ฮาร์วาร์ดเปิดประตูการเรียนรู้สู่เด็กนักเรียนท้องถิ่น

     หลายบทความก่อนนี้ ผมเคยนำเสนอเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของฮาร์วาร์ด อันมีผลนำการพัฒนาและความเจริญก้าวหน้ามาสู่ชุมชนท้องถิ่น อาทิ ด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา วัฒนธรรม สุขภาพ ศิลปะ เป็นต้น การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นเป็นภารกิจสำคัญที่ผู้บริหารฮาร์วาร์ดต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างจริงจัง อันสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมของฮาร์วาร์ดด้วยอีกทางหนึ่ง 

     การมีส่วนร่วมพัฒนาชุมชนท้องถิ่นของฮาร์วาร์ดดังกล่าวนี้รวมถึงการให้บริการเสริมสร้างศักยภาพให้กลุ่มเด็กนักเรียนท้องถิ่น โดยฮาร์วาร์ดจะเป็นดังขุมทรัพย์ที่เปิดให้เด็กนักเรียนท้องถิ่นเข้ามาเรียนรู้ แสวงหา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของมหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยเตรียมความพร้อมให้เด็กนักเรียนท้องถิ่นก่อนเข้าสู่ชีวิตการทำงานและการศึกษาในระดับที่สูงขึ้นต่อไป 
     กิจกรรมการให้บริการแก่เด็กนักเรียนท้องถิ่นของฮาร์วาร์ดได้รับความสนใจอย่างมาก แต่ละปีมีเด็กนักเรียนท้องถิ่นเข้าใช้บริการดังกล่าวนี้ เป็นจำนวนมาก อาทิ กิจกรรมการจ้างงานช่วงฤดูร้อน กิจกรรมการให้คำแนะนำปรึกษาด้านการเรียน กิจกรรมพาท่องเที่ยวเยี่ยมชมมหาวิทยาลัย เป็นต้น
กิจกรรมที่ฮาร์วาร์ดให้บริการแก่กลุ่มเด็กนักเรียนท้องถิ่นมีหลายกิจกรรม ผมวิเคราะห์ว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นประโยชน์ช่วยเสริมสร้างศักยภาพและการเรียนรู้ให้แก่เด็กนักเรียนท้องถิ่น ดังนี้  
     เสริมสร้างประสบการณ์นอกห้องเรียน การเพียงแต่ศึกษาเรียนรู้ภายในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอสำหรับโลกยุคปัจจุบันและอนาคต จำเป็นต้องเพิ่มเติมประสบการณ์หลากหลาย กว้างขวาง และรอบด้านมากยิ่งขึ้น กิจกรรมการให้บริการแก่เด็กนักเรียนท้องถิ่นของฮาร์วาร์ด เป็นประตูแห่งโอกาสที่เปิดให้แก่เด็กนักเรียนท้องถิ่นเข้ามาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ซึ่งหาไม่ได้จากในชั้นเรียน อาทิ กิจกรรมการท่องเที่ยวเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์และสถานที่สำคัญของฮาร์วาร์ด นอกจากเด็กนักเรียนท้องถิ่นจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้ว ยังได้รับสาระความรู้และเรียนรู้บรรยากาศการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาด้วยอีกทางหนึ่ง 
     พัฒนาสู่การค้นพบตนเอง กิจกรรมของฮาร์วาร์ดหลายกิจกรรม ช่วยให้เด็กนักเรียนท้องถิ่นได้เรียนรู้ค้นพบตนเอง รู้ถึงศักยภาพ ความสนใจ และความถนัดของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับรุ่นพี่นักศึกษาฮาร์วาร์ดร่วมกับพ่อแม่ผู้ปกครอง เพื่อวางแผนการเรียนต่อมหาวิทยาลัยและการทำงานในอนาคต เป็นประโยชน์ต่อเด็กนักเรียนท้องถิ่นในการตัดสินใจเลือกเส้นทางด้านการศึกษา การทำงานและการใช้ชีวิตในอนาคตของตน 
     เพิ่มโอกาสการมีงานทำ ผ่านกิจกรรมการจ้างงาน เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนท้องถิ่นได้รับการฝึกฝนพัฒนาทักษะและลักษณะชีวิตที่สำคัญต่อการปฏิบัติงาน อาทิ ทักษะการบริหารจัดการ ทักษะการแก้ปัญหา การมีความอดทน การมีความรับผิดชอบ เป็นต้น กิจกรรมการจ้างงานดังกล่าวนี้เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการทดลองแห่งชีวิตที่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนท้องถิ่นได้เรียนรู้เตรียมพร้อมก่อนก้าวสู่โลกการทำงานจริงในอนาคต
     กิจกรรมที่ฮาร์วาร์ดให้บริการแก่กลุ่มเด็กนักเรียนท้องถิ่นดังกล่าว นับว่ามีส่วนสำคัญในการช่วยเตรียมเด็กนักเรียนท้องถิ่นให้พร้อมสำหรับการเรียนต่อและการเข้าสู่โลกของการทำงานในอนาคต ช่วยเพิ่มโอกาสการมีงานทำและเพิ่มเติมประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนอันทรงคุณค่าให้แก่เด็กนักเรียนท้องถิ่นเหล่านี้ในอีกทางหนึ่ง 
     ประยุกต์สู่มหาวิทยาลัยไทย
     ปัจจุบันเด็กนักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยเรายังประสบปัญหาอยู่หลายประการ อาทิ การขาดความรู้ถึงความถนัด ความต้องการของตนเอง และทิศทางความต้องการกำลังแรงงานของประเทศ เป็นสาเหตุนำสู่ปัญหาแรงงานล้นตลาด ว่างงาน กำลังแรงงานขาดและเกินบางสาขา จบออกมาทำงานไม่ตรงสาขา ฯลฯ 
     ผมเห็นว่า มหาวิทยาลัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีส่วนร่วมจัดการปัญหาความท้าทายดังกล่าวนี้ อาทิ
     วัดความถนัดและศักยภาพของผู้เรียนทุกระดับตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย เพื่อให้ผู้เรียนรู้ความถนัด ศักยภาพ และความต้องการของตนเอง เป็นประโยชน์ต่อการเลือกตัดสินใจเรียนต่อหรือทำงานในอนาคต ลดปัญหาความสูญเปล่าที่จะเกิดขึ้นในระบบการศึกษา อันเนื่องมาจากการทำงานไม่ตรงสาขา หรือการอยู่ในภาวะว่างงานของบัณฑิต 
     มหาวิทยาลัยทุกแห่งทำวิจัยระยะยาวคาดการณ์ความต้องการกำลังแรงงานแต่ละสาขาทุก 5 - 10 ปี พร้อมกับประเมินความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการรองรับกลุ่มผู้เรียนดังกล่าวเหล่านี้ เพื่อเป็นฐานการพิจารณารับเด็กนักเรียนเข้าเรียนต่อ 
     พัฒนาบรรยากาศภายในมหาวิทยาลัยให้มีส่วนเสริมสร้างศักยภาพให้แก่เด็กนักเรียนในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม อาทิ การเปิดโอกาสหรือพัฒนาช่องทางใหม่ ๆ ให้เด็กนักเรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรมกับมหาวิทยาลัย เพื่อเรียนรู้บรรยากาศและรับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ทางด้านการเรียน 
     ผมเห็นว่า แนวทางต่าง ๆ เหล่านี้จะไม่เป็นประโยชน์เฉพาะต่อตัวเด็กนักเรียนเองเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการศึกษาและประเทศชาติสังคมในระยะยาวด้วยอีกทางหนึ่งครับ

 

ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 63 ฉบับที่ 35 วันที่ ศุกร์ 13 - พฤหัสบดี 19 พฤษภาคม 2559


ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com
หล่งมาของภาพ