พัฒนา "ทักษะการฟัง"

ทักษะการฟังเป็นทักษะสำคัญที่จำเป็น ต้องเรียนรู้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะการสื่อสารด้านอื่น ๆ เช่น ทักษะการพูด อ่าน เขียน ฯลฯ ทักษะการฟังที่ดีนำมาซึ่งความสำเร็จในชีวิต เนื่องจากเป็นพื้นฐานสำคัญของทักษะการเข้าสังคม เพราะจะสามารถลดความเข้าใจผิด ความขัดแย้งในการปฏิสัมพันธ์กับคน นอกจากนี้การพัฒนาทักษะการฟังส่งผลต่อการพัฒนาในด้านสติปัญญา ในแง่ของการฝึกใช้ความคิด การจับประเด็น ฝึกความจำ และฝึกฝนการจดจ่อแน่วแน่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แต่ที่ผ่านมาพบว่า คนในสังคมไทยจำนวนมาก มองว่าทักษะการฟังเป็นเรื่องที่สามารถพัฒนาขึ้นมาได้เองตามธรรมชาติจึงไม่ต้องดิ้นรนฝึกฝนมากเท่ากับทักษะการสื่อสารด้านอื่น ๆ จึงมักละเลยที่จะฝึกทักษะด้านการฟังนี้ให้กับเด็กไปอย่างน่าเสียดาย เมื่อเทียบกับทักษะในด้านการพูด อ่าน เขียน ที่ครูให้น้ำหนักความสำคัญในการฝึกฝนผู้เรียน ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วทักษะการฟัง เป็นทักษะที่จำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเช่นเดียวกัน โดยควรฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ เพื่อพัฒนาทักษะดังกล่าวให้เป็นอุปนิสัยประจำตัวที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อชีวิตครอบครัวและชีวิตการทำงานของผู้เรียนต่อไปในอนาคต

สอนเด็กให้เป็นนักฟังที่ดีได้อย่างไร

เริ่มจากครูเป็นนักฟังที่ดีนั่นคือครูต้องเรียนรู้ที่จะฟังเด็กเมื่อเด็กต้องการสื่อสารหรืออยากเล่าเรื่องอะไรให้ครูฟังครูไม่ควรแสดงความรำคาญไม่อยากฟังหรือฟังแบบขอไปที โดยไม่ได้สนใจในสิ่งที่เด็กพูดจริง ๆ เปลี่ยนเรื่องพูดหรือคุยเรื่องอื่นแทรกขัดจังหวะ ฯลฯ รวมทั้งครูควรระวังพฤติกรรมของตนในขณะสื่อสารกับคนอื่น เช่น ขณะคุยโทรศัพท์ขณะที่ครูคุยกันเอง ฯลฯซึ่งจะส่งผลต่อการลอกเลียนแบบของเด็กโดยปริยาย นอกจากนี้ในการสื่อสารเรื่องใด ๆ กับเด็ก ครูไม่ควรคิดเอาเองว่าเด็กคงเข้าใจเหมือนอย่างที่ตนเองเข้าใจ แต่ควรสื่อสารออกไปอย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพมากที่สุดเพื่อให้มั่นใจว่าเด็กนั้นเข้าใจในสิ่งที่ตนพูดจริง ๆ ดังคำที่กล่าวว่า "Say what you mean, and mean what you say" นั่นเอง

สอนให้อดทนในการฟัง การฟังอย่างมีประสิทธิภาพนั้นเป็นสิ่งที่สามารถสอนและฝึกฝนกันได้ แต่พื้นฐานสำคัญอันดับแรกสุดในการฝึกฝนดังกล่าวนั้น คือ การฝึกฝนความอดทนในการเป็นผู้ฟังที่ดี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วความอดทนรอคอยของเด็กในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจะมีน้อยกว่าผู้ใหญ่ ดังนั้น ครูจึงควรฝึกให้เด็กเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ฟังด้วยความอดทนโดยไม่เกิดความเบื่อหน่ายหรือถูกเรื่องอื่นดึงดูดความสนใจไปเสียก่อน

ภาคปฏิบัติในการฝึกฝนนั้น ครูสามารถฝึกเด็กได้โดยใช้กิจกรรมที่เรียกว่า sit time ในการกำหนดให้มีช่วงเวลาหนึ่งในแต่ละวันให้เด็กได้ตั้งใจฟังสิ่งที่ครูสอน ฝึกฟังเทปบทเรียนเทปนิทาน หรือ หนังสือเสียง

สอนมารยาทการเป็นผู้ฟัง เป็นหลักการสำคัญในการสอนให้เด็กเรียนรู้ที่จะให้เกียรติผู้พูด ซึ่งเป็นการฝึกฝนให้เด็กไม่เป็นคนที่เย่อหยิ่งหรือเอาตนเองเป็นศูนย์กลางคิดว่าความคิดของตนดีกว่าจนไม่ยอมรับฟังผู้ใด จนเป็นเหตุให้เกิดการปิดกั้นการเรียนรู้จากแหล่งต่าง ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย รวมทั้งเป็นการสร้างสัมพันธ์อันดีต่อทั้งผู้พูดและผู้ฟัง ทำให้การสนทนานั้นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์และจบลงด้วยดี

ในภาคปฏิบัตินั้น ครูควรสอนให้เด็กให้เรียนรู้จักการมีมารยาทในการฟังด้วยการ

...สอนให้เด็กสบตาผู้พูดเสมอไม่เดินไปเดินมา ลุกนั่งหรือย้ายที่นั่งไปมา วิ่งเล่นไปมาในขณะที่กำลังฟังผู้อื่นพูดกับตน

...สอนให้เด็กไม่พูดขัดจังหวะหรือพูดแทรกในขณะที่อีกฝ่ายยังพูดไม่เสร็จโดยหากต้องการถามอะไรให้จำหรือจดประเด็นเอาไว้ก่อน หรือหากกลัวลืมจริง ๆ ให้ยกมือขึ้นและกล่าวขออนุญาตถามด้วยน้ำเสียงสุภาพ สอนให้เด็กรู้จักจังหวะของการ พูด/ฟัง ถาม/ตอบ ในการสื่อสาร

...สอนให้เด็กรู้จักเลือกฟังในสิ่งที่สร้างสรรค์เป็นประโยชน์ ไม่ฟังคนอื่นนินทากัน หรือพูดจาลามกหยาบโลนโดยให้ขออนุญาตหรือเดินหลบออกมาอย่างสุภาพ

สอนให้ฟังอย่างกระตือรือร้น ไม่เพียงแต่มีมารยาทในการเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยท่าทีตั้งใจฟังอย่างจดจ่อ แต่การเป็นผู้ฟังที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องมีลักษณะแห่งความกระตือรือร้นอยู่ด้วย หรือที่เรียกว่า Active Listeningไม่ใช่แต่แสดงท่าทางภายนอกว่ากำลังฟังอยู่ แต่ในสมองต้องมีการทำงานถกเถียงและคิดไปด้วยอยู่ตลอดเวลา จะฟังแบบใจลอยคิดถึงเรื่องอื่นไม่ได้

โดยภาคปฏิบัติ ครูควรสอนให้เด็กตอบสนองการฟังทุกครั้ง เช่น เมื่อครูเรียกให้เด็กขานรับทันทีว่า "ผมกำลังมาครับ" หรือเวลาครูสอนอะไรให้เด็กแสดงท่าทีตั้งใจฟังและตอบรับ "ครับ/ค่ะ คุณครู" เป็นต้น เพื่อรู้ว่าเด็กกำลังฟังอยู่ รวมทั้งกระตุ้นให้เด็กตั้งคำถามย้อนกลับมาทุกครั้งหลังจากที่ครูพูดคุยสนทนากับเด็กเสร็จหรือพูดทวนสิ่งที่ได้ยินมาซ้ำอีกครั้งเพื่อเป็นการย้ำว่าสิ่งที่เด็กเข้าใจนั้นตรงกันกับสิ่งที่ครูพูดออกไปหรือไม่ เป็นต้น

สอนจับประเด็นโดยตั้งคำถามเพื่อวัดความสามารถในการฟัง
ความสามารถในการจับประเด็นเป็นตัวชี้ว่าการสื่อสารที่เกิดขึ้นนั้นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ผู้ส่งสารสามารถบรรลุเป้าหมายในการสื่อสารที่ต้องการไปยังผู้รับสารหรือไม่ ในภาคปฏิบัติหลังจากจบการพูดคุยกันแล้วทุกครั้ง ครูควรตั้งคำถามทวนซ้ำกับเด็ก เพื่อทดสอบว่าเด็กสามารถจับประเด็นในเนื้อหาที่ฟังไปได้หรือไม่ ตัวอย่างคำถามเช่น ในรูปแบบของ ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร เวลาใด และเด็กจะต้องทำอะไรต่อไป เป็นต้นรวมทั้งสามารถตั้งคำถามเพื่อให้เด็กได้คิดต่อยอด เช่น ถามความคิดเห็นของเด็กเกี่ยวกับเรื่องที่ได้ฟัง "หนูคิดว่าเรื่องนี้ใครผิด?" ... "หนูคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?" อันก่อให้เกิดประโยชน์ในการฝึกฝนทักษะการคิดให้เด็กได้อีกทาง รวมทั้งครูสามารถรู้จักเด็กเพิ่มขึ้น ผ่านทางแนวคำตอบที่ได้รับด้วยเช่นกัน

การพัฒนาทักษะการฟังนั้นเป็นทักษะที่ต้องเรียนรู้ ฝึกฝนตั้งแต่วัยเยาว์ สร้างให้เป็นนิสัย โดยครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะการฟังควบคู่กับทักษะการอ่าน ทักษะการเขียน และทักษะการพูดอย่างสอดรับกัน อันเป็นพื้นฐานสำคัญในการเรียนรู้ของเด็ก
admin
เผยแพร่: 
การศึกษาวันนี้
เมื่อ: 
2008-02-07