เด็กไทย... คณิตฯ-วิทย์ ร่วง
วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างความก้าวหน้าและเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ โดยปัจจุบันประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญและเร่งเครื่องพัฒนาองค์ความรู้และกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอย่างมาก
ขณะที่ พื้นฐานด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยอยู่ในระดับต่ำ ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) พบว่า คะแนนสอบของเด็กไทยทุกวิชา โดยเฉพาะวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ยไม่ถึง 50 คะแนน และในวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ เป็น 2 วิชาที่มีคะแนนต่ำสุด โดยผลสอบ A-NET ประจำปีการศึกษา 2552 คณิตศาสตร์ 2 เฉลี่ย 22.64 คะแนน วิทยาศาสตร์ 2 เฉลี่ย 29.38 คะแนน ส่วน ผลสอบ O-NET ปีการศึกษา 2551 พบว่า ระดับ ป.6 วิชาคณิตศาสตร์ เฉลี่ย 43.76 และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 51.68 ระดับ ม.3 คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 34.56 และวิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 39.388 ระดับ ม.6 คณิตศาสตร์ เฉลี่ย 30.64 และ วิทยาศาสตร์ เฉลี่ย 33.65
เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลให้ทักษะทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของเด็กไทยตกต่ำคือ ภาวะขาดแคลนครู จากการศึกษาสภาวะขาดแคลนครู คณาจารย์ และบุคลากรทางการศึกษา โดยสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (2550) พบ มีปัญหาขาดแคลนครู คณาจารย์ทุกระดับการศึกษา โดยสาขาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์อยู่ใน 3 อันดับแรกที่ขาดแคลนมากที่สุด คือ ขาดอยู่ 8,305 คน และ 7,878 คน ตามลำดับ ประกอบกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า ปีที่ผ่านมา มีครูวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์เข้าโครงการเออร์ลี่รีไทร์จำนวนมาก อีกทั้งสถาบันอุดมศึกษามีกำลังผลิตบัณฑิตสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีน้อยมาก พบว่า สถาบันอุดมศึกษาผลิตบัณฑิตสาขาสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ ในสัดส่วนสูงกว่าสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในสัดส่วน 30: 70
ดังนั้น จึงต้องเร่งเพิ่มความสามารถทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้เด็กไทย โดยใช้มาตรการดำเนินงานร่วมกับภาคีต่าง ๆ อย่างบูรณาการ โดยเฉพาะเรื่องปัญหาการขาดแคลนครูวิทย์-คณิตฯ ไม่ว่าจะเป็น การจัดระบบครูคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ 1 คน สอนได้หลายโรงเรียน เช่น ครูวิทย์-คณิตฯ 1 คนให้สอนเพียงระดับชั้นเดียว แต่เวียนสอนในโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียงที่ขาดครูวิทย์-คณิตฯได้ การสนับสนุนชุดการสอน และการพัฒนา-ฝึกอบรมศักยภาพความสามารถในการสอนของครูวิทย์-คณิตฯ อย่างเข้มข้น การพัฒนาระบบการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพครูวิทย์-คณิตฯ ตามกลไกตลาด โดยเปิดให้มีหน่วยฝึกอบรมจากภายนอกที่ได้มาตรฐาน และเชี่ยวชาญเฉพาะ ให้เกิดจำนวนมากขึ้น และกระจายทั่วประเทศ โดยไม่จำเป็นต้องไปที่มหาวิทยาลัยราชภัฎฯ หรือหน่วยของกระทรวงศึกษาธิการเท่านั้น การเพิ่มศักยภาพเขตพื้นที่การศึกษาให้มีความสามารถจัดสรรและใช้ทรัพยากรร่วมกันในการจัดการเรียนการสอน การสนับสนุนการรวมกลุ่มครูวิทย์-คณิตในพื้นที่อย่างเข้มแข็ง เพื่อและเปลี่ยนความเห็น การพัฒนาความรู้ สร้างขวัญกำลังใจ และเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสู่หน่วยบริหาร และประการสำคัญการให้ผลตอบแทนครูวิทย์-คณิตฯ ตามกลไกตลาด โดยให้เงินเดือนและสวัสดิการที่สูงเทียบเคียงกับภาคเอกชน
** นำมาจากหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ.2552