อนาคต Startup และการบ่มเพาะธุรกิจ (2)


แหล่งที่มาของภาพ : http://smallbiztrends.com/wp-content/uploads/2012/04/business-incubator.jpg

บทความที่แล้ว ผมได้กล่าวถึงเนื้อหาบางส่วนที่ผมได้กล่าวปาฐกถาเปิดการประชุมนานาชาติ  ?International Congress of Business Incubators? โดยการสนับสนุนของสหภาพยุโรป ณ ประเทศสเปน ซึ่งผมได้ฉายภาพของธุรกิจใหม่ และการบ่มเพาะธุรกิจในอนาคต 3 ด้าน คือ การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของธุรกิจใหม่ ความต้องการธุรกิจใหม่ที่ให้ผลตอบแทนเร็วขึ้น และการเปลี่ยนแปลงสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ในบทความตอนนี้ ผมจะกล่าวถึงแนวโน้มที่เหลืออยู่อีก 4 ประการ

แนวโน้มประการที่ 4 การดำเนินธุรกิจข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น

องค์กรธุรกิจจะต้องเผชิญการแข่งขันในตลาดโลกมากขึ้น และต้องดำเนินงานในสภาพแวดล้อมระดับโลก เพราะพรมแดนการค้าได้ถูกลดทอนลงไปทุกขณะ การบ่มเพาะธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาความสามารถในการดำเนินธุรกิจ และแข่งขันได้ในตลาดระหว่างประเทศ โดยการพัฒนาผู้ประกอบการให้มีความรู้เกี่ยวกับค่านิยมและวัฒนธรรมร่วมของโลก กฎ ระเบียบ และมาตรฐานโลก รวมถึงแนวโน้มความต้องการและรสนิยมของผู้บริโภคในโลก

องค์กรธุรกิจต้องทำงานข้ามวัฒนธรรมมากขึ้น เนื่องจากการขยายตลาดไปสู่ต่างประเทศ และการทำงานร่วมกับหุ้นส่วน และพนักงานที่เป็นคนท้องถิ่นในประเทศต่างๆ การบ่มเพาะธุรกิจในอนาคตต้องพัฒนาธุรกิจใหม่ ให้มีความสามารถทำงานข้ามวัฒนธรรม มีความเข้าใจความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละท้องถิ่น มีทักษะในการประยุกต์สินค้าและบริการให้เข้ากับบริบทท้องถิ่น (contextualization) และเข้าใจวัฒนธรรมการทำธุรกิจและการทำงานของคนในแต่ละท้องถิ่นมากขึ้น

แนวโน้มประการที่ 5 การเกิดธุรกิจใหม่ภายในธุรกิจเดิม

องค์กรธุรกิจจะให้ความสำคัญกับการจัดโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจขึ้นภายในบริษัท (in-house business incubators) เพิ่มมากขึ้น โดยบริษัทต่างๆ จะเปิดโอกาสให้พนักงานได้ทดลองสร้างนวัตกรรม และสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการภายในบริษัท (intrapreneurs) และบริษัทใหม่ภายใต้บริษัทเดิม

ความรู้ที่เปลี่ยนแปลงเร็วและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทจัดให้มีโปรแกรมการบ่มเพาะธุรกิจภายในบริษัทมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงขององค์ความรู้จะทำให้การสร้างโอกาสทางธุรกิจและการจัดตั้งธุรกิจใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการพัฒนาประสิทธิภาพของธุรกิจเดิม

บริษัทจึงเลือกใช้วิธีการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ เป็นแนวทางในการรักษาความได้เปรียบในการแข่งขัน เพราะจะช่วยให้บริษัทสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยรักษาความลับทางธุรกิจและเทคโนโลยีของบริษัท การสร้างธุรกิจใหม่ภายในธุรกิจเดิม เป็นการลงทุนในโครงการที่เป็นความเชี่ยวชาญหลักทางธุรกิจ (core business) จึงมีความเสี่ยงน้อยกว่า และมีต้นทุนต่ำกว่าการซื้อธุรกิจใหม่ภายนอกบริษัท

แนวโน้มประการที่ 6 การเกิดกระบวนการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจง

ในอนาคต ผู้บริโภคจะมีรายได้สูงขึ้น เนื่องจากชนชั้นกลางจะเพิ่มจำนวนขึ้นจากประมาณ 1.8 พันล้านคนในปี 2552 เป็น 4.9 พันล้านคน ในปี 2573 ผู้บริโภคจะมีความต้องการที่ซับซ้อนมากขึ้น และบริโภคสินค้าและบริการเพื่อวัตถุประสงค์ที่มากกว่าความต้องการพื้นฐาน

ผู้บริโภคจะแสวงหาคุณค่าที่มากขึ้นจากสินค้าและบริการ และแสวงหาความแตกต่างที่ผลิตภัณฑ์อื่นไม่สามารถให้ได้ โดยยินดีที่จะจ่ายในราคาที่สูงขึ้นให้แก่สินค้าและบริการในลักษณะนี้ เพื่อแยกตัวเองให้แตกต่างจากคนอื่น หรือรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของผลิตภัณฑ์นั้น ธุรกิจในอนาคตจึงไม่เพียงขายผลิตภัณฑ์ แต่ขายคุณค่าภายในและขายประสบการณ์จากการบริโภคสินค้านั้นด้วย

ตลาดเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะราย (customization) ในอนาคตจะขยายตัวขึ้น เนื่องจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ จะทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภคมีต้นทุนต่ำลง ผู้ผลิตสามารถรับรู้ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าได้ง่ายขึ้น ขณะที่ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการผลิต เช่น จักรกลอัจฉริยะ (smart machine) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ ฯลฯ จะทำให้กระบวนการผลิตมีความยืดหยุ่นสูงขึ้น และทำให้การผลิตเป็นจำนวนน้อยมีต้นทุนต่ำลง

ธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ จะต้องให้ความสำคัญกับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย การคัดเลือกโครงการเพื่อทำการบ่มเพาะ จะต้องพิจารณาว่าใครเป็นลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ผู้ประกอบการมีความเข้าใจหรือมีความสามารถในการทำความเข้าใจ และวิเคราะห์ความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหรือไม่ และโมเดลธุรกิจมีสมรรถนะในการตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายหรือไม่

นอกจากนี้ ธุรกิจในอนาคตจำเป็นต้องมีเครือข่ายการผลิตที่กว้างขวาง และมีทางเลือกที่กว้างขึ้น ในการเข้าถึงผู้จัดหาปัจจัยการผลิต (suppliers) และผู้กระจายสินค้า (distributors) รวมทั้งมีการเชื่อมโยงโดยตรงระหว่างผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานกับลูกค้า ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสินค้าที่ตรงความต้องการลูกค้าแต่ละกลุ่ม หรือแต่ละคนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

แนวโน้มประการที่ 7 ความน่าเชื่อถือเป็นสินทรัพย์สำคัญอย่างยิ่งยวดของธุรกิจ

การคัดเลือกโครงการเพื่อเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจ เป็นขั้นตอนสำคัญที่กำหนดความสำเร็จของการบ่มเพาะธุรกิจใหม่ เพราะธรรมชาติของธุรกิจใหม่มีความเสี่ยงสูง โดยธุรกิจใหม่ 9 ใน 10 รายจะล้มเหลว

ชื่อเสียงของผู้ให้บริการบ่มเพาะธุรกิจ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เพราะจะช่วยดึงดูดให้องค์กรและบุคคลภายนอกเข้ามาร่วมงานด้วย ทำให้สามารถสร้างเครือข่ายและความร่วมมือกับองค์กรอื่นได้ง่าย และดึงดูดโครงการที่มีคุณภาพเข้ามารับบริการบ่มเพาะธุรกิจ

ในอนาคตชื่อเสียงของผู้ก่อตั้งธุรกิจ จะถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณาคัดเลือกโครงการ เพื่อเข้าสู่กระบวนการบ่มเพาะธุรกิจมากขึ้น โดยเฉพาะข้อมูลของผู้ก่อตั้งธุรกิจที่อยู่ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า ?digital footprint? และจะเป็นข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการพิจารณาคุณภาพของธุรกิจใหม่

ตัวอย่างของ digital footprint ได้แก่ จำนวนผู้ติดตาม (follower) บนเว็บไซต์ของธุรกิจใหม่หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ ยอดกดไลค์ (like) ในเฟซบุ๊คของธุรกิจใหม่หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ การแสดงความเห็นในเครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจใหม่หรือผู้ก่อตั้งธุรกิจ รวมทั้งข้อมูลจาก big data

 

การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลกในอนาคต ทำให้ธุรกิจใหม่และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเผชิญโอกาสและความท้าทายหลายด้าน ธุรกิจใหม่และการบ่มเพาะธุรกิจนับว่าเป็นเครื่องมือที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูง แต่การสนับสนุนการบ่มเพาะธุรกิจและการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจใหม่ ที่มีความสามารถในการแข่งขันนั้น จำเป็นต้องคำนึงถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วย

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
 
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
 
แหล่งที่มาของภาพ : http://sterkblanding.no/files/2015/01/Spilhaug-KT-copy.jpg