ให้อย่างอารยะ เพื่อเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่

         ผมได้อ่านบทความหนึ่งในนิตยสาร Forbes – The 400 Richest People in America ฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน ค.ศ.2017 เกี่ยวกับ “เศรษฐีใจบุญที่สุด” ในสหรัฐอเมริกา กล่าวคือ มีการจัดอับดับเศรษฐีที่ “ให้” มากที่สุด โดยพิจารณาจากปริมาณเงินที่ให้หรือบริจาคเป็นหลัก ทั้งนี้
ผมขอกล่าวถึงเพียง 5 อันดับแรกของผู้ใจบุญที่สุดในสหรัฐฯ ดังต่อไปนี้ 
         อันดับ 1 วอร์เรน บัฟเฟตต์ บริจาคเงิน 2,861 ล้านดอลลาร์
         อันดับ 2 บิล และ เมอลินดา เกตส์ บริจาคเงิน 2,142 ล้านดอลลาร์
         อันดับ 3 ไมเคิล บลูมเบิร์ก บริจาคเงิน 600 ล้านดอลลาร์
         อันดับ 4 จอร์จ โซรอส บริจาคเงิน 531 ล้านดอลลาร์
         อันดับ 5 ชัค ฟีเนย์ บริจาคเงิน 482 ล้านดอลลาร์
         เป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้งวอร์เรน  บัฟเฟตต์ ราชาตลาดหุ้น และ บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ สร้างชื่อเป็นมหาเศรษฐีใจบุญด้วยการจัดทำโครงการชื่อ “The Giving Pledge” (พันธสัญญาแห่งการให้) และได้เชิญชวนมหาเศรษฐีทั่วโลกบริจาคทรัพย์สินครึ่งหนึ่งแก่องค์กรการกุศล ซึ่งเลือกได้ว่าจะบริจาคก่อนหรือหลังเสียชีวิต โดยทั้งคู่ได้ทำให้เห็นเป็นตัวอย่างด้วยการบริจาคเงินเข้ากองทุนดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
         ทั้งนี้ มีบุคคลหนึ่งในรายชื่อข้างต้น ที่ทั้งวอร์เรน  บัฟเฟตต์และบิล เกตส์ นับถือและนำมาเป็นแบบอย่าง นั่นคือ ชัค ฟีเนย์ ผู้ก่อตั้งและเป็นเจ้าของ DFS บริษัทดิวตี้ฟรีอันดับ 1 ของโลก ที่เพิ่งถึงแก่กรรมเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ด้วยวัย 85 ปี
         เมื่ออายุ 76 ปี ชัด ฟีเนย์เช่าบ้านอาศัยอยู่ในเมืองซานฟรานซิสโกกับภรรยา เขาไม่เคยสวมเสื้อผ้าแบรนด์เนม เขาไม่ชอบทานอาหารหรู อาหารที่เขาชอบที่สุดคือแซนวิชชีสย่างมะเขือเทศที่ราคาแสนถูก เขาใช้แว่นตาเก่าๆ ใส่นาฬิกาธรรมดา และไม่มีรถขับ แต่มักจะใช้บริการรถโดยสาร ที่เป็นเช่นนี้ เพราะเขานำเงินไปบริจาคเป็นจำนวนมหาศาล
         ช่วงก่อนอายุ 76 ปี ฟีเนย์บริจาคเงิน 588 ล้านดอลลาร์ให้แก่มหาวิทยาลัยคอร์แนล โดยห้ามไม่ให้มหาวิทยาลัยประกาศชื่อผู้บริจาค เขายังบริจาคเงิน 125 ล้านดอลลาร์ให้มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย และ 60 ล้านดอลลาร์ให้มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นอกจากนี้ เขายังได้ให้เงิน 1,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงมหาวิทยาลัยอีก 7 แห่งในสหรัฐฯ และ 2 แห่งในไอร์แลนด์เหนือ เขาจัดตั้งกองทุนการกุศล เพื่อให้ค่ารักษาพยาบาลฟรีสำหรับเด็กปากแหว่ง ในประเทศกำลังพัฒนา
         ฟีเนย์มีความปรารถนาว่า ก่อนปี 2016 เขาจะบริจาคเงินที่เหลือให้หมด เพื่อจะได้ตายตาหลับ ซึ่งเขาทำสำเร็จแล้ว เพราะเงินดังกล่าวได้กระจายไปทั่วโลกไปยังพื้นที่ที่จำเป็น ในอัตรา 4 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐต่อปี 
         ฟีเนย์ตอบคำถามว่า ทำไมต้องบริจาคออกไปจนหมด คำตอบ คือ "เพราะถุงศพไม่มีกระเป๋า...บนสวรรค์นั้นไม่มีธนาคาร ทุกคนเกิดมากับความว่างเปล่า ในที่สุดก็จากไปมือเปล่า ไม่มีใครสามารถนำความมั่งคั่งกลับไปได้"
         ฟีเนย์จึงนับเป็นแบบอย่างสำหรับเศรษฐี โดยได้ให้ข้อคิดที่ว่า "ในขณะที่มีความสุขกับชีวิต ให้แบ่งปันความสุขนี้ให้กับผู้อื่นด้วย"
         การให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และทำได้ไม่ยาก แต่การเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ ก็ไม่ได้ทำง่ายนัก เพราะต้องอาศัยการตัดสินใจและการเสียสละ ในมุมมองของผม การเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ได้ จะต้องมี “การให้อย่างอารยะ” กล่าวคือเป็น “การให้สิ่งที่ดีแท้ งามแท้ จริงแท้ แก่คนดี เก่ง กล้า โดยคำนึงถึงปรัชญาสังคมอารยะ อันได้แก่ เสรีภาพ เสมอภาค ภารดรภาพที่พึงประสงค์และยึดอุดมการณ์สยามอารยะเป็นเป้าหมายสูงสุดของการให้”
         หลักการให้อย่างอารยะ 
         What – ให้อะไร? 
         คำตอบ คือ ให้ทั้งตัวและใจ หมายถึง การให้ตามโมเดล 3T ด้วยใจจริง อย่างไม่มีเงื่อนไขหรือคาดหวังผลตอบแทน โดยโมเดล 3T คือ กรอบความคิดที่ผมคิดขึ้นมาเพื่อนำเสนอว่ามนุษย์สามารถให้หรือยินดีทุ่มเทเสียสละ 3 สิ่งต่อไปนี้ เมื่อเห็นคุณค่าและประโยชน์จากการงานใดๆ ที่รับรู้หรือเกี่ยวข้อง ได้แก่ ให้เวลา (time) ให้ความสามารถและศักยภาพ (talent) และให้ทรัพย์สิน เงินทอง (treasure) การให้ที่ยิ่งใหญ่ ไม่จำเป็นต้องให้เงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
         Who – ให้แก่ใคร?
         คำตอบ คือ ให้กับคนที่มีพลังทวีคูณ (Multiplier) และคนที่สามารถรวมกลุ่มประสานพลังได้ (Synergizer) เพื่อสามารถนำไปขยายผล ต่อยอด ทำให้ดีขึ้น เชื่อมโยงคนกลุ่มต่าง ๆ ให้เข้ามาร่วมกันทำภารกิจที่ตั้งไว้ให้สำเร็จ มองเห็นจุดแข็งและดึงเอาจุดแข็งของแต่ละคนมาใช้ร่วมกับจุดแข็งของคนอื่นๆ ได้
         When – ให้เมื่อใด?
         คำตอบ คือ แบ่งการให้เป็น 2 ช่วงเวลา คือ (1) ให้เฉพาะหน้า เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้า วิกฤต หรือฉุกเฉิน และ (2) ให้ได้ไม่จำกัดเวลา หมายถึง เราสามารถให้ได้ตลอดชีวิต ให้ได้อย่างเป็นพลวัตร เพราะการให้ในวันนี้ จะกำหนดตำนานชีวิตในวันหน้า 
         How – ให้อย่างไร?
         คำตอบ คือ ให้อย่างมีเป้าหมาย/อุดมการณ์เพื่อปวงประชา สังคมส่วนรวมเป็นหลัก และให้อย่างคำนึงถึงผลกระทบว่าครอบคลุมครบถ้วน สมดุล และยั่งยืนหรือไม่
         Why – ทำไมต้องให้? 
         คำตอบ คือ เป็นธรรมชาติของมนุษย์ เพราะมนุษย์ไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวบนโลกนี้ได้ ต้องมีการช่วยเหลือ เกื้อกูล พึ่งพาอาศัยกันและกัน การให้เป็นการแสดงออกถึงความมีน้ำใจ รวมไปถึงมนุษย์ต้องการความสุข เมื่อยิ่งให้ ยิ่งได้รับ ยิ่งมีความสุข ยิ่งได้รับการเติมเต็มและรู้สึกชีวิตมีคุณค่า 
         เมื่อพิจารณาการให้ของ ชัค ฟีเนย์ พบว่า มีการให้ที่สอดคล้องตามหลักการให้อย่างอารยะ จึงไม่แปลกใจที่มหาเศรษฐีของโลกทั้ง 2 คน ยกให้เป็นต้นแบบบุคคลแห่งการให้ ซึ่งแม้ว่าฟีเนย์จะจากโลกนี้ไปแล้วในปี 2016 แต่ผลแห่งความใจบุญยังคงติดอันดับมาจนถึงปี 2017 
         ผลของการให้ ก่อให้เกิดพลังมากมายมหาศาล นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงและเกิดผลกระทบทางบวกได้อย่างกว้างขวาง การให้ทำให้พบกับความดีและมีความสุข โดยเฉพาะการเลือกที่จะ ‘ให้’ ในสิ่งที่ก่อให้เกิดประโยชน์เพื่อส่วนรวมมากกว่าส่วนตน
 

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com

Catagories: