แนวโน้มโลก 2050 (ตอนที่ 8) : อิทธิพลชนชั้นกลาง


แหล่งที่มาของภาพ : http://img-cdn.jg.jugem.jp/389/2679777/20141018_731587.jpg

ในปี 2010 OECD และ Wolfensohn Center for Development ของสถาบัน Brookings รายงานว่า ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา กำลังซื้อของคนอเมริกาถือได้ว่าเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลก แต่ความผันผวนทางเศรษฐกิจในประเทศช่วงหลายปีที่ผ่านมาทำให้บทบาทของสหรัฐอเมริกาในเศรษฐกิจโลกลดลง ในทางตรงกันข้าม การเติบโตของชนชั้นกลางในเอเชียตลอดช่วงที่ผ่านมาได้ส่งผลให้ชนชั้นกลางกลายเป็นพลังเศรษฐกิจใหม่ของโลก จนมีการคาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้า ชนชั้นกลางเหล่านี้จะกลายเป็นกลไกหลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกในอนาคตแทนสหรัฐอเมริกา คำถามที่น่าสนใจคือ ผลกระทบและอิทธิพลทางเศรษฐกิจอันเนื่องจากการขยายตัวของกลุ่มชนชั้นกลางนี้จะเป็นอย่างไร? นัยยะต่อประเทศไทยมีอะไรบ้าง? และไทยควรเตรียมความพร้อมในเรื่องนี้อย่างไร?

 
OECD Development Center ให้นิยามของชนชั้นกลาง (Middle Class) ว่าเป็นผู้บริโภคหรือคนที่มีค่าใช้จ่ายรายวันระหว่าง 10-100 เหรียญสหรัฐฯ (ในเทอมของ Purchasing Power Parity ปี 2005) นอกจากนี้ยังหมายถึงครัวเรือนที่มีรายได้ต่อปีระหว่างร้อยละ 50-100 ของค่าเฉลี่ยรายได้รวม (Mean Gross Income) หรือครัวเรือนที่มีรายรับคงเหลือสุทธิ (Discretionary Income) ต่อปี มากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ (Disposable Income) หรือ ครัวเรือนที่มีรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 10,000 เหรียญสหรัฐฯต่อปี ทั้งนี้ในกลุ่มชนชั้นกลาง สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มชนชั้นกลางทั่วไป (Mass Middle Class) และ กลุ่มชนชั้นกลางระดับสูง (Upper Middle Class)
ชนชั้นกลางมีความสำคัญในทางเศรษฐกิจเพราะ กลุ่มคนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายด้านการบริโภค และการลงทุนในทุนมนุษย์ผ่านการศึกษาซึ่งมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว กลุ่มชนชั้นกลางจึงเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศและของโลก โดยเฉพาะในอนาคตที่กลุ่มคนชนชั้นกลางจะมีกำลังซื้อหรือความสามารถในการใช้จ่ายมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดภายในประเทศเติบโตมากขึ้น จนเกิดเป็นตลาดชนชั้นกลาง นอกจากนี้ รายได้ของรัฐบาลในประเทศกำลังพัฒนาจะได้รับผลประโยชน์จากผู้บริโภคกลุ่มใหม่ที่ย้ายจากเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการมายังเศรษฐกิจแบบทางการ ผ่านภาษีที่จัดเก็บได้คนกลุ่มนี้ ดังนั้น การเพิ่มขึ้นของชนชั้นกลางจึงมีผลโดยตรงต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างวงจรแห่งความรุ่งเรือง (Virtuous Circle) 
 
จากข้อมูลของสถาบัน Brookings คาดการณ์ว่า ในปี 2050 จะมีชนชั้นกลางกว่า 6 พันล้านคนทั่วโลก และคนกลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มตลาดใหม่ของโลกอนาคต โดยมากกว่าครึ่งของคนชนชั้นกลางเหล่านี้จะอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาแถบเอเชียแปซิฟิก โดยเฉพาะอินเดียและจีน Brooking ยังรายงานต่อไปว่า นับจากปี2009 ถึงปี 2030 จำนวนชนชั้นกลางทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นจาก 1.845 พันล้านคน เป็น 4.884 พันล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 165 โดยมีสัดส่วนชนชั้นกลางในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่อทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 28 เป็นร้อยละ 66 ทั้งนี้ เอเชียแปซิฟิกเป็นเพียงภูมิภาคเดียวของโลกที่จะมีอัตราการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง (ยกเว้นประเทศญี่ปุ่น) 
Goldman Sacks คาดการณ์ว่าในปี 2050 ประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีนจะเป็นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของโลก โดยเฉพาะประเทศจีนและอินเดีย เนื่องจากมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะจากชนชั้นกลางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มประเทศกำลังโตใหม่อย่าง The Next Eleven ซึ่งประกอบไปด้วย ประเทศบังกลาเทศ อียิปต์ อินโดนีเซีย อิหร่าน เม็กซิโก ไนจีเรีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ตุรกี และเวียดนาม ซึ่ง Goldman Sacks คาดการณ์ว่าจะมีกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ (New Middle Class) เกิดขึ้นจำนวนมากและจะเป็นแหล่งกำลังแรงงานแหล่งใหม่ของโลก 
 
สำหรับประเทศไทยนั้น Euromonitor International คาดการณ์ว่า ในปี 2020 จะมีจำนวนชนชั้นกลางเพิ่มขึ้น โดยระบุว่า ครัวเรือนที่จะมีรายได้มากกว่า 15,000 เหรียญสหรัฐจะมีจำนวนถึง 6 ล้านครัวเรือน โดยมีการระบุว่า พฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มชนชั้นกลางในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสำหรับสมาชิกในครัวเรือนประมาณร้อยละ 30 ซึ่งอยู่ใน 5 อันดับแรกของค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนี้กลุ่มชนชั้นกลางให้ความสนใจเกี่ยวกับบ้าน คือ การซื้อบ้านหลังแรก การซ่อมบ้าน การตกแต่งบ้าน มากกว่า การท่องเที่ยว การทานอาหารนอกบ้าน หรือการซื้อรถ และสาเหตุที่คนกลุ่มนี้ให้ความสำคัญกับบ้าน เป็นเพราะโดยเฉลี่ยยังมีอายุไม่มาก ส่วนใหญ่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยมาไม่นาน กำลังเริ่มต้นชีวิตครอบครัว เพิ่งแต่งงาน และบางครอบครัวเพิ่งมีลูก 
 
การขยายตัวของชนชั้นกลางในประเทศอาจหมายถึงศักยภาพและพลังทางเศรษฐกิจของคนกลุ่มนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ความต้องการและความสนใจของคนกลุ่มนี้ก็มีความเฉพาะเจาะจงตามธรรมชาติทางเศรษฐกิจและสังคมดังที่ได้กล่าวไปแล้ว คำถามที่ต้องขบคิดต่อไปคือ ประเทศไทยควรจะมียุทธศาสตร์ขับเคลื่อนประเทศอย่างไรผ่านการส่งเสริมพลังอำนาจทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มชนชั้นกลางจึงจะเหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประเทศในระยะยาว และสอดคล้องกับแนวโน้มโลกที่จะเกิดขึ้น และช่วยนำพาประเทศไปสู่อนาคตที่มั่งคงและยั่งยืน
 
ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com