เหตุแห่งความขัดแย้ง

ความขัดแย้ง การที่จะจัดการกับความขัดแย้งให้ได้ดีนั้น จำเป็นต้องเข้าใจถึงสาเหตุ เพื่อให้เราสามารถจัดการแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดตรงประเด็น มิฉะนั้น เราอาจจัดการแก้ปัญหาที่ผิด และทำให้ปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริงไม่ได้รับการแก้ไข
คริสโตเฟอร์ มอร์ (Christopher Moore) ได้วิเคราะห์สาเหตุของความขัดแย้งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไป แบ่งออกเป็น 5 สาเหตุ อันได้แก่
ความขัดแย้งด้านข้อมูลข่าวสาร ความขัดแย้งอาจเกิดจากข้อมูลมากหรือน้อยเกินไป ทำให้ความเข้าใจคลาดเคลื่อน การตีความผิดพลาด หรืออาจเกิดจากการสื่อสารที่คลาดเคลื่อน หรือสื่อสารในเวลาที่ไม่เหมาะสม สื่อสารกับบุคคลที่ไม่เหมาะสม จนกลายเป็นความเข้าใจผิด ความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในการสื่อสาร ย่อมส่งผลให้เกิดความขัดแย้งได้
ความขัดแย้งด้านผลประโยชน์ พื้นฐานโดยธรรมชาติของมนุษย์ล้วนต้องการได้รับสิ่งดี ปรารถนาเลือกสรรแต่สิ่งดีเพื่อตนเอง เมื่อใดที่ตนเองต้องสูญเสียผลประโยชน์ ย่อมเกิดความไม่พอใจ ความขัดแย้งในเรื่องผลประโยชน์จึงเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดและเกิดขึ้นในสังคมทั่วไปทุกระดับ ความขัดแย้งที่เกิดจากการสูญเสียผลประโยชน์อาจนำไปสู่การแบ่งพรรคแบ่งพวก ความแตกแยกขาดสามัคคีในองค์กรและในประเทศ ผู้บริหารต้องสามารถประสานประโยชน์ให้ลงตัวได้
ความขัดแย้งด้านความสัมพันธ์ คนเราแต่ละคนล้วนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกันออกไป แต่ละคนมี ldquo;เอกลักษณ์rdquo; แตกต่างกัน ส่งผลให้การแสดงออก และการทำความเข้าใจผู้อื่นแตกต่างกัน จนอาจกลายเป็นความขัดแย้งได้ อาทิ คนที่เติบโตในบริบทของสังคมประชาธิปไตยย่อมมีนิสัยเคารพสิทธิและให้เกียรติผู้อื่น ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ชอบให้ใครมาละเมิดสิทธิส่วนตัวหรือใช้อำนาจบังคับ จึงมักขัดแย้ง หากต้องทำงานร่วมกับคนที่เติบโตมาในบริบทสังคมอำนาจนิยม มักชอบออกคำสั่ง ชอบให้คนเชื่อฟัง ไม่ชอบการโต้เถียงด้วยเหตุผล และมักไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง จึงมักทำงานร่วมกันอย่างยากลำบาก
ความขัดแย้งด้านค่านิยม แต่ละคนล้วนมีระบบความเชื่อ ความแตกต่างในค่านิยม ขนบประเพณี ประวัติ การเลี้ยงดู ส่งผลให้แต่ละคนหรือกลุ่มมีค่านิยมที่แตกต่างกัน หากต้องทำงานร่วมกับคนที่มีค่านิยมแตกต่าง อย่างปราศจากความเข้าใจ อาจเป็นเหตุให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นได้ จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในความแตกต่างและยอมรับก่อนจึงทำงานร่วมกันได้อย่างมีเอกภาพ
ความขัดแย้งด้านโครงสร้าง โครงสร้างในที่นี้เป็นเรื่องของอำนาจ อาทิ การแย่งชิงอำนาจ การใช้อำนาจ การกระจายอำนาจ และปัญหาโครงสร้างรวมไปถึง กฎ ระเบียบ บทบาท อีกทั้งเชื่อมโยงไปถึงเรื่องต่าง ๆ อาทิ การปฏิบัติอย่างยุติธรรมหรือไม่? การใช้อำนาจแบบมีส่วนร่วมหรือไม่? การยอมรับการเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่? สิ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งได้เสมอ
การแยกแยะความขัดแย้งออกไปแต่ละชนิดช่วยให้เห็นความชัดเจนของความขัดแย้งว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขที่ถูกต้อง มอร์วิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งในแต่ละเรื่อง อาจเกิดจากสาเหตุเดียวหรือหลายสาเหตุผสมกัน และความขัดแย้งด้านข้อมูลข่าวสาร ด้านผลประโยชน์ และด้านความสัมพันธ์ มีแนวโน้มจะเจรจาได้ง่ายกว่าความขัดแย้งที่สัมพันธ์กับค่านิยมและโครงสร้าง
นักบริหารที่มีประสิทธิผล มิใช่ผู้ที่พยายามกำจัดความขัดแย้งให้หมดไป หากแต่เป็นผู้ที่มีความเข้าใจสาเหตุของความขัดแย้งในแต่ละกรณีอย่างกระจ่างแจ้ง และสามารถบริหารจัดการความขัดแย้งจนแปรเปลี่ยนความขัดแย้งเป็นพลังสร้างสรรค์องค์กรให้ก้าวหน้าต่อไปได้
admin
เผยแพร่: 
งานวันนี้
เมื่อ: 
2008-05-20