พ.ศ.2561 คนจนหมดประเทศ: เป็นไปได้หรือไม่? ต้องทำอย่างไร?

เมื่อไม่นานมานี้ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาแห่งปีTHAILAND 2018 จุดเปลี่ยนและความท้าทาย โดยมีเนื้อหาสำคัญ คือ ปี 2018 จะเป็นปีที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ยุครุ่งเรืองและจะใช้โอกาสที่มีอยู่เร่งแก้ไขปัญหาความยากจน โดยตั้งเป้าว่าคนไทยทุกคนที่ยังยากจนอยู่จะต้องหายจนให้ได้ในปีหน้า
 
และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว ภาครัฐมีแผนที่จะหาทางนำเงินงบประมาณที่จัดเก็บจากท้องถิ่นราว 2 แสนล้านบาทไปจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อนำไปทำโครงการพัฒนาท้องถิ่น ทำให้เกิดการจ้างงาน พัฒนาวิสาหกิจชุมชนและดูแลผู้สูงอายุ พร้อมทั้งกระตุ้นการท่องเที่ยวสู่ภูมิภาค เพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน โดยให้นำค่าใช้จ่ายจาการท่องเที่ยวท้องถิ่นมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท เป็นต้น
 
คำประกาศดังกล่าวถือเป็นความท้าทายและทำให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวางว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่คนยากจนจะหมดไปในปีหน้าและจะเป็นไปได้อย่างไร ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วผมมีความคิดเห็นในเรื่องดังนี้
 
1. เป็นไปได้หรือไม่ที่คนยากจนจะหมดจากประเทศไทยในปี พ.ศ. 2561?
 
จากข้อมูลล่าสุด (พ.ศ. 2559) ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คนยากจนในประเทศไทยมีจำนวน 5.8 ล้านคน การทำให้คนยากจนหมดไปในปี พ.ศ. 2561 ผมคิดว่า “เป็นไปไม่ได้” เนื่องจาก
 
จำนวนคนจนเมื่อวัดด้านรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค จำแนกตามภาคและพื้นที่ ปี พ.ศ. 2531-2559 รายปี
 
1) พิจารณาจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2531–2559 ยังไม่เคยมีรัฐบาลใดที่สามารถลดจำนวนคนยากจนได้ 5.8 ล้านคนในปีเดียวมาก่อน ค่าเฉลี่ยของจำนวนคนยากจนที่ลดลง นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2531–2559 อยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านคนต่อปีเท่านั้น โดยช่วงที่คนยากจนลดลงมากที่สุดและเร็วที่สุด คือ ช่วงปี พ.ศ. 2543-2545 คนยากจนลดลงจาก 25.8 ล้านคน เหลือ 19.9 ล้านคน หรือ ลดลง 5.9 ล้านคนใน 2 ปี ซึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระดับรายได้ของคนไทยขยายตัวมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจมีเสถียรภาพ อัตราเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจึงเป็นเหตุให้คนยากจนลดลงอย่างรวดเร็ว1
 
2) พิจารณาจากนโยบายที่จะดำเนินการ แน่นอนว่าการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นต้องอาศัยมาตรการจำนวนมาก ไม่สามารถพึ่งบางมาตรการบางนโยบายได้ นอกจากนี้เราอาจยังไม่สามารถตัดสินจากนโยบายจำนวนเล็กน้อยที่เห็นในสื่อได้ว่านโยบายเหล่านี้จะช่วยทำให้คนจนหมดประเทศในปี พ.ศ. 2561 ได้หรือไม่ แต่หากว่ารัฐไม่มีมาตรการเพิ่มเติม หรือแนวคิดในการดำเนินนโยบายยังเป็นลักษณะเดิมผมคิดว่าคงไม่สามารถทำให้คนยากจนหมดไปจากประเทศได้ เนื่องจาก นโยบายที่ออกมานั้นเป็นนโยบายที่ “พึ่งพารัฐเป็นหลัก” (นำเงินงบประมาณที่จัดเก็บจากท้องถิ่นไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทำโครงการ) ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะงบประมาณภาครัฐนั้นมีจำกัดและมีความล่าช้าในกระบวนการไม่ว่าจะเป็นการเบิกจ่ายและการดำเนินโครงการ นอกจากนี้ยังเป็นนโยบายที่ “พึ่งพาภายในประเทศเป็นหลัก” (ค่าใช้จ่ายจากการท่องเที่ยวท้องถิ่นมาหักลดหย่อนภาษีได้ 1.5 หมื่นบาท) ซึ่งมีแรงขับเคลื่อนไม่เพียงพอที่จะทำให้คนยากจนหมดไป เพราะเศรษฐกิจที่เติบโตในขณะนี้เป็นผลจาการเติบโตของการส่งออกเป็นหลัก ขณะที่กำลังซื้อในประเทศนั้นยังชะลอตัว เห็นได้จากภาคเกษตรที่รายได้หดตัว และการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตํ่ากว่าเป้า เป็นต้น
 
2. จะมีแนวทางอย่างไรทำให้คนยากจนหมดประเทศไทย?
 
คนยากจนอาจจะไม่หมดไปในปี พ.ศ. 2561 แต่ภาครัฐสามารถทำให้คนยากจนลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่ผ่านมาได้หากดำเนินนโยบายที่ถูกต้องเหมาะสม ซึ่งที่ผ่านมาผมได้เสนอแนะแนวทางไว้จำนวนมาก เช่น
 
2.1 ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ 200 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) (อ่านข้อเสนอเรื่องการดึงดูดนักท่องเที่ยวของผมเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเพื่อการสร้างชาติ” ในกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ วันที่ 2 พ.ค. 2560 - http://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/641108)
 
นโยบายการท่องเที่ยวที่จะช่วยให้คนไทยพ้นจนต้องเป็นนโยบายที่เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศไม่ใช่ในประเทศดังที่ภาครัฐวางแผนจะทำ ผมเชื่อว่าการส่งเสริมการท่องเที่ยวจากต่างประเทศเป็นวิธีที่เป็นไปได้มากที่สุดที่จะทำให้ประเทศเป็นประเทศรายได้สูงในระยะสั้นและระยะปานกลาง เนื่องจาก
 
1) ประเทศไทยยังไม่สามารถผลิตนวัตกรรมที่มูลค่าเพิ่มสูงได้ทันทีในระยะสั้นเพราะโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรยังไม่มีคุณภาพเพียงพอ การนำงานวิจัยไปใช้เชิงพาณิชย์ยังอยู่ในระดับตํ่า เป็นต้น
 
2) ที่ผ่านมาหลายประเทศใช้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือในการผลักดันประเทศเป็นประเทศรายได้สูง เช่น ไซปรัส รายได้จากการท่องเที่ยวตํ่าสุดประมาณร้อยละ 2.1 ต่อจีดีพี ในปี พ.ศ. 2518 เป็นร้อยละ 23.4 ในปี พ.ศ. 2533 หรือ อุรุกวัยที่ภาคการท่องเที่ยวสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ ร้อยละ 12.76 ของจีดีพีในช่วงปี พ.ศ. 2543-2549 และเพิ่มเป็นเฉลี่ยอยูที่รอ้ ยละ 15.04 ของจีดีพีในชว่ งป ี พ.ศ. 2550-2557 เป็นต้น
 
2.2 พัฒนากลไกการกระจายความมั่งคั่ง (Redistribution)
 
แทนที่จะพึ่งพาทรัพยากรของรัฐเป็นหลัก รัฐต้องหาแนวทางในการนำทรัพยากรของเอกชนหรือคนที่มีความมั่งคั่งมากระจายให้กับสังคมมากขึ้น เช่น
 
1) ส่งเสริมให้คนรวยลงทุนทางสังคม ทั้งการลงทุนโดยตรง เช่น การจัดตั้ง SE, การจัดตั้งมูลนิธิ, การทำ CSR หรือ การลงทุนผ่านตลาดหรือกองทุน เช่น การระดมทุนผ่าน social investment fund เป็นต้น
 
2) มอบหมายภารกิจให้คนรวยหรือบริษัทแต่ละแห่งช่วยรับผิดชอบการแก้ปัญหาสังคมอยา่ งเฉพาะเจาะจง เชน่ การมอบหมายใหบ้ ริษัทจับคูกั่บโรงเรียน เพื่อชว่ ยพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระยะยาว จนมีสัมฤทธิผลทางการศึกษาที่ดีขึ้น การสร้างค่านิยมหรือแรงกดดันทางสังคม เพื่อให้คนรวยบริจาคเงินมากขึ้น
 
โครงสร้างเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศ จำแนกตามระดับรายได้ ปี 2555
3) สร้าง “ความฝันของประเทศไทย” (Thailand Dream) โดยการขจัดระบบอุปถัมภ์ที่ไม่ดี และระบบเส้นสาย เปิดโอกาสให้ทุกคนที่เก่ง ขยัน มุมานะประสบความสำเร็จได้ เนื่องจากมีโอกาสที่เท่าเทียม ทั้งในด้านการศึกษา การเงิน การประกอบอาชีพ
 
2.3 ปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจบริการ
 
ยิ่งประเทศรายได้สูงขึ้น ภาคเกษตรจะมีขนาดเล็กลงแต่ภาคบริการขนาดใหญ่ขึ้น ประเทศรายได้สูง มีภาคเกษตรในสัดส่วนเพียง ร้อยละ 1 ของจีดีพี มีแรงงานภาคเกษตรร้อยละ 3.71 ของกำลังแรงงานและมีภาคบริการขนาดใหญ่ร้อยละ 74 ของจีดีพี แต่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ภาคเศรษฐกิจที่มีมูลค่าเพิ่มตํ่ามีขนาดใหญ่ร้อยละ 6.7 ของจีดีพี (2558) แรงงานภาคเกษตรมากถึงร้อยละ 32 ของกำลังแรงงาน และภาคบริการมีสัดส่วนร้อยละ 65.2% ของจีดีพี แนวทางสำคัญในการปรับโครงสร้างสู่เศรษฐกิจบริการ เช่น
 
1) เปิดเสรีภาคบริการ เนื่องจากบริการหลายสาขายังมีการปกป้องสูง
 
2) ย้ายแรงงานออกจากภาคเกษตร โดยลดการอุ้มและแทรกแซงราคาสินค้าเกษตร ลดการแจกที่ดิน สปก.ให้คนยากจน ให้โอกาสทำอาชีพที่ความเสี่ยงตํ่า ซึ่งจะมีโอกาสพ้นความยากจนได้ เช่น แจกกรรมสิทธิ์แผงค้าในตลาด แจกเสื้อวินมอเตอร์ไซค์ หรือเพิ่มรายได้จากนอกภาคเกษตรให้กับเกษตรกร เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร หรือ ส่งเสริมกิจกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร เชื่อมต่อจากการทำฟาร์มเกษตร เป็นต้น
 
นี่เป็นเพียงนโยบายบางส่วนที่ผมได้เคยเสนอไว้ภาครัฐอาจนำไปประยุกต์ใช้ในการกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขความยากจนในประเทศไทย ผมเชื่อว่าหากเราสามารถต่อยอดนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจนที่ดีการจะทำให้คนยากจนในประเทศไทยหมดไปในเร็ววันคงไม่เกินกำลังที่เราจะทำได้ครับ
 
 
 
 
 1วันรักษ์ มิ่งมณีนาคิน. (2548). นโยบายประชาสินบนกับการแก้ปัญหาความยากจนไม่ใช่เรื่องเดียวกัน. ค้นจาก https://www.gotoknow.org/posts/300878.
 
 
ที่มา: mixmagazine
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
 
 
แหล่งที่มาของภาพ :
http://www.mixmagazine.in.th/media/images/content/thumb_20180117175651.png
http://www.mixmagazine.in.th/media/images/upload/images/134/94_2.jpg
http://www.mixmagazine.in.th/media/images/upload/images/134/94_3.jpg