยากรเพื่อให้องค์กรสามารถดำเนินงานอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน อาทิ การบริหารรายรับ-รายจ่ายจากการดำเนินพันธกิจ การจัดการความเสี่ยงทางการเงินไม่ให้ขาดสภาพคล่อง การจัดหาเงินกู้และการจัดการหนี้สิน และการจัดหาเงินทุนให้เพียงพอสำหรับการขยายกิจการต่อไปได้

9. ความสามารถควบคุมและตรวจสอบ
ทั้งการตรวจสอบเชิงปริมาณของเนื้องาน คุณภาพที่ตรงตามข้อกำหนด (specification) และทันเวลาตามความต้องการลูกค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดำเนินการวางระบบสายพานการผลิตที่มีประสิทธิภาพ การจัดสรรกำลังคนและเครื่องจักรสำหรับการผลิต การจัดการผลเสียจากความผิดพลาดของมนุษย์ (human error) และมีระบบการควบคุมคุณภาพ

ซึ่งมีกระบวนการตรวจสอบสินค้าในระหว่างการผลิตทุกขั้นตอน ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดก่อนส่งมอบแก่ลูกค้า นอกจากนี้ ผู้ประกอบการอาจต้องเตรียมแผนสำรอง หากเผชิญกับสถานการณ์วิกฤตที่อยู่นอกเหนือการควบคุมและการตรวจสอบ และเป็นความเสี่ยงที่มิได้มีการประเมินไว้ก่อน

10. ความสามารถสร้างทีม ขยายทีมได้
ผู้ประกอบการต้องสามารถสร้างทีมงานและขยายทีมงานเพื่อการขับเคลื่อนภารกิจที่สำคัญๆ ได้ครบถ้วนตามพันธกิจองค์กร ทั้งนี้ การสร้างทีมให้สำเร็จอย่างแท้จริงนั้น ทีมงานจะต้องสามารถสร้างทีมงานต่อไปได้ด้วย ซึ่งไม่ใช่เพียงมีความสามารถในการบริหารจัดการงานเท่านั้น แต่ผู้ประกอบการต้องสามารถจูงใจและเคลื่อนใจคนให้ร่วมหัวจมท้ายกับพันธกิจขององค์กรได้ด้วย

การรักษาคนไว้กับพันธกิจและการสร้างทีมงานที่มีหัวใจแห่งพันธกิจนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องท้าทายที่ผู้ประกอบการจะต้องพัฒนาตนให้มีคุณสมบัติที่ดีพร้อม เพื่อจะนำและบริหารจัดการองค์กรแห่งพันธกิจให้ดำเนินไปได้อย่างยั่งยืน 

 

แหล่งที่มา : cioworldbusiness.com
10 มีนาคม 2565 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando

แหล่งที่มาของภาพ : http://www.cioworldbusiness.com/wp-content/uploads/2022/03/SME-5-750x450.jpeg