แชร์ลูกโซ่ : อาชญากรรมทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยตาย

* ที่มาของภาพ - http://www.thainail.com/images/chain02.jpg
 

 
ความตกต่ำทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นเมื่อใด เราก็จะพบเห็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจรูปแบบต่างๆ สร้างความเสียหายแก่ประชาชน กรณีที่เห็นชัด คือ การกลับมาระบาดของแชร์ลูกโซ่และตกเป็นข่าวแทบจะทุกสื่อในเวลานี้ โดยเฉพาะแชร์ข้าวสาร และแชร์ก๋วยเตี๋ยวบางกอก ล่าสุดทางการออกมาเตือนให้ระวังธุรกิจแฟรนไชส์กว่า 400 รายที่อาจเข้าเป็นข่ายแชร์ลูกโซ่
วิธีการของแชร์ลูกโซ่เป็นอย่างไร ทำไมจึงสามารถหลอกลวงให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อได้ในวงกว้างและเราจะมีวิธีการพิจารณาลักษณะธุรกิจที่เป็นแชร์ลูกโซ่แยกออกจากธุรกิจโดยทั่วไปได้อย่างไร

ลักษณะธุรกิจแชร์ลูกโซ่
: ประมาณ 20 ปีก่อน มีตัวอย่างการล้มละลายของแชร์ลูกโซ่ ซึ่งมีผู้เสียหายจำนวนมาก คือ การล้มละลายของแชร์น้ำมัน หรือ แชร์แม่ชม้อย หลังจากจากนั้นไม่นานได้เกิดการล้มละลายของ บริษัท บริดเชอร์ คอร์เปอร์เรชั่น และเมื่อปี 2548 บริษัท กรีน แพลนเนท เป็นแชร์ลูกโซ่ขนาดใหญ่อีกรายที่เกิดปัญหาล้มละลาย

วิวัฒนาการแชร์ลูกโซ่
ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปอยู่ในรูปธุรกิจขายตรง (Multi-Level Marketing: MLM) ซึ่งในหลายบริษัทอาจใช้คำอื่นที่แตกต่างกันออกไป เช่น การตลาดแบบระบบเครือข่าย (Network Marketing) และแชร์ลูกโซ่บางแห่งในปัจจุบันแฝงตัวอยู่ในธุรกิจแฟรนไชส์
ธุรกิจแบบแชร์ลูกโซ่เน้นการเชิญชวนประชาชนให้สมัครเป็นสมาชิกและร่วมลงทุนกับบริษัท โดยเสนอแผนการตลาดที่น่าตื่นเต้นและได้รับผลตอบแทนสูงมากในช่วงเวลาสั้น ๆ ลักษณะสำนักงานของบริษัทประเภทนี้ ส่วนมากมักจะเช่าอาคารสำนักงานขนาดใหญ่ที่ตกแต่งสวยงามให้ดูน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ยังมีการจ้างพนักงานมานั่งทำงาน หรือบางครั้งอาจเป็นไปได้ว่าพนักงานที่ถูกจ้างมายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าบริษัทที่จ้างตนมานั้น ทำธุรกิจอะไร
รูปแบบการทำงานของธุรกิจแชร์ลูกโซ่เน้นการหาสมาชิกเพื่อมาร่วมลงทุนตามแผนธุรกิจ ซึ่งส่วนมากลักษณะแผนธุรกิจของบริษัทประเภทนี้แทบจะไม่ต่างกัน แต่จะอาจเปลี่ยนแค่รูปแบบโดยใช้สินค้าหรือบริการที่แตกต่างกันออกไปเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงการซื้อขายสินค้าเป็นเครื่องบังหน้าเพื่อเลี่ยงกฎหมายเท่านั้น
เนื่องจากสินค้าราคาสูงเกินความเป็นจริงมากทั้งนี้เพราะราคาสินค้าดังกล่าวเป็นค่าตอบจากการพาคนมาเข้าเป็นสมาชิกนั่นเอง ยิ่งใครสามารถขยายเครือข่ายของตนได้ยาวเท่าผลตอบแทนจะเพิ่มเป็นเงาตามตัว สมาชิกที่มาก่อนจะถูกหลอกโดยให้ได้รับผลตอบแทนเป็นจำนวนเงินที่สูง เพื่อจูงใจให้ลงทุนเพิ่มและชักชวนคนใหม่ ๆ มาร่วมลงทุนด้วย ดังนั้นเครือข่ายจึงขยายออกไปเป็นลูกโซ่อย่างรวดเร็ว กิจกรรมธุรกิจส่วนใหญ่เน้นไปที่การจัดประชุมสัมมนาที่น่าเชื่อถือ เพื่อจูงใจคนสมัครเป็นเครือข่ายหลังจากได้ฟังบรรยายแต่กลับไม่เน้นการนำเสนอตัวสินค้าและบริการแต่อย่างใด

การพิจารณาว่าธุรกิจเป็นแชร์ลูกโซ่
: ธรรมชาติของกิจกรรมการผลิตหรือการประกอบธุรกิจใดก็ตาม จะสามารถนำทรัพยากรมาเพื่อผลิตสินค้าและบริการได้นั้น จะอาศัยส่วนผสมของปัจจัยการผลิตต่าง ๆ ซึ่งตามหลักเศรษฐศาสตร์แบ่งออกเป็น 4 ปัจจัยด้วยกัน คือ ที่ดิน ทุน แรงงาน และผู้ประการ
จากนั้น เมื่อการลงทุนมีกำไรเกิดขึ้นจึงจะสามารถจัดสรรกำไรให้กับผู้ถือหุ้นตามความเป็นจริง ดังนั้นธุรกิจจึงสามารถดำเนินต่อไปได้ตามสภาพเศรษฐกิจและองค์ประกอบที่กล่าวมา
ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าธุรกิจแชร์ลูกโซ่ได้เปลี่ยนแปลงและพัฒนารูปแบบไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่มีใครทราบว่าแชร์ลูกโซ่ในอนาคตจะเปลี่ยนไปอย่างไร อย่างไรก็ตามไม่ว่ารูปแบบภายนอกของแชร์ลูกโซ่จะเป็นอย่างไร ลักษณะสำคัญของธุรกิจนี้ยังคงเหมือนเดิม
 
 
กล่าวคือ ไม่มีกิจกรรมการผลิตสินค้าหรือบริการที่จะทำให้ธุรกิจหรือการลงทุนนั้นดำเนินไปได้ เป็นแต่เพียงการนำเงินลงทุนของคนมารวมโดยไม่ได้สร้างกิจรรมการผลิตให้เกิดขึ้นในองค์กรเพื่อให้ได้ผลกำไร แต่จ่ายผลประโยชน์ให้กับผู้ลงทุนโดยหลอกลวงว่าเป็นกำไรจากลงทุน เพื่อหวังให้ผู้ลงทุนนั้นกลับไปชักชวนสมาชิกใหม่เข้ามาเพิ่ม
ในที่สุด เมื่อจำนวนคนในเครือข่ายขยายมากขึ้น บริษัทจึงไม่สามารถจ่ายผลประโยชน์ให้กับคนได้ทุกคนได้ในระยะยาวดังนั้นบริษัทประเภทนี้จะไม่สามารถดำเนินอยู่ได้และต้องปิดตัวลง ทิ้งความเสียหายให้กับผู้ลงทุนจำนวนมาก ขณะที่เจ้าของบริษัทหอบเงินลงทุนหนีหายเข้ากลีบเมฆ และไปเปิดบริษัทชื่อใหม่สร้างความเสียหายแบบไม่รู้จบ

หากถามว่า ทั้ง ๆ ที่มีบทเรียนมาแล้ว แต่ทำไมธุรกิจแชร์ลูกโซ่จึงสามารถเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ในอดีต ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่รู้ของประชาชนและการขาดความเอาใจใส่ของภาครัฐ แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่า คือ ตราบใดที่สังคมไทยยังไม่มีความพอเพียง คนบางส่วนมีความอยากรวยแบบง่าย ๆ และรวดเร็ว โดยไม่มีเหตุไม่มีผล ตราบนั้นจะยังมีคนที่ตกเป็นเหยื่อของระบบแชร์ลูกโซ่อยู่ต่อไป

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-12-19