บทบาทของคนจีนโพ้นทะเลในการสร้างความมั่งคั่งของประเทศ

ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรบรรยายในการประชุม World Chinese Economic Forum ครั้งที่ 4 ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยหัวข้อการบรรยายที่ผมได้รับมอบหมายคือ ?The Global Chinese Diaspora - Creating Wealth, Contributing to National Development?

นับตั้งแต่จีนเปิดประตูทางเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบทุนนิยมในช่วงปลายทศวรรษ 1970 การพัฒนาประเทศเป็นไปอย่างก้าวกระโดด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนอยู่ในระดับสูงและต่อเนื่องยาวนาน ทำให้เศรษฐกิจจีนเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วจนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลก และกำลังก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางการเมืองและการทหารของโลกทัดเทียมกับสหรัฐอเมริกา

ความสำเร็จในการพัฒนาประเทศและการสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจของจีนได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการ และได้มีการศึกษาวิจัยอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับปัจจัยแห่งความสำเร็จของจีน โดยปัจจัยหนึ่งที่นักวิชาการให้ความสนใจคือ บทบาทของคนจีนโพ้นทะเลหรือคนเชื้อสายจีนที่อาศัยอยู่นอกจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีส่วนในการพัฒนาประเทศและสร้างความมั่งคั่งให้กับจีน


แหล่งที่มาของภาพ : http://www.macrobusiness.com.au/wp-content/uploads/2011/04/china_ball350_4ba7777b3fae9-300x300.jpg


คนจีนโพ้นทะเลเป็นกลุ่มคนพลัดถิ่นที่อาจกล่าวได้ว่ามีจำนวนมากที่สุดในโลก ซึ่งกระจายอยู่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในจำนวนนี้อาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ถึงประมาณร้อยละ 70 ของคนจีนโพ้นทะเลทั่วโลก รัฐบาลจีนเองก็ได้ให้ความสำคัญกับคนกลุ่มดังกล่าว โดยการกำหนดนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนจีนโพ้นทะเลในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

ในขณะเดียวกัน คนจีนโพ้นทะเลก็มีส่วนช่วยในการสร้างความมั่งคั่งและการพัฒนาให้กับประเทศที่พวกเขาเข้าไปอยู่อาศัย โดยมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างจีนกับประเทศต่างๆ ที่คนเชื้อสายจีนเข้าไปอยู่อาศัย ดังต่อไปนี้

อำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

เครือข่ายความสัมพันธ์เชิงญาติมิตรและภาษาของคนจีนโพ้นทะเลช่วยให้การทำธุรกิจข้ามพรมแดนเป็นไปได้ง่ายมากขึ้น ความสัมพันธ์ในเครือข่ายดังกล่าวทำให้เกิดความไว้วางใจและการไหลเวียนของข้อมูลทางการค้าภายในเครือข่ายเป็นไปอย่างสะดวกรวดเร็ว ประกอบกับความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น จึงช่วยส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศที่เป็นเศรษฐกิจเกิดใหม่ซึ่งกฎระเบียบทางการค้ายังไม่เข้มแข็ง ดังจะเห็นได้ว่า นอกเหนือจากประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลกแล้วเศรษฐกิจเกิดใหม่ ที่เป็นคู่ค้าสำคัญของจีนคือ ประเทศในเอเชียตะวันออกที่มีสัดส่วนของประชากรเชื้อสายจีน เป็นจำนวนมาก เช่น ไต้หวัน มาเลเซีย และไทย เป็นต้น

ในด้านการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ นับตั้งแต่จีนเปิดประเทศสู่ระบบทุนนิยม ประเทศจีนกลายเป็นเป้าหมายของการลงทุนจากทั่วโลก มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในประเทศจีนระหว่างปี 2544 ? 2554 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.6 ต่อปี และมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าการลงทุนทั่วโลก (หากรวมฮ่องกงและมาเก๊าจะมีสัดส่วนร้อยละ 14 ของการลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศทั่วโลก) หรือเป็นอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐฯ ทั้งนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าคนจีนโพ้นทะเลมีส่วน ชักนำการลงทุนโดยตรงเข้าไปในประเทศจีน สังเกตได้จากแหล่งที่มาของเงินลงทุนโดยตรง ในประเทศจีนโดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากประเทศที่มีประชากรเชื้อสายจีนจำนวนมาก เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน และฮ่องกง เป็นต้น

อีกหลักฐานหนึ่งคือระดับการพัฒนาในแต่ละท้องถิ่นของจีนได้รับอิทธิพลจากการที่แต่ละท้องถิ่นมีความสัมพันธ์กับผู้อพยพไปอยู่ต่างประเทศหรือไม่ นอกจากนี้การศึกษาโดยมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดยังพบว่า บริษัทของสหรัฐฯที่จ้างคนเชื้อสายจีนจำนวนมาก สามารถจัดตั้งและดำเนินธุรกิจในประเทศจีนได้ง่ายดายมากกว่าแม้จะปราศจากการร่วมทุนกับกิจการ ในท้องถิ่นของจีนก็ตาม

สร้างธุรกิจที่มีความสามารถในการแข่งขัน

การอพยพของคนจีนไปทั่วโลกในอดีต โดยส่วนใหญ่เป็นการอพยพออกไปในฐานะแรงงาน โดยเฉพาะในยุคล่าอาณานิคม แรงงานชาวจีนโพ้นทะเลมีส่วนช่วยในการพัฒนาเศรษฐกิจและ อุตสาหกรรมของประเทศเจ้าอาณานิคมซึ่งขาดแคลนแรงงาน คุณลักษณะที่ชัดเจนประการหนึ่ง ของคนเชื้อสายจีนคือความเป็นผู้ประกอบการ ชาวจีนอพยพที่ยากจนและขาดการศึกษาสามารถก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาเป็นเจ้าของกิจการได้เป็นจำนวนมาก และกิจการจำนวนหนึ่งเติบโตขึ้นเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ ข้อมูลการจัดอันดับคนรวยของนิตยสารฟอร์บส์ ในปี 2554 ยืนยันว่า  คนรวยที่สุด 10 อันดับแรกของไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ เป็นคน เชื้อสายจีนถึง 8 คน

เช่นเดียวกับ คนจีนโพ้นทะเลที่มีการศึกษาสูงก็มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจในประเทศต่างๆ การศึกษาของมหาวิทยาลัยดุ๊กพบว่า ในขณะที่ผู้อพยพย้ายถิ่นฐาน มีจำนวนเพียง 1 ใน 8 ของประชากรของสหรัฐฯ แต่มีส่วนก่อตั้งบริษัทด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมถึง 1 ใน 4 ของประเทศ ซึ่งคนจีนโพ้นทะเลที่มีการศึกษาสูงก็มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้งธุรกิจในประเทศต่างๆ เช่นเดียวกัน และยังช่วยในการเชื่อมโยงประเทศร่ำรวยกับเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วอีกด้วย 

เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของบทบาททางเศรษฐกิจของคนเชื้อสายจีน ซึ่งเป็นคนกลุ่มน้อยของประเทศ แต่กลับเป็นเจ้าของกิจการที่มีมูลค่ารวมกันสูงกว่าคนกลุ่มอื่นในประเทศ เช่น ประเทศมาเลเซียมีประชากรที่เป็นคนเชื้อสายจีนร้อยละ 26 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่กลับเป็นเจ้าของกิจการในตลาดหลักทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมกันถึงร้อยละ 39 สูงกว่าคนกลุ่มอื่นในประเทศ คนจีนในฟิลิปปินส์มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของจำนวนประชากรทั้งหมด แต่ควบคุมภาคเศรษฐกิจของเอกชนสูงถึงร้อยละ 60 ในปี 2541 เช่นเดียวกับอินโดนีเซียที่มีคนเชื้อสายจีนเพียงร้อยละ 3 แต่ควบคุมร้อยละ 70 ของมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคเอกชนในประเทศนี้

สนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี

ชาวจีนที่อยู่ในต่างประเทศหรือสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศที่กลับมายังประเทศจีนมีจำนวนเพิ่มขึ้นนับตั้งแต่ปี 2544  คนเหล่านี้ได้นำความรู้ ประสบการณ์และสายสัมพันธ์ กลับมายังประเทศจีนด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนที่อยู่ในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูง ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ใหม่และมีมูลค่าเพิ่มสูงหรือมีเทคนิคการบริหารจัดการแบบใหม่ ส่งผลทำให้เกิดการก่อตัวและพัฒนาขึ้นของอุตสาหกรรมทางเทคโนโลยีชั้นสูงของจีน และช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของจีน ระบบการศึกษาของจีนยังเต็มไปด้วยผู้จบการศึกษาจากต่างประเทศแล้วกลับมายังประเทศจีน สังเกตได้จากคนเหล่านี้มีสัดส่วนถึงร้อยละ 78 ของประธานของมหาวิทยาลัยของรัฐ ร้อยละ 62 ของอาจารย์ผู้สอนในระดับปริญญาเอก และร้อยละ 84 และ 75 ของนักวิชาการในสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และสถาบันการศึกษาด้านวิศวกรรมในประเทศจีนตามลำดับ

ชาวจีนที่อาศัยอยู่ในต่างประเทศมีจำนวนมากที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่จบการศึกษาและดำรงตำแหน่งทางวิชาการระดับสูง ในปี 2550 นักวิทยาศาสตร์ชาวจีนในสหรัฐฯมีจำนวนถึง 32,000 คน หรือร้อยละ 22.5 ของนักศึกษาต่างประเทศที่ได้รับปริญญาเอกในสหรัฐฯ และจากจำนวนนักวิทยาศาสตร์ด้านชีวภาพชาวจีนทั้งหมด 2,600 คน ในจำนวนนี้ 800 คนเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยวิจัยทั่วสหรัฐอเมริกา  แม้บุคลากรเหล่านี้ไม่ได้กลับมาลงทุนหรืออาศัยในประเทศจีน แต่ยังสามารถรับใช้ประเทศจีนได้ผ่านกระบวนการ ?brain circulation? โดยการส่งข้อมูลข่าวสารหรือถ่ายทอดเทคโนโลยีกลับมายังประเทศจีน เช่น การสอน การร่วมมือทำวิจัย เป็นต้น นอกจากนี้ชาวจีนบางคนที่ทำงานในต่างประเทศยังนำเทคโนโลยีใหม่ที่ตนเองคิดค้นให้กับหุ้นส่วนในประเทศจีนได้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์ด้วย

จะเห็นได้ว่า คนจีนโพ้นทะเลมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ และรัฐบาลของหลายประเทศได้กำหนดนโยบายเพื่อส่งเสริมบทบาทและใช้ประโยชน์จากคนเชื้อสายจีนในการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน ซึ่งกำลังกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก แต่ดูเหมือนประเทศไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนบทบาทของคนเชื้อสายจีนในประเทศเท่าที่ควร ประกอบกับคนจีนในประเทศไทยมีสัดส่วนในการใช้ภาษาจีนได้น้อยกว่าคนจีนในประเทศเพื่อนบ้าน จึงทำให้เสียเปรียบในการเชื่อมโยงอยู่บ้าง ความละเลยดังกล่าวอาจทำให้เราพลาดโอกาสทางเศรษฐกิจซึ่งมาพร้อมกับการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจจีนก็เป็นได้

ศ.ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com