บูรณาการข้ามศาสตร์อีกหนึ่งความพยายามเปลี่ยนโลกของฮาร์วาร์ด

การเปิดตัว ldquo;วิทยาลัยวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์rdquo; (School of Engineering and Applied Sciences) เมื่อวันที่ 21 กันยายนที่ผ่านมา สร้างความตื่นเต้นให้ประชาคมฮาร์วาร์ดไม่น้อย เพราะเป็นการเปิดตัววิทยาลัยใหม่ในรอบ 71 ปีที่ผ่านมา และยังเป็นการประกาศจุดยืนของมหาวิทยาลัย ในการก้าวไปสู่ผู้นำการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์

วิสัยทัศน์ของวิทยาลัยใหม่
ldquo;ผู้นำการเปลี่ยนแปลง สังคมต้องดีขึ้นrdquo;

อธิการบดีเฟาสต์ (Drew Faust) และ เวนคาเทช นารายานามุทติ (Venkatesh Narayanamurti) คณบดีคนแรกของวิทยาลัย ได้กล่าวไว้อย่างน่าขบคิดต่อว่า วิทยาลัยแห่งนี้จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ทางวิชาการ ที่หลอมรวมองค์ความรู้จากหลายศาสตร์ เพื่อการขยายความรู้ ความเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงของโลก และการนำความรู้นั้นไปพัฒนาให้สังคมดีขึ้น

ความสำเร็จในการจัดตั้งวิทยาลัยแห่งนี้ ไม่เป็นเพียงสร้างความภูมิใจแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง แต่หลายคนเชื่อว่าจะเป็นปรากฏการณ์สำคัญนำไปสู่การสร้างสรรค์ การค้นพบ การสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี โดยอยู่บนประเด็นที่สังคมสนใจ เช่น สุขภาพ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และสิ่งสำคัญคือ การวางรากฐานให้ระบบการศึกษา ผู้เรียนได้ขยายฐานความรู้ในด้านเทคโนโลยีและเข้าใจบทบาทของตนเองในสังคม

ผู้บริหารเห็นคุณค่าการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด

การเกิดขึ้นของวิทยาลัยแห่งนี้ ถือว่าน่าสนใจ ในแง่ความพยายามต่อยอดองค์ความรู้ กล่าวคือ เริ่มต้นจากวิทยาลัยวิทยาศาสตร์เล็ก ๆ เมื่อปี ค.ศ. 1847 และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในนามสาขาวิชาวิศวกรรมศาสตร์ ภายใต้คณะศิลปะและวิทยาศาสตร์ (Faculty of Arts and Sciences) ในเวลาต่อมาได้พัฒนาหลักสูตรของตนขึ้นมาจากการต่อยอดความรู้สาขาวิชาต่าง ๆ ภายในคณะ นำไปสู่การเปิดหลักสูตรวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ในปี 1996 และเป็นวิทยาลัยวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ในที่สุด

ความพยายามของ คณบดีนารายานามุทติ ผู้เป็นแรงผลักดันสำคัญ ให้เกิดการตั้งวิทยาลัยแห่งนี้ เห็นได้จากการทุ่มเทอย่างหนัก ในการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักสูตรนี้ กับองค์ความรู้จากคณะและสาขาวิชาต่าง ๆ ทั่วทั้งฮาร์วาร์ด เพื่อสร้างงานวิจัยที่น่าสนใจ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเพื่อการวิจัย ดึงดูดคณาจารย์ นักวิจัยที่เก่งในทุกสาขาวิชา มาร่วมสร้างฐานวิจัยที่แข็งแกร่ง เพียงพอที่จะแยกตัวออกมาตั้งเป็นวิทยาลัย

วิทยาลัยวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ประยุกต์ ใช้การบูรณาการความรู้จากศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ด้วยการสร้างความร่วมมือกับคณะและวิทยาลัยต่าง ๆ ในฮาร์วาร์ด เห็นได้จาก

การร่วมมือกับวิทยาลัยจอห์นเอฟเคเนดี้ที่เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะ เพื่อสร้างองค์ความรู้เกี่ยวกับทิศทางนโยบายด้านเทคโนโลยี การร่วมมือกับคณะแพทย์ศาสตร์ เพื่อสร้างองค์ความรู้ด้านชีววิศวกรรม ระบบชีววิทยาเพื่อการแพทย์ การร่วมมือกับวิทยาลัยสาธารณสุข เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพของประชากรโลกการร่วมมือกับวิทยาลัยบริหารธุรกิจ เพื่อพัฒนาองความรู้ด้านการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม

การรักษาความเป็นผู้นำทางความคิดนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ฮาร์วาร์ดจะต้องสร้างเทคนิค องค์ความรู้ งานวิจัยใหม่ ๆ ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ด้วยเหตุนี้การศึกษาข้ามศาสตร์ จึงเป็นอีกทางออกหนึ่งซึ่งจะไปถึงเป้าหมายนั้นได้อย่างไม่ยากเย็น
จากสภาพสังคมที่มีแนวโน้มซับซ้อนมากขึ้น ทำให้ผมสะท้อนคิดว่า สังคมไทยในอนาคตต้องการบุคลากรที่มีความสามารถแก้ปัญหา ประยุกต์แต่ละศาสตร์เข้าด้วยกัน หรือประยุกต์ศาสตร์ต่าง ๆ กับปัญหาที่ซับซ้อน ซึ่งอาจไม่สามารถใช้ทฤษฎีจากศาสตร์หนึ่งโดยตรง หรืออาจเกิดจากการถึงทางตันของสาขาวิชาบางประเภทไม่สามารถลงลึกในศาสตร์ของตนมากกว่านี้ ทำให้ต้องขยายการค้นคว้าในแนวข้าง เชื่อมกับศาสตร์อื่น เพื่อตอบโจทย์ต่าง ๆ ในสังคมได้มากขึ้น

ตัวอย่างเช่นการตอบโจทย์ที่เป็นปัญหาพื้นฐาน เรื่องความเป็นอยู่ของคน ซึ่งต้องอาศัยองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้านรัฐศาสตร์ ด้านนิติศาสตร์ เพื่อจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ให้สอดคล้องกับความต้องการและความจำเป็นในแต่ละท้องถิ่น เรื่องสิ่งแวดล้อมที่ต้องอาศัยความรู้ด้านนิเวศวิทยา วิทยาศาสตร์ประยุกต์ จิตวิทยา เพื่อการเฝ้าระวังและรักษาสภาพแวดล้อมทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ

รวมถึงการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต เช่น การนำวิศวกรรมศาสตร์มาประยุกต์กับการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อหาทางสร้างที่อยู่อาศัยแบบใหม่ให้สอดคล้องสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปรองรับประชากรที่เพิ่มขึ้นการใช้นาโนเทคโนโลยีในการสร้างพลังงานทดแทน และการนำมาใช้เพื่อการพัฒนาสิ่งแวดล้อม การสร้างสรรค์นวัตกรรมจากทุกศาสตร์ เพื่อการรักษาทรัพยากรอย่างยั่งยืน เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษาไทยจำเป็นต้องวางแผน ผลิตกำลังคนให้สอดคล้อง กับความต้องการดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที โดยในอนาคตอาจมีการเปิดสาขาวิชาใหม่ ที่บูรณาการระหว่างศาสตร์ตั้งแต่สองศาสตร์ขึ้นไป หรือรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายในแต่ละศาสตร์ไว้ด้วยกัน

การบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ อาจเป็นคำตอบของการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น และเตรียมความพร้อมของคนในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มหาวิทยาลัยในฐานะผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นแหล่งเพาะปัญญาของสังคม จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อหาทางรับมือและใช้ประโยชน์จากอนาคตที่จะมาถึง อันจะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถอยู่รอดและแข่งขันได้และยังคงเป็นแหล่งนำทิศทาง สร้างสรรค์สังคมได้ในอนาคต

admin
เผยแพร่: 
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ: 
2007-10-26