การใช้กลไกตลาดเพื่อชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า

     กระทรวงพาณิชย์ได้รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.53 ความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย 5 ประเทศ ได้แก่ กรอบเจรจาไทย - ออสเตรเลีย ไทย -นิวซีแลนด์ อาเซียน - จีน ไทย - ญี่ปุ่น อาเซียน - เกาหลี รวมทั้งข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียนหรืออาฟต้า (AFTA) จะมีผลบังคับใช้ต่อประเทศไทยอย่างกว้างขวางมากขึ้น ทำให้โดยรวมแล้วประเทศไทยจะต้องลดภาษีนำเข้าสินค้าเหลือร้อยละ 0 จำนวนกว่าหมื่นรายการ

     บทเรียนในการเปิดเสรีทางการค้าที่ผ่านมาของไทยนั้นจะเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจาก ไทยมีศักยภาพในการผลิตสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนตร์ และเหล็ก เป็นต้น แต่ภาคเกษตรมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางลบมาก เนื่องจาก ความไม่พร้อมในการปรับตัวและความสามารถในแข่งขันต่ำกว่า เช่น เอฟทีเอในกรอบอาเซียน – จีน ที่เกษตรกรไทยผู้ปลูกกระเทียม หัวหอมและผลไม้ในภาคเหนือได้รับผล

     กระทบอย่างมาก และคาดว่าการเปิดเสรีที่มากขึ้นในปี 2553 นี้จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรอย่างมาก โดยเฉพาะภายใต้กรอบอาฟต้า เนื่องจาก พบว่าชาวนาผู้ปลูกข้าว ร้อยละ 70 - 80 ยังไม่ทราบว่าไทยต้องลดภาษีนำเข้าข้าว และรัฐยังไม่มีมาตรการรองรับการเปิดเสรีข้าวที่ชัดเจน ประกอบกับต้นทุนการผลิตข้าวของไทยสูงกว่าเวียดนาม พม่า ลาว กัมพูชา ที่มีแรงงานราคาถูก หรือสินค้าน้ำมันปาล์มที่ไม่สามารถแข่งขันกับมาเลเซียและอินโดนีเซียได้ เนื่องจาก 2 ประเทศนี้เป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่ระดับภูมิภาคและระดับโลก และผลผลิตน้ำมันปาล์มของทั้ง 2 ประเทศ คิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของผลผลิตโลก เป็นต้น

     ประเด็นเรื่องการรองรับและช่วยเหลือผู้เสียประโยชน์จะทำอย่างไรนั้น เป็นปัญหาเรื่อยมาของการเจรจาเขตการค้าเสรีทุกครั้งแทบจะทุกประเทศ ซึ่งทำให้การเจรจาการค้าเสรีเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะต้องเผชิญกับการต่อต้านจากประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ ในสังคม ในประเทศไทยเองก็เช่นเดียวกัน การชดเชยผู้ได้รับผลกระทบในอดีตมักกระทำโดยอาศัยดุลพินิจของรัฐบาล ทำให้ขาดประสิทธิภาพและความโปร่งใส และไม่สามารถชดเชยผู้ได้รับผลกระทบได้อย่างแท้จริง

     ผมมีโอกาสศึกษาเรื่อง “การใช้กลไกตลาดในการชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาเขตการค้าเสรี” ซึ่งได้สำรวจแนวคิดเกี่ยวกับการชดเชยที่เหมาะสม และ เสนอแนะแนวทางใหม่ในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจาเขตการค้าเสรี ลักษณะมาตรการชดเชยผู้ได้รับผลกระทบที่เหมาะสม ได้แก่

1) การชดเชยที่เพียงพอโดยทำให้เกิดต้นทุนต่ำที่สุดต่อเศรษฐกิจ คือ รัฐต้องไม่เก็บเก็บภาษีภาคธุรกิจในอัตราที่สูงเกินไป เพื่อนำไปชดเชยแก่ภาคการผลิตที่แข่งขันไม่ได้ เนื่องจาก อาจทำให้ภาคธุรกิจมีต้นทุนสูงขึ้นจนทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง

2) จูงใจให้เกิดการปรับตัวไปสู่ภาคการผลิตที่แข่งขันได้ การชดเชยควรเป็นวิธีการอุดหนุนในระยะสั้นเท่านั้น แต่ต้องสร้างสมรรถนะและจูงใจให้สามารถ
ปรับตัวไปสู่ภาคการผลิตที่แข่งขันได้โดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นการบิดเบือนกลไกตลาด เช่น การอุดหนุนค่าจ้างแก่แรงงานและช่วยแรงงานในการหางาน การให้เงินอุดหนุนในการจัดฝึกอบรม การให้เงินอุดหนุนแก่นายจ้างเพื่อจ้างงาน การประกันการว่างงาน หรือการสนับสนุนให้ปัจจัยการผลิตเคลื่อนย้ายโดยเสรี เป็นต้น

3) ระบุกลุ่มเป้าหมายอย่างเจาะจง ซึ่งจะแยกแยะได้นั้นต้องศึกษาวิจัย ติดตามวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจต่าง ๆ แต่อีกด้านหนึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากการ
เรียกร้องของกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบหากเราใช้เกณฑ์เหล่านี้พิจารณามาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่ผ่านมา เราจะพบว่ามาตรการของภาครัฐหลายครั้งไม่เพียงพอและทำให้เกิดการบิดเบือนกลไกตลาด

     ในงานศึกษานี้ผมได้เสนอแนวคิดใหม่ในการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้าโดยอาศัยกลไกตลาด คือการให้ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงกันว่ายินดีจะซื้อและขายสินค้าที่ราคาเท่าไรและปริมาณเท่าไร ซึ่งจะทำให้การจัดสรรทรัพยากรมีประสิทธิภาพมากที่สุด และช่วยลดความขัดแย้งจากการที่ทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด โดยกำหนดให้ผู้ผลิตสินค้าในภาคการผลิตหนึ่งในประเทศหนึ่ง มี "สิทธิในการปกป้องภาคการผลิตของตนเองจากการเปิดเสรี" สิทธิดังกล่าวมีลักษณะเหมือนสินค้า เพราะผู้ผลิตสินค้าในภาคการผลิตนั้นอาจยินดีที่จะขายสิทธิดังกล่าวหากมีผู้เสนอซื้อในราคาที่น่าพึงพอใจ กล่าวคือ ผลประโยชน์ที่คาด (Expected benefit) มากกว่าต้นทุนที่คาด (Expected cost) ขณะเดียวกันผู้ที่ซื้อสิทธิดังกล่าวจะได้ประโยชน์จากการเปิดเสรีในภาคการผลิตนั้น จึงยินดีที่จะจ่ายราคาเพื่อซื้อสิทธิดังกล่าว

     ในการซื้อขายสิทธินั้นควรมีระยะเวลากำหนด โดยให้มีการเปิดตลาดซื้อขายเป็นระยะ เช่น ปีละ 1 ครั้ง หรือ 2 ปีครั้ง เพื่อให้อัตราการกีดกันทางการค้ามีความนิ่ง ไม่เปลี่ยนแปลงมากจนผู้นำเข้าส่งออกไม่สามารถวางแผนได้ โดยให้มีระยะเวลาเพียงพอที่จะซื้อขายสิทธิได้ทัน นอกจากนี้ หลังจากปิดการซื้อขายแล้ว ควรทิ้งระยะเวลาในการบังคับใช้อัตราการกีดกันทางการค้าชุดใหม่ออกไประยะหนึ่ง เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถปรับตัวได้ทัน เป็นต้น

     แบบจำลองนี้เป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น ซึ่งอาจมีความยุ่งยากในการนำไปปฏิบัติ เพราะการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตหรือประชาชนเข้ามาซื้อขายสิทธิ อาจทำให้มีผู้ซื้อและผู้ขายจำนวนมากจนมีต้นทุนในการดำเนินการมาก และการให้ผู้ผลิตแต่ละรายมีอัตราการกีดกันทางการค้าไม่เท่ากัน อาจทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อน ดังนั้นหากจะนำแนวคิดนี้ไปใช้ในภาคปฏิบัติ อาจแก้ปัญหาโดยให้ประชาชนจัดกลุ่มตามกลุ่มผลประโยชน์ต่าง ๆ แล้วส่งตัวแทนเข้ามาทำการซื้อขายในตลาด อย่างไรก็ตาม ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่ทันสมัย น่าจะช่วยให้แบบจำลองนี้มีโอกาสเป็นจริงได้มากขึ้น

     ภาครัฐควรดำเนินการอย่างเร่งด่วนและจริงจังในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากข้อผูกพันได้มีผลบังคับใช้ไปแล้ว แม้ว่าขณะนี้รัฐอาจจะล่า
ช้าไปบ้าง แต่ยังมีเวลาที่จะดำเนินนโยบายเพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบแก่ผู้เสียประโยชน์ให้เบาบางลงได้

admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์วารสารกรองสถานการณ์ คอลัมน์การค้าการลงทุน
เมื่อ: 
1/2/2010