ทักษะภาษาอังกฤษ: ความจำเป็นพื้นฐานในวิชาชีพครู

สภาพโลกาภิวัตน์ได้เชื่อมทุกประเทศให้กลายเป็นสมาคมโลก โดยเชื่อมโยงทั้งด้านการถ่ายเทด้านข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ วัฒนธรรม และเศรษฐกิจการค้าที่เปิดเสรีมากขึ้น รวมถึงการคมนาคมขนส่งจากทั่วทุกมุมโลก ส่งผลให้เกิดการตื่นตัวในการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นสื่อกลางในกิจกรรมแทบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ด้านการค้าและการลงทุน การศึกษา การติดต่อสื่อสาร การท่องเที่ยว และการใช้ในชีวิตประจำวัน แม้ว่าปัจจุบันจะมีภาษาต่างประเทศอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น ภาษาจีน ภาษาเกาหลี ภาษาญี่ปุ่น ฯลฯ แต่ภาษาอังกฤษยังคงเป็นที่ยอมรับและนำมาใช้เป็นภาษากลางของคนทั่วโลก

กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนไทยเด็กและเยาวชนไทย ให้มีความสามารถใช้ภาษาอังกฤษ ในระดับที่สามารถติดต่อสื่อสารและใช้ประโยชน์ได้ แต่จากงานวิจัยหลายชิ้นกลับพบว่า เด็กไทยมีความอ่อนด้านภาษาอังกฤษค่อนข้างมาก โดยเด็กไทยส่วนใหญ่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษในระดับต้องปรับปรุง

ปัญหาสำคัญประการหนึ่งที่ไม่เอื้อและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาภาษาอังกฤษของเด็กไทย คือ ความจำกัดด้านคุณภาพและปริมาณครูที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ที่ผ่านมาพบว่าครูสอนภาษาอังกฤษจำนวนมากยังขาดความแม่นยำในการออกเสียงและการใช้ไวยากรณ์ มุ่งสอนแบบท่องจำมากกว่าการสอนให้รู้จักธรรมชาติของภาษา ซึ่งหากครูไม่มีความรู้ในภาษาอังกฤษมากเพียงพอ ย่อมยากที่จะสอนผู้เรียนให้เก่งภาษาอังกฤษได้
ในต่างประเทศเช่นประเทศแถบเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนามและมาเลเซีย ต่างเร่งเครื่องโดยนำครูและคณาจารย์มาพัฒนาภาษาอังกฤษกันใหม่ เพราะเล็งเห็นว่าครูเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียน
บทความนี้ จะกล่าวถึงครูกับการพัฒนาตนเองด้านภาษาอังกฤษ ทั้งด้านการฟัง พูด อ่าน และเขียน ในระดับที่สามารถสื่อสารและสอนผู้เรียน รวมถึงนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งไม่เพียงแต่กลุ่มครูที่สอนภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่รวมถึงกลุ่มครูที่สอนในวิชาอื่นด้วยที่ควรมีพื้นฐานด้านทักษะภาษาอังกฤษที่ดี ซึ่งย่อมจะส่งผลดีต่อการพัฒนาตนเอง และมีส่วนพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของผู้เรียนด้วย แนวทางการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของครู มีดังนี้

หมั่นเข้าหาแหล่งข้อมูลทางวิชาการที่เป็นภาษาอังกฤษ
จำเป็นที่ครูทุกคนจะต้องพัฒนาความรู้ความชำนาญในการสอนและงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสิ่งที่ครูสามารถทำได้คือ การเข้าถึงแหล่งข้อมูล-องค์ความรู้ ที่เป็นภาษาต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าเป็นจากหนังสือ เอกสาร รวมถึงจากอินเทอร์เน็ต เนื่องจากเป็นแหล่งข้อมูลที่มีคุณภาพ และมีนวัตกรรมด้านการศึกษาใหม่ ๆ

สอดแทรกสอนภาษาอังกฤษในวิชาที่รับผิดชอบ
ครูควรนำเอาภาษาอังกฤษไปบูรณาการกับงานสอน ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการพัฒนาภาษาอังกฤษให้ครู เช่น สอดแทรกศัพท์ภาษาอังกฤษที่เป็นคำเฉพาะ การใช้วลีหรือประโยคภาษาอังกฤษที่น่าให้ข้อคิด ให้เกิดความสนุกสนานและน่าสนใจ การเชื่อมโยงแหล่งค้นคว้าเพิ่มเติมที่เป็นภาษาอังกฤษที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้เรียน เป็นต้น

ใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน
เพื่อสร้างความมั่นใจ ความกล้าและความคุ้นเคยในการใช้ภาษาอังกฤษผ่านการใช้จริงในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ครูควรฝึกใช้ภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวัน แม้ว่าการใช้ไวยากรณ์ หรือคำศัพท์ต่าง ๆ จะผิดบ้างถูกบ้างก็ตาม ซึ่งสามารถทำได้ง่าย เช่น อ่านป้ายฉลากยาและป้ายโฆษณา ฟังข่าวภาษาอังกฤษ หรือพูดคุยกับคนรอบข้างเป็นภาษาอังกฤษอย่างง่าย ๆ ฯลฯ

จัดตารางและมีวินัยฝึกฝนต่อเนื่อง การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษต้องอาศัยเวลาและการฝึกฝนต่อเนื่อง ดังนั้น ครูควรสร้างวินัยให้กับตนเอง ด้วยการจัดสรรเวลาอย่างเจาะจงในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ เช่น ช่วงเย็นหลังเลิกงาน ช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ฯลฯ โดยอาจเป็นูปแบบของการเข้ารับการฝึกอบรมจากผู้เชี่ยวชาญ และหรือพัฒนาภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เช่น การศึกษาและเรียนรู้ทักษะภาษาอังกฤษจากหนังสือ เทป ซีดี วีซีดี ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันมีวางจำหน่าย และมีให้ยืมตามแหล่งวิชาการหรือห้องสมุดต่าง ๆ หรือเรียนในห้องเรียนภาษาอังกฤษทางอินเทอร์เน็ตที่เปิดสอนภาษาอังกฤษฟรี เป็นต้น

สร้างแรงจูงใจพัฒนาภาษาอังกฤษให้ตนเอง ครูอาจเริ่มพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษจากสิ่งที่ชอบ เช่น ชมภาพยนตร์ ฟังเพลง อ่านหนังสือหรือนิตยสารภาษาอังกฤษเล่มโปรด ฯลฯ หรืออาจสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัลตนเอง เมื่อก้าวหน้าในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษระดับสูงขึ้น เป็นต้น

รวมตัวพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษ นอกจากที่ครูจะใช้สิทธิในการเข้ารับฝึกอบรมพัฒนาภาษาอังกฤษที่รัฐบาลได้จัดขึ้นแล้ว ควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มคณะที่มีจำนวนมากพอ เพื่อมีพลังต่อรองให้รัฐบาลฝึกอบรมครูจัดหลักสูตรที่เหมาะสมกับครู อีกทั้ง ยังสามารถรวมตัวกันเจรจากับสถาบันสอนภาษาภาษาอังกฤษ เพื่อให้เข้ามาสอนภาษาอังกฤษให้แก่ครูในราคาที่พอเหมาะ หรืออาจเสนอให้โรงเรียนในเขตพื้นที่เดียวกันที่มีครูเก่งภาษาอังกฤษ จัดส่งครูมาสอนให้แก่ครูต่างโรงเรียนที่รวมตัวกัน

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าครูมีช่องทางในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษมีได้หลากหลาย แล้วแต่จะเลือกตามความสะดวกและสมัครใจ อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษคือ การมีวินัยในการฝึกฝนและทำให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษเป็นเรื่องสนุกสนาน ย่อมจะนำไปสู่การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ และเกิดประโยชน์ต่อบุคคลรอบข้าง
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์พิษณุโลกทูเดย์
เมื่อ: 
2007-09-16