จุดเริ่มต้น...นักคิดอย่างสร้างสรรค์

ปัจจุบันนี้ องค์กรการทำงานไม่น้อยส่งเสริมให้พนักงานคิดสร้างสรรค์ ด้วยการจัดสภาพแวดล้อมการทำงานที่เหมาะสม การไม่ติดยึดกับกฎระเบียบหยุมหยิม และชอบที่จะอนุญาตให้คนทำงานคิดและดำเนินงานของตนได้ ภายใต้เป้าหมายขององค์กรที่ยอมรับร่วมกัน โดยไม่ได้ออกคำสั่ง หรือบอกว่าแต่ละคนควรทำอะไร เมื่อไหร่ อย่างไร
ดังนั้นหากเราต้องการให้ทีมงานเป็นคนที่สร้างสรรค์ เราจึงต้องเริ่มต้นด้วยการสร้างทัศนคติของทีมงานให้เอื้อต่อการสร้างความคิดสร้างสรรค์ ในหนังสือ ldquo;การคิดเชิงสร้างสรรค์rdquo; ผมได้แนะนำ ldquo;ข้อห้ามrdquo; และ ldquo;ข้อปฏิบัติrdquo; เพื่อเป็นหลักการพัฒนานิสัยคิดให้เกิดขึ้น อาทิ
อย่าคิดแง่ลบ ต้องคิดแง่บวก
เราต้องมีพลังของความคิดแง่บวก โดยการฝึกตนเองให้มีทัศนคติแง่บวกต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นคุณค่าและสนุกสนานที่จะคิดต่อในความคิดที่คนอื่นๆ เห็นว่า เป็นไปไม่ได้ และไม่กลัวที่จะต้องเผชิญกับความยุ่งยาก ปัญหาที่ซับซ้อน หรือความคลุมเครือ
อย่าชอบพวกมากลากไป
คนทั่วไปมักจะไม่ค่อยกล้าคิดสร้างสรรค์ เพราะเกรงว่าความคิดแปลกใหม่ของตนนั้นจะได้รับการปฏิเสธ ดังนั้น การที่เราะพัฒนาตนเองเป็นนักคิดสร้างสรรค์ได้ เราควรพัฒนาความเชื่อมั่นในตนเอง เรียนรู้ที่จะกล้าหาญในการยืนยันความแตกต่างของตน เราต้องกล้าคิดแหวกวงเดิม ๆ ยอมเป็นพวก ldquo;หัวเดียวกระเทียบลีบrdquo; ดูบ้าง อย่ามัวแต่เป็น ldquo;พวกมากลากไปrdquo; ถ้าเรามั่นใจว่าความคิดใหม่ของเรานั้นสามารถใช้การได้ เราควรเดินหน้าเสนอความคิดเห็นของเราชักจูงให้คนเห็นว่ามันใช้การได้อย่างไร แม้ว่ามันดูเหมือนจะเป็นสิ่งเพ้อฝันที่เหลือเชื่อก็ตาม
อย่าปิดตนเอง เปิดรับประสบการณ์ใหม่
นักคิดสร้างสรรค์นั้นต้องมีใจปรารถนาที่จะทดลองความคิดใหม่ กระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ช่างสังเกตสิ่งรอบตัวอยู่เสมอ รับฟังข้อมูลข่าวสาร อ่านหนังสือนอกสาขาวิชาของตน เปิดรับความรู้หลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิทยาศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเป็นฐานความรู้ในการต่อยอดในการคิดสร้างสรรค์เรื่องต่าง ๆ ต่อไป
อย่ารักสบาย ต้องลงแรง
เราจำเป็นต้อง ldquo;ลงแรงrdquo; เพื่อการคิดสิ่งใหม่ ๆ ต้องยอมรับว่า การทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นนั้น ย่อมต้องใช้การออกแรงทางความคิด คนที่คิดอย่างสร้างสรรค์มีแนวโน้มที่จะปรารถนาที่จะก้าวต่อไปข้างหน้ามากกว่าที่จะหยุดอยู่กับที่ มีใจยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลว และจะยินดีเผชิญหน้ากับอุปสรรคตลอดระยะเวลาของการทำงาน จนกว่าจะสามารถเอาชนะได้
อย่ากลัวที่จะคิดแตกต่าง ต้องกล้าเสี่ยง
การที่เราจะเป็นคนที่คิดสร้างสรรค์ได้ เราจำเป็นต้องฝึกฝนลักษณะนิสัยของเราให้เป็นคนrdquo;กล้าเสี่ยงrdquo; กล้าท้าทายตนเองให้คิดสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ ไม่พึงพอใจในสภาพเดิมที่มีอยู่ ท้าทายตนเองให้คิดเสมอว่ามันน่าจะมีสิ่งที่ดีว่าเดิม เข้าท่ากว่าเดิม ใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิม สะดวกกว่าเดิม
อย่าหมดกำลังใจเมื่อไม่พบคำตอบ
การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์มักจะต้องใช้เวลา จึงต้องเป็นผู้ที่อดทนต่อปัญหาที่ยังมองไม่เห็นคำตอบ อดทนต่อความคิดที่ยังคลุมเครือของตนเอง และยังคงพยายามพิจารณาปัญหาที่ยากอย่างรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาคำตอบที่ดีที่สุดต่อไป
อย่าท้อใจ เรียนรู้จากความล้มเหลว
ความผิดพลาดแทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ผลลัพธ์ของความผิดพลาดที่เราทำ ไม่ควรนำมาซึ่งความท้อใจ แต่ควรนำมาซึ่งการเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น โดยตระหนักว่า ประสบการณ์ที่ไม่น่าพึงพอใจ ความล้มเหลว ยิ่งเป็นเหตุให้นำไปสู่การเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
อย่าทิ้งความคิดจนกว่าจะพิสูจน์
เราต้องเตือนตัวเองเสมอว่าความคิดเห็นต่างๆ ที่เราคิดขึ้นเอง หรือที่ได้รับมาจากคนอื่น แม้อาจจะยังใช้ไม่ได้ในขณะนี้ ยังอาจนำไปใช้ได้ในสถานการณ์อื่น หรือเวลาอื่นซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ทุกคำแนะนำมีผลดีเสมอถ้าเรารู้จักใช้อย่างเหมาะสม เราควรเอาข้อมูลเหล่านั้นเก็บไว้ในหัวก่อน โดยไม่รีบปฏิเสธโยนทิ้งไป และเมื่อได้เวลาเหมาะสมในอนาคต เราค่อยหยิบความคิดนั้นจากหิ้งความคิดในหัวมาใช้ใหม่
อย่ากลัวการเผยแพร่ผลงาน
เมื่อเรามีผลผลิตจากความคิดสร้างสรรค์ เราควรกล้าที่จะนำผลงานนั้นไปใช้แก้ปัญหาตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ และหากผลงานนั้นมีผลในระดับสังคม เราไม่ควรกลัวที่จะเผยแพร่ผลงานนั้นให้สังคมได้รับรู้ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราทำนั้นใช้การได้และก่อประโยชน์ต่อส่วนรวม
ทัศนคติที่ไม่ถูกต้องนับเป็นอุปสรรคสำคัญ ที่ทำให้ไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ได้ แม้จะรู้เทคนิควิธีการคิดสร้างสรรค์มากเพียงใด ดังนั้น จุดเริ่มต้นเราจึงจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขและเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการเป็นนักคิดสร้างสรรค์เสียก่อนเพื่อพัฒนาสู่การเป็นนักคิดที่สร้างสรรค์ที่มีประสิทธิภาพ ต่อไป
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์ไทยนิวส์
เมื่อ: 
2007-06-18