การสอบกับการคอร์รัปชัน
Nikkei Asian Review ฉบับวันที่ 27 กรกฎาคม ถึง 2 สิงหาคม 2558 ได้ตีพิมพ์เรื่องราวการทุจริตในการสอบเพื่อสอบเข้าโรงเรียนแพทย์ในประเทศอินเดีย ประเด็นนี้กลายเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งน่าจะเป็นกรณีศึกษาสำคัญให้กับแวดวงการศึกษา และการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศไทยได้บ้างไม่มากก็น้อย
เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2558 เป็นวันสอบเตรียมแพทย์ของนักเรียนชาวอินเดียทั่วประเทศกว่า 600,000 คน มีนักเรียนถูกจับได้ว่าโกงระหว่างทำข้อสอบเกือบ 2,000 คน (ยังมีบางคนที่หลบหนีอยู่) และทางการได้สั่งนักเรียนจำนวน 50 คน ไม่ให้เข้าสอบ เพราะตรวจพบการครอบครองอุปกรณ์สื่อสารเทคโนโลยีระหว่างสอบ เช่น การใช้ปากกาสแกน (scan) กระดาษคำถาม แล้วส่งข้อมูลผ่านบลูทูธ (Bluetooth) ไปยังอุปกรณ์ปลายทาง ที่สามารถตอบคำถามและส่งคำตอบกลับไปยังนักเรียนได้ มีบางคนใช้นาฬิกาดิจิทัลที่ซ่อนกล้องกับบูลทูธไว้ หรือชุดชั้นในที่ติดไมโครชิพ ที่สามารถรับสายโทรศัพท์เข้าได้ โดยชิพเหล่านี้จะเชื่อมต่อกับหูฟังเล็กๆ เพื่อให้ผู้ข้อสอบได้ยินคำตอบ เป็นต้น
การโกงข้อสอบในประเทศอินเดียไม่ใช่สิ่งแปลกใหม่ เพราะทำอย่างแพร่หลายและทำมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี แต่ที่น่าตกใจคือ มีจำนวนนักเรียนที่ทุจริตมีเพิ่มมากขึ้น โดยมีการพยายามใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือสื่อสารทางเทคโนโลยีในการทุจริต รวมถึงมีการติดสินบนนักการเมือง เพื่อนำข้อสอบออกมาก่อนวันสอบจริง หรือขอเปลี่ยนสลับตัวผู้เข้าสอบ นอกจากนี้ ยังมีคนในครอบครัวให้การสนับสนุนการส่งโพยระหว่างทำการสอบด้วย การทุจริตอย่างเป็นกระบวนการ โดยมีผู้รู้เห็นเป็นใจตั้งแต่ครอบครัวของนักเรียน ตัวนักเรียน ผู้เกี่ยวข้องในสถานศึกษา ได้ปรากฏชัดเจนมากในเหตุการณ์ทุจริตครั้งนี้
ยิ่งไปกว่านั้น มีการทุจริตซื้อขายที่นั่งเพื่อเข้าเรียนที่โรงเรียนแพทย์ โดยราคาซื้อขายในระดับปริญญาตรี อยู่ที่ 5 ล้านรูปี (ประมาณ USD 80,000) ส่วนในระดับปริญญาโทราคาซื้อขายอยู่ระหว่าง 8 ล้านรูปี ถึง 25 ล้านรูปี เช่น หลักสูตรปริญญาโท คณะรังสีวิทยา มีการขายในราคา 20 ล้านรูปี เป็นต้น
มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุนี้ที่เป็นเช่นนี้ว่า เกิดจากการที่นักเรียนจำนวนมากในอินเดียอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ขาดการให้ความสำคัญ กับการอบรมคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐานเท่าที่ควร และในสังคมเอง มีมุมมองต่อความสำเร็จว่า เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจริงของเด็กแต่ละคน ประกอบกับการสนับสนุนของครอบครัวให้นักเรียนกระทำทุจริตด้วย
นอกจากนี้ ในรายงานผลการสอบเข้าโรงเรียนแพทย์พบว่า คนที่สอบได้และได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนจากครอบครัวมีฐานะหรือมีอำนาจในสังคม แต่แม้ว่าจะเป็นนักเรียนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มเดียวกัน ทว่า ผลการสอบไม่ได้แสดงถึงความสามารถและศักยภาพในการเรียนของนักเรียนอย่างแท้จริง เพราะ 1 ในกลุ่มคนที่ได้คะแนนสูงสุด 10 อันดับแรก ใช้เวลาเรียนเพื่อจบปริญญาตรีถึง 10 ปี ทั้งๆ ที่ควรเรียนจบภายใน 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตร และยังพบว่า แพทย์บางคนในโรงพยาบาลยังขาดทักษะ และไม่ได้รับการฝึกฝนหรือเตรียมตัวเพื่อดูแลคนไข้ได้ดีเท่าที่ควร
ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งการทุจริตในการสอบของนักเรียนเป็นจำนวนมาก และการร่วมรู้เห็นเป็นใจทุจริตของการนักการเมืองท้องถิ่น นายกรัฐมนตรีอินเดียได้ให้สัญญาว่า จะถอนรากถอนโคนเรื่องการคอร์รัปชัน โดยการเร่งตรวจสอบ และให้ศาลสูงตรวจสอบประเด็นการทุจริตครั้งนี้ ทั้งนี้ วิธีการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่คณะกรรมการจัดสอบได้ชี้แจงออกมาคือ ห้ามนำเครื่องมือสื่อสารทุกชนิดเข้าห้องสอบ ไม่ว่าจะเป็นมือถือ บูลทูธ หูฟัง ไมโครโฟน และสิ่งของอื่นๆ เช่น กระเป๋าเงิน กระเป๋าถือ กล้อง แว่นตาที่ไม่ใช่แว่นสายตา เช่น แว่นตากันลม (goggles) รวมไปถึงเครื่องประดับต่างๆ เช่น ต่างหู สร้อยคอ จี้ นาฬิกาข้อมือ
นอกจากนี้ ยังกำหนดรูปแบบการแต่งกาย คือ เน้นเสื้อผ้าสีสว่าง ไม่มีกระดุมเม็ดใหญ่ ไม่ติดเข็มกลัดหรือตราสัญลักษณ์เครื่องหมายใดๆ และต้องใส่รองเท้าเปิด เช่น รองเท้าแตะ เพราะสิ่งต่างๆ ที่กล่าวมานั้น สามารถใช้เป็นที่ซ่อนของไมโครชิพ หรือไมโครโฟนได้ หากตรวจพบจะถูกปรับ ชิ้นละ 2,000,000 รูปี มาตรการเหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการทำแบบ ?วัวหายแล้วล้อมคอก?
เมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย การทุจริตโกงข้อสอบยังคงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะทุจริตในระดับโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือการสอบคัดเลือกข้าราชการ รูปแบบการโกงข้อสอบที่พบในไทย มีตั้งแต่การลอกข้อสอบ จดโพย จดสูตรเข้าห้องสอบ รวมไปถึงการติดสินบนเจ้าหน้าที่ เพื่อให้รับเข้าเรียน หรือการว่าจ้างให้คนอื่นเข้าสอบแทน ซึ่งในระยะหลังได้มีการใช้เครื่องมือสื่อสารประกอบการทุจริตมากขึ้นด้วยเช่นเดียวกับกรณีของอินเดีย
การทุจริตในการสอบของเด็กในวันนี้ สะท้อนถึงคุณภาพของผู้ใหญ่ในอนาคต หากผู้ปกครองและครอบครัวยอมรับการโกงของเด็กตั้งแต่วัยเยาว์แล้ว ก็เท่ากับเป็นการกำลังปลูกค่านิยมที่ผิดให้แก่เด็ก เมื่อเด็กเหล่านี้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ เขาจะโตไปพร้อมกับความเชื่อว่า การได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการโดยการทุจริตนั้นไม่ผิด หรือถึงผิดก็เป็นสิ่งที่ไม่ร้ายแรง เป็นเรื่องน่าเศร้ายิ่งขึ้นที่เราเห็นพ่อแม่ผู้ปกครองยินดีและสมัครใจจ่ายเงินอย่างไม่ถูกต้อง เพื่อแลกกับโอกาสทางการศึกษาของลูกหลานตนเอง
ในวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ ที่จะมาถึงในวันที่ 6 กันยายนนี้ สังคมไทยควรตระหนักว่า การสร้างจิตสำนึกให้กับบุคลในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ข้าราชการ หน่วยงานทางการศึกษาสถาบันการศึกษาของไทย พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู อาจารย์ รวมถึงตัวนักเรียนนักศึกษาเอง เป็นสิ่งพื้นฐานที่ควรทำ โดยเริ่มตั้งแต่เด็ก เริ่มตั้งแต่การไม่ยอมรับว่าการโกงข้อสอบ ลอกข้อสอบ เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ และควรแสดงออกเป็นการกระทำควบคู่กับมาตรการที่บังคับใช้อย่างจริงจัง ทั้งการเข้มงวดเอาจริงเอาจังในการตรวจนักเรียน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
แหล่งที่มาของภาพ : http://news.tlcthai.com/wp-content/uploads/2015/02/219771-610x407.jpg
Catagories:
Post date:
Tuesday, 15 September, 2015 - 11:22
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,435 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,277 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,153 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 2,023 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,437 ครั้ง