การเปลี่ยนแปลงด้านการวิจัยและการพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในอนาคต
กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ผมได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษในงาน International Conference on Arts and Science 2014จัดโดย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยผู้ฟังประกอบด้วยอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัย และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในการบรรยายครั้งนี้ ผมได้อธิบายถึงการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีลักษณะที่สำคัญหลายประการ เช่น
- เศรษฐกิจในประเทศอาเซียนที่มีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม
- การรวมเป็นเศรษฐกิจเดียวที่มีการเคลื่อนย้าย สินค้า บริการ การลงทุน เงินทุน และแรงงานเป็นไปอย่างเสรีมากขึ้น
- การลงทุนจากต่างชาติที่จะไหลเข้ามายังประเทศหลายประเทศในอาเซียน ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจจากภาคเกษตรกรรมให้เป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น
- มาตรฐานด้านต่างๆ จะได้รับการยกระดับให้เป็นมาตรฐานระดับสากลมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรฐานด้านคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า เป็นต้น
ทั้งนี้ จากปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงในประเทศอาเซียนที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญด้านการวิจัยและการพัฒนาของอาเซียนอย่างน้อย 3 ประการดังนี้
1) การขยายตัวแบบก้าวกระโดดด้านการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีการลุงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น เนื่องด้วยสาเหตุหลายประการ
ประการแรก คือ การขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วของภูมิภาคนี้ จะทำให้รัฐบาลประเทศสมาชิกอาเซียนสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลสามารถนำเงินที่มาจากภาษีของประชาชนมาใช้ในการลงทุนการวิจัยและพัฒนาได้มากขึ้น
ประการที่สอง ความต้องการในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นเศรษฐกิจรายได้ปานกลาง (middle income economy) มีความจำเป็นจะต้องลงทุนด้านวิจัยและพัฒนามากยิ่งขึ้น
ประการที่สาม ราคาปัจจัยการผลิตและราคาพลังงานที่จะเพิ่มสูงขึ้น และข้อตกลงด้านมาตรฐานสินค้าและบริการ ส่งผลทำให้ประเทศต่างๆ มีความจำเป็นต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา เพื่อยกระดับการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการเป็นไปตามมาตรฐานสากล
2) ขอบเขตงานวิจัยขยายสู่ระดับภูมิภาค
การวิจัยและพัฒนาจะขยายจากขอบเขตประเด็นวิจัยระดับประเทศเป็นระดับภูมิภาคมากขึ้น เนื่องการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศอาเซียนจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น ทำให้การกำหนดนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและการบริหารเศรษฐกิจมหภาคของประเทศสมาชิกอาเซียนมีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการร่วมกัน ภาคอุตสาหกรรมในประเทศสมาชิกอาเซียนมีความเชื่อมโยงกันในลักษณะเครือข่ายการผลิตระดับภูมิภาค (regional production network) การศึกษาวิจัยด้านเศรษฐกิจจึงจำเป็นต้องขยายขอบเขตสู่ระดับภูมิภาค
นอกจากนี้ งานวิจัยและพัฒนาในระดับภูมิภาคยังมีความสำคัญในการแก้ปัญหาระหว่างประเทศและปัญหาระดับภูมิภาคอาเซียน อาทิ ปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขร่วมกันในระดับภูมิภาค
3) การแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนารุนแรงมากขึ้น
ภายหลังการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน การแข่งขันด้านการวิจัยและพัฒนาจะเพิ่มขึ้นสูงขึ้นทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค เนื่องจากประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีความต้องการทำการวิจัยและพัฒนามากขึ้น ขณะที่บรรษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศสมาชิกอาเซียนมีแนวโน้มลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามากขึ้น อันส่งผลทำให้เกิดการแย่งชิงนักวิจัยที่มีอยู่อย่างจำกัดจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน
การเปิดเสรีการเคลื่อนย้ายแรงงานฝีมือในภูมิภาคนี้ อาจทำให้เกิดการซื้อตัวนักวิจัยบางสาขาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะทำให้นักวิจัยย้ายไปทำงานในประเทศที่มีอัตราค่าจ้างสูงกว่า มากไปกว่านั้น มหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกต่างต้องให้ความสำคัญกับการทำวิจัยและพัฒนามากขึ้น อันเนื่องมาจากผลงานด้านการวิจัยและพัฒนา เป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่สำคัญในการจัดอันดับมหาวิทยาลัย
ไม่น่าแปลกใจหากโลกจะหันมาให้ความสำคัญกับภูมิภาคนี้ เพราะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีศักยภาพในการพัฒนาในทุกด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และการวิจัยและพัฒนาของภูมิภาคนี้มีแนวโน้มจะเข้าสู่ยุคเฟื่องฟูเช่นกัน
อย่างไรก็ดี ประเทศอาเซียนยังต้องเผชิญกับความท้าทายที่สำคัญหลายประการ อาทิ การกำหนดทิศทางการวิจัยของประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจและสังคม การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนมากขึ้นในอนาคต การพัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาภายในภูมิภาคเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการลงทุนวิจัย การพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสถาบันที่สามารถทำวิจัยที่มีประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้ และการพัฒนาภาคเอกชนให้มีศักยภาพในการทำวิจัยและพัฒนา เป็นต้น
หากประเทศอาเซียนสามารถเดินหน้าก้าวผ่านข้อจำกัดเหล่านี้ได้ อาเซียนอาจจะก้าวขึ้นมาเป็นหนึ่งในขั้วอำนาจใหม่ทางเศรษฐกิจของโลก
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.farmhouse.co.th/fh/images/aboutus/Research_&_Development/Research_01.jpg