อนาคตน้ำท่วม กทม.วันนี้ป้องกันหรือยัง

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเด็นหนึ่งที่ ทั่วโลกต่างเริ่มหันมาให้ความสำคัญ คือ เรื่องสภาวะโลกร้อนที่นับวันจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ และจากการประชุมวิชาการระดับนานาชาติด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จัดขึ้นในกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งมีการพูดถึงในศตวรรษหน้าระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น และเร็วขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้อย่างน้อย 2 เท่า


หากย้อนกลับมามองที่ประเทศไทย มองเฉพาะในเมืองหลวง ldquo;กรุงเทพฯrdquo; ปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมจากการหนุนของน้ำทะเลเป็นไปได้สูง สิ่งที่สำคัญที่ภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญตั้งแต่ตอนนี้ คือ การวางมาตรการเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว เพื่อมิให้เกิดเหตุการณ์ว่าภาครัฐมิได้เตรียมพร้อมรับมือจนก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

แม้ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงแนวทางต่าง ๆ ที่จะนำมาแก้ไขปัญหาในพื้นที่บางขุนเทียนซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งของน้ำทะเล ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการทำทีกรอยน์ หรือไส้กรอกทราย ที่ถูกต่อต้านจากชาวบ้าน เพราะเกรงว่าจะก่อให้เกิดปัญหามากกว่าหากถุงทรายแตก โดยเสนอให้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านอย่างการทำเขื่อนไม้ไผ่ที่สามารถป้องกันคลื่นได้ แต่เขื่อนไม้ไผ่มีอายุการใช้งานที่สั้น แต่ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจดำเนินการใดอย่างจริงจัง

การป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดการน้ำทะเลที่หนุนสูงเข้ามา ทางแม่น้ำเจ้าพระยานั้น นับเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐและ กทม. ไม่ควรเพิกเฉย แต่จะสามารถทำให้สำเร็จด้วยดีนั้น ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เน้นการมีส่วนร่วม และหนุนเสริม การทำงานของเครือข่าย ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ระดับร่วมกันชี้ปัญหา ร่วมกันระดมความคิดหาทางออก จนถึงร่วมกันวางแผนและร่วมกันดำเนินการจนสำเร็จ

การมีส่วนร่วมของประชาชน อาจเริ่มต้นโดยการจัดให้มีการวางแผนหรือการประชุมการดำเนินการเพื่อหาทางออก และการให้ภาคประชาชนได้มีโอกาสในการกำหนดนโยบาย ผ่านการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม ภาคประชาชนและกทม. ซึ่งจะเป็นการทำงานร่วมกันในโครงการนั้น ๆ ซึ่งภาคประชาชน สามารถตรวจสอบการทำงานและควบคุม การใช้งบประมาณ และควบคุมการทำงานของเจ้าหน้าที่

แม้จะมีแนวทางในการป้องกันปัญหาต่าง ๆ เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ การสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกให้กับประชาชนในเรื่องเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ การเห็นคุณค่าของธรรมชาติ เพื่อเป็นแนวทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนในระยะยาว ซึ่งน่าจะเป็นแนวทางเชิงรุกมากกว่า การมาคอยตั้งรับกับปัญหาที่จะเกิดขึ้น

** นำมาจากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ตีพิมพ์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 9 เมษายน พ.ศ.2552

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2009-04-09