AIMMI Model เพื่อการขับเคลื่อนคนในองค์กร

“ขอเสนอ AIMMI Model ซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนบุคคล ที่เชื่อมอารยมหาพลัง และอารยพลานุภาพ มายังตัวบุคคล เพื่อให้พลังขับเคลื่อนส่งต่อมายังบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความจำเป็นต่อความสำเร็จในทุกงานและทุกระดับ 

มนุษย์หากมีแรงขับเคลื่อนก็สามารถทำได้ทุกสิ่ง แรงขับเคลื่อนของมนุษย์มีความเป็นกลาง หากรู้จักนำมาใช้ในทางที่ดี ก็จะเป็นประโยชน์แต่หากใช้ในทางที่ผิด ก็จะสร้างปัญหาแก่ตนเองและสังคม ดังนั้นหากเราเข้าใจว่า อะไรเป็นปัจจัยและกลไกที่สามารถขับเคลื่อนคน เราย่อมสามารถจะบริหารตนเองและผู้อื่น ให้ทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้โดยไม่จำกัด

ผมได้นำเสนอแนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับการขับเคลื่อนคนหลายแนวคิด เช่น การขับเคลื่อนตัวเอง ต้องมี อารยมหาพลัง ได้แก่ ความรัก ความศรัทธา และความหวัง

ส่วนการขับเคลื่อนคนอื่น ต้องใช้ อารยพลานุภาพ ได้แก่ อำนาจ (บังคับ ฝืนใจ) อิทธิพล (จูงใจ เคลื่อนใจ) ศรัทธา (เชื่อใจ วางใจ) และบารมี (ดลใจ บันดาลใจ) โดยทั้งสองแนวคิดนี้อธิบายปัจจัย (What) ที่ขับเคลื่อนตัวเองและคนอื่น

ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอ AIMMI Model ซึ่งเป็นกลไก (How) ในการขับเคลื่อนบุคคล เป็นกลไกที่เชื่อมอารยมหาพลัง และอารยพลานุภาพ มายังตัวบุคคล เพื่อให้พลังขับเคลื่อนส่งต่อมายังบุคคลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความจำเป็นต่อความสำเร็จในทุกงานและทุกระดับ ทั้งปัจเจก ครอบครัว องค์กร ชุมชน และประเทศชาติ

1. ความหมายของ AIMMI Model
AIMMI Model เป็นแบบจำลองที่อธิบาย กระบวนการเคลื่อนใจคน ซึ่งประกอบด้วย 5 องค์ประกอบ ที่สอดประสานและเชื่อมโยงกัน ดังนี้

  • เป้าทะยานใจ (Aspiration) มาจากรากศัพท์ที่หมายถึง ความปรารถนาอย่างแน่วแน่มั่นคง เพื่อเป้าหมายที่สูงกว่า เป้าทะยานใจเกิดจาก 3 องค์ประกอบหลัก คือ เป้าหมาย (goal) ช่องว่างระหว่างสภาวะปัจจุบันกับเป้าหมาย (gap) และ ความปรารถนาอย่างแน่วแน่มั่นคงที่จะปิดช่องว่างที่มีอยู่
  • แรงบันดาลใจ (Inspiration) มาจากคำว่า inspirit ซึ่งประกอบด้วย in (ใน) และ spirit (จิตวิญญาณ) หรือหมายถึง การระบายลมปราณเข้าไป การทำให้มีชีวิต การใส่จิตวิญญาณเข้าไป หรืออาจสรุปได้ว่า แรงบันดาลใจ คือ แรงผลักจากภายในออกมาภายนอก
  • แรงจูงใจ (Motivation) ความหมายรากศัพท์เดิมนั้น หมายถึง ขับเคลื่อน (to move) หรือ สิ่งที่ขับเคลื่อนบุคคลให้ทำกิจกรรมบางอย่าง ผมจึงนิยามแรงจูงใจว่า เป็นแรงดึงจากภายนอก (pulling force) มีอิทธิพล จูงใจ หรือ บังคับให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งมักเป็นเงื่อนไขหรือสภาวะภายนอกที่บังคับหรือจูงใจให้ต้องทำ หรือไปยับยั้งพฤติกรรมที่จะแสดงออก
  • มูลเหตุแห่งใจ (Motive) หมายถึง ความต้องการเชิงนามธรรมภายในจิตใจที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงพฤติกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น เหตุผลของการกระทำ สิ่งที่ให้วัตถุประสงค์และทิศทางของพฤติกรรม
  • สิ่งประสงค์ล่อใจ (Incentive) หมายถึง การกระตุ้น (stimulating) ผมนิยาม Incentive ว่า เป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม เป็นรางวัลที่กระตุ้นให้คนทำสิ่งต่าง ๆ เช่น เงินทอง ทรัพย์สิน ความร่ำรวย ตำแหน่ง หน้าที่การงาน สวัสดิการ สุขภาพดี การพักผ่อน เป็นต้น


2. เหตุผลที่ AIMMI ช่วยให้สำเร็จในการเคลื่อนคน
AIMMI มีความจำเป็นต่อการเคลื่อนคนให้สำเร็จ ทั้งการสร้างตัว สร้างครอบครัว สร้างชุมชน สร้างองค์กร และสร้างชาติ โดย AIMMI นั้นเป็นกลไกการขับเคลื่อนคนครบ 3 มิติ คือ

  • เป้าหมาย หรือสิ่งที่ต้องการให้เกิดขึ้นจากการกระทำ เป็น “แรงปรารถนา” ที่จะทำให้สำเร็จตามเป้าหมาย นั่นคือ เป้าทะยานใจ (Aspiration)
  • กระบวนการ ในการเคลื่อนคนให้กระทำบางสิ่ง เป็น “แรงขับ” คือ แรงผลัก และแรงดึง ให้กระทำ ซึ่งก็คือ แรงบันดาลใจ (Inspiration) และ แรงจูงใจ (Motivation)
  • ผลตอบแทน หรือสิ่งตอบแทนจากการกระทำ เป็น “แรงกระตุ้น” เพื่อให้กระทำ ซึ่งก็คือ มูลเหตุแห่งใจ (Motive) และ สิ่งประสงค์ล่อใจ (Incentive)

การขับเคลื่อนคนหรือขับเคลื่อนตนเอง จนประสบความสำเร็จ จะต้องมีครบทั้ง 3 มิติ ที่สอดประสานกัน เพราะ ถ้ามีแต่ เป้าหมาย แต่ขาดกระบวนการ & ผลตอบแทน (Realization only) อาจจะไปไม่ถึงเป้าหมาย เพราะคนไม่มีแรงกระตุ้น ไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการทั้งทางรูปธรรมและนามธรรม ไม่มีการจัดสภาพแวดล้อมที่จูงใจให้กระทำ หรือไม่มีแรงบันดาลใจที่ผลักดันจากภายใน

ถ้ามีแต่ ผลตอบแทน แต่ขาดเป้าหมาย & กระบวนการ (Action only) อาจจะขยันผิดทาง เพราะขาดเป้าหมาย เปรียบเสมือน มนุษย์เงินเดือนที่ทำงานไปเรื่อยๆ ขาดเป้าหมายและกระบวนการ เพื่อขับเคลื่อนให้ทำงานบางอย่าง จนประสบความสำเร็จ

ขณะที่ ถ้ามีแต่ กระบวนการ แต่ขาดเป้าหมาย & ผลตอบแทน (Direction only) อาจทำได้เพียงระยะสั้น และหมดไฟในที่สุด แม้มีกระบวนการขับเคลื่อนที่เกิดจากแรงบันดาลใจ (Inspiration) เช่น ความเชื่อว่าทำได้ และแรงจูงใจ (Motivation) อันเกิดจากแรงดึงจากปัจจัยภายนอก

แต่ถ้าขาดเป้าหมายจะทำได้ไม่นาน แรงบันดาลใจอาจหมดไปได้ และแรงจูงใจ (Motivation) อาจถดถอย เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน และถ้าขาดผลตอบแทน จะขาดแรงกระตุ้นให้มีกำลังใจทำงานต่อเนื่อง เพราะคนไม่ได้รับการตอบสนองความต้องการ

3. แนวทางการประยุกต์ใช้ AMMI Model ในการเคลื่อนคนในองค์กร

  • เข้าใจ AIMMI ของผู้ร่วมองค์กร องค์กรควรมีข้อมูลว่า พนักงานในองค์กรแต่ละคนมี AIMMI อย่างไร เพราะทำให้ทราบว่า อะไรเป็นกลไกขับเคลื่อนใจที่สำคัญของแต่ละคน และควรบริหารการทำงานของบุคลากรแต่ละคนอย่างไร จึงจะเป็นผลดีที่สุด โดยอาจวัด AIMMI ของบุคลากรตั้งแต่การรับสมัครคนเข้าทำงาน ผ่านการตั้งคำถามในแบบสอบถามและการสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกคนที่มี AIMMI สอดคล้องกับเป้าหมายและระบบขององค์กรมากที่สุด และองค์กรควรมีการวัด ตรวจสอบ และประเมิน AIMMI ของพนักงานอย่างต่อเนื่อง เพราะกลไกขับเคลื่อนคนอาจเปลี่ยนแปลงไป ตามสถานการณ์ และบริบทชีวิตและงานของแต่ละคน
  • ทำให้เป้าหมายส่วนตัวกับเป้าหมายองค์กรสอดคล้องกัน องค์กรจะสร้างผลลัพธ์ได้สูงหากสามารถเชื่อมโยงเป้าหมายองค์กรให้เข้ากับเป้าหมายส่วนบุคคลของพนักงานได้ เพราะพนักงานจะมีแรงปรารถนาในการทำงานที่สนับสนุนเป้าหมายขององค์กร เช่น หากเป้าหมายส่วนตัวของพนักงานบางคน คือ การได้เดินทางรอบโลก เราควรวางตำแหน่งให้เขาได้มีโอกาสทำงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ หรือ หากเป้าหมายส่วนตัวเขา คือ เป็นเจ้าของธุรกิจ อาจเปิดโอกาสให้ได้ทำงานในแผนกที่มีการพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อให้มีโอกาส spinoff ออกไปเป็นบริษัทลูก เป็นต้น

แต่สำหรับพนักงานที่ไม่มีเป้าหมายส่วนตัวที่ชัดเจน อาจจูงใจให้เขารับเอาเป้าหมายองค์กรเข้ามาเป็นเป้าหมายของตนเอง โดยองค์กรควรกระตุ้นอย่างต่อเนื่องให้พนักงานสามารถจดจำเป้าหมายขององค์กรได้ เช่น เขียนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กรให้เห็นได้ชัดเจน หรือจัดให้มีการปฏิญาณวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมองค์กรทุกวัน เป็นต้น

  • ออกแบบกลไกที่สนับสนุน AIMMI เพื่อองค์กร โดยปกติ มนุษย์มี AIMMI ที่แตกต่างกัน การจัดระบบขับเคลื่อนพนักงานที่มีกลไกขับเคลื่อนใจที่แตกต่างกัน โดยไม่ทำให้เกิดความรู้สึกแบ่งแยกหรือเลือกที่รักมักที่ชัง ผู้นำองค์กรควรออกแบบวิธีการที่หลากหลายในการสร้างแรงจูงใจ การบันดาลใจ และการให้ผลตอบแทน เพื่อให้พนักงานมีโอกาสเลือกตามความต้องการของตนเอง หรือมีความยืดหยุ่นในการบริหารบุคลากรโดยลงรายละเอียดเฉพาะบุคคลมากขึ้น (Personalized HR) เป็นต้น

ในปัจจุบันที่โลกมีความซับซ้อนและมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวและตอบสนองความต้องการของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรประสบความสำเร็จ คือ การมีคนที่สามารถ (able) และ ยินดี (willing) ที่จะมีส่วนร่วมกับการดำเนินการขององค์กรในด้านต่างๆ ความเข้าใจเรื่อง AIMMI Model จะเป็นกุญแจสำคัญ ที่ทำให้ผู้นำองค์กรสามารถขับเคลื่อนคนให้มีความสามารถและมีความยินดีในการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จร่วมกันได้อย่างแท้จริง
 

แหล่งที่มา : cioworldbusiness.com
25/12/2566

แหล่งที่มาของภาพ : https://www.cioworldbusiness.com/wp-content/uploads/2023/12/AIMMI-Model-for-driving-people-in-the-organization-750x450.jpg 

 

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando