contract farming: โอกาสที่ชาวนาไทยอาจได้ประโยชน์จากต่างชาติ

เราคงต้องยอมรับว่าคนไทยนั้นมีเลือดรักชาติที่เข้มข้นประเทศหนึ่ง การขายทรัพย์สินในประเทศให้กับต่างชาติซึ่งแม้จะมีความเป็นกลางในทางเศรษฐศาสตร์ จึงกลับกลายเป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นกระแสข่าวที่ว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของไทยนำเศรษฐีจากประเทศแถบตะวันออกกลางไปชมการสาธิตทำนา เพื่อเป็นการ ldquo;เปิดให้ชมสินค้าrdquo; รวมทั้งแนวคิดการให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาทำนาในประเทศไทยนั้น จึงกลายเป็นประเด็นร้อนไปในบัดดล และตามมาด้วยกระแสต่อต้านและคำวิจารณ์ที่เผ็ดร้อนพรั่งพรูออกมามากมาย โดยมีประเด็นหลักร่วมกันคือ ldquo;การขายชาติrdquo;
ข้อวิจารณ์ว่า การให้ต่างชาติเป็นเจ้าของที่นาและทำนาเป็น ldquo;การขายชาติrdquo; นั้น เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะประเทศไทยมีนักลงทุนต่างชาติจำนวนมากเข้ามาถือครองที่ดินและทำกิจการต่าง ๆ แต่การต้อนรับนักลงทุนเหล่านั้นกลับไม่ถูกตราหน้าว่า ldquo;ขายชาติrdquo; และการอ้างว่า การทำนาเป็นวัฒนธรรมของไทยไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการนั้น อาจเป็นการเสียโอกาส เพราะในความเป็นจริง คนไทยจำนวนมากยินดีที่เห็นต่างชาติชื่นชมและยึดถือวัฒนธรรมไทย ยิ่งไปกว่านั้นในอดีตมีต่างชาติที่เข้ามาทำกิจการผลิตสินค้าเชิงวัฒนธรรมไทย แล้วทำให้สินค้านั้นเป็นที่รู้จักทั่วโลก ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ ผ้าไหมไทย
ดังนั้นหลักการแยกแยะว่า ควรให้ต่างชาติเข้ามาทำกิจการบางประเภทในประเทศไทยหรือไม่นั้น ควรจะพิจารณาจากผลประโยชน์และผลกระทบที่ประชาชนไทยจะได้รับ และในเมื่อคนกลุ่มใหญ่ของประเทศเป็นชาวนา การทำให้ชาวนาได้ประโยชน์สูงสุด โดยเฉพาะการทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น จึงน่าจะถือว่าเป็นการทำประโยชน์ของชาติได้
ทั้งนี้การที่ข้าวเปลือกที่ชาวนาขายได้มีราคาสูงขึ้นจะทำให้ชาวนามีรายได้สูงขึ้น ดังนั้นหัวใจของการช่วยชาวนาจึงน่าจะเป็นการทำให้ชาวนาขายข้าวเปลือกได้ราคาสูง โดยหลักการหนึ่งที่จะทำให้ราคาข้าวเปลือกที่ชาวนาขายสูงขึ้น คือ การมีผู้ซื้อข้าวเปลือกมาแย่งกันรับซื้อข้าวจากชาวนามากขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการทำให้ราคาข้าวเปลือกเพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและมีความยั่งยืน
เมื่อเรานำหลักการนี้ไปวิเคราะห์กระแสข่าวข้างต้น หากข่าวดังกล่าวเป็นลักษณะการขายที่นาให้ต่างชาติ จะไม่ทำให้มีจำนวนผู้ซื้อข้าวเปลือกมากขึ้น เพราะเมื่อต่างชาติเป็นเจ้าของที่นาเองแล้วจึงไม่ต้องไปซื้อข้าวเปลือกแข่งกับใคร ต่างชาติที่มาซื้อที่นาจึงเป็นเสมือนผู้ผูกขาดในการซื้อข้าวเปลือกจากเจ้าของที่นาเดิมแต่ผู้เดียว และเมื่อเขาไม่ต้องแข่งซื้อข้าวเปลือกกับใครจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะเสนอซื้อข้าวเปลือกในราคาสูงขึ้นจากปกติ ลักษณะดังกล่าวจึงอาจไม่ทำให้ชาวนาส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ในระยะยาว ตรงกันข้าม หากปล่อยให้ต่างชาติเข้ามาซื้อที่นากันเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ชาวนาไทยขาดที่ดินทำกิน และอาจเกิดการผูกขาดธุรกิจทำนาโดยต่างชาติ ซึ่งเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผมมิได้เห็นว่าการที่ประเทศไทยจะเปิดประเทศเพื่อทำการค้า การลงทุน หรือทำข้อตกลงระหว่างประเทศจะเป็นโทษเสมอไป แต่หากมีรูปแบบและเนื้อหาสาระข้อตกลงที่ดีแล้ว ldquo;ประเทศชาติrdquo; ซึ่งในที่นี้หมายถึง ldquo;ชาวนาrdquo; จะสามารถได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่


ดังนั้นแทนที่จะใช้รูปแบบการขายที่นาแบบขายขาดให้ต่างชาติ ซึ่งชาวนาอาจไม่ได้รับประโยชน์นัก ผมกลับสนใจลักษณะการทำนาโดยมีสัญญารับซื้อผลผลิต (contract farming) โดยเกษตรกรยังคงสภาพเป็นเจ้าของที่ดินและผู้ผลิต แต่มีการทำสัญญากับต่างชาติในการรับซื้อผลผลิต โดยข้อตกลงมีความชัดเจนทั้งระยะเวลาของสัญญา ปริมาณและราคารับซื้อ ส่วนหน้าที่ของรัฐคือเป็นนายหน้าในการติดต่อกับต่างชาติและเจรจาให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับชาวนามากที่สุด กล่าวคือเป็นข้อตกลงที่ชาวนาได้ราคาขายสูงที่สุดโดยแบกรับความเสี่ยงน้อยที่สุด


ขณะที่การขายนาแบบขายขาดจะทำให้ต่างชาติเป็นเสมือนผู้ผูกขาดการซื้อข้าวจากชาวนากลุ่มหนึ่ง แต่การทำ Contract farming ต่างชาติจะเป็นเสมือนผู้เข้ามาแข่งขันกันซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา เพราะสัญญาที่ตกลงกันได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของสัญญาชัดเจน หากผลตอบแทนไม่คุ้มค่าชาวนาสามารถบอกเลิกสัญญาหรือตกลงกันใหม่ได้ ชาวนาที่ทำ contract farming จึงน่าจะได้ประโยชน์ในระยะยาว


หลักการ contract farming ที่กล่าวมานั้นอาจมีข้อแย้งว่า จะให้ประโยชน์เฉพาะกับชาวนาเพียงกลุ่มหนึ่งที่รัฐบาล ldquo;เจาะจงrdquo; เลือกให้เป็นคู่สัญญากับต่างชาติเท่านั้น มิได้ให้ประโยชน์กับชาวนาส่วนใหญ่ของประเทศแต่หากมีชาวนาที่ทำ Contract farming มากถึงระดับหนึ่ง และต่างชาติที่เข้ามาทำสัญญานั้นไม่เคยซื้อข้าวจากไทยมาก่อนหรือเคยซื้อแต่ซื้อเป็นจำนวนน้อย และได้เข้ามาทำสัญญาในปริมาณมากพอควร จะทำให้อุปทานของข้าวเข้าสู่ตลาดลดลง โดยที่อุปสงค์ของข้าวยังคงที่ ดังนั้นโรงสีและพ่อค้าคนกลางจึงต้องแข่งกันซื้อข้าวเปลือกจากชาวนาในแต่ละพื้นที่มากขึ้น ชาวนาทั้งหมดจึงอาจได้ประโยชน์จากการที่ข้าวเปลือกราคาสูงขึ้นด้วย แม้จะไม่มากเท่าชาวนาที่ทำ Contract farming ก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความสมดุลนั้นเป็นเงื่อนไขจำเป็นสำหรับนโยบายที่ดีจึงมีประเด็นที่ต้องพิจารณาเกี่ยวกับความสมดุลของการทำ contract farming กับต่างชาติดังนี้


ประเด็นแรก คือ ความมั่นคงของชาติและความมั่นคงด้านอาหาร แม้ว่าการขายข้าวให้ได้ราคาสูงเป็นสิ่งที่ควรได้รับความสำคัญ แต่ในยามวิกฤต เช่นยามสงครามหรือเกิดภัยธรรมชาติจนผลผลิตการเกษตรเสียหายจำนวนมาก การทำ contract farming นั้นจะทำให้ประเทศมีพันธะต้องส่งข้าวออกไปยังประเทศคู่สัญญา ซึ่งหากมีการทำ contract farming มากเกินไปอาจจะทำให้คนไทยมีข้าวสำหรับการบริโภคไม่เพียงพอ ดังนั้นควรมีการกำหนดโควตาของ contract farming ไว้ เพื่อเหตุผลด้านความมั่นคง
อีกประเด็นหนึ่งคือผลกระทบต่อคนกลุ่มอื่นในประเทศ เราคงต้องหลีกหนีความจริงไม่พ้นว่าเพื่อจะให้ชาวนาได้ประโยชน์จะมีคนได้รับผลกระทบบ้าง ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคงหนีไม่พ้นเจ้าของโรงสีรายย่อยในท้องถิ่นที่มีการทำ Contract farming อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบ คือ ธุรกิจที่อยู่ระหว่างทางจากชาวนาไปสู่ผู้ซื้อต่างประเทศ ทั้งพ่อค้าคนกลางไปจนถึงผู้ส่งออกข้าว ซึ่ง ldquo;โดนตัดหน้าrdquo; ในการซื้อข้าวจากชาวนา และสุดท้ายคือผู้บริโภคที่อาจจะต้องบริโภคข้าวสารที่ราคาแพงขึ้น การทำ contract farming อาจต้องจำกัดที่ปริมาณระดับหนึ่ง เพื่อไม่ทำให้คนกลุ่มนี้เสียประโยชน์มากเกินไป ในขณะที่ชาวนายังคงได้ประโยชน์แบบเต็มที่ด้วย
เราจึงไม่ควรให้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของที่นาและทำนา เพราะมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและอาชีพของชาวนาไทย แต่หากเป็นการเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำ contract farming กับชาวนาไทย โดยกำหนดกติกาและกลไกในการเข้ามาของต่างชาติอย่างเหมาะสม น่าจะทำให้เกษตรกรส่วนใหญ่ได้รับประโยชน์ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ
admin
เผยแพร่: 
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
เมื่อ: 
2008-06-19