พัฒนาคน พัฒนาการศึกษา คำตอบสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
“ปัจจุบันการศึกษาของโลกกำลังก้าวสู่สังคมความรู้แต่การศึกษาของไทยเรายังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดังกล่าว ยังไม่ได้เข้าสู่ยุคสังคมความรู้อย่างแท้จริงการจะเข้าสู่ยุคดังกล่าว ผู้เขียนมีความคิดว่าต้องเกิดการปฏิวัติความคิดขนานใหญ่ทั้งประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาของจริง”
ประเทศพัฒนาแล้วมีการพัฒนาคุณภาพมนุษย์ในระดับสูงมากเมื่อวัดโดยดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index: HDI)ที่มีตัวชี้วัด 3 ด้าน ได้แก่ อายุขัยเฉลี่ย (Life expectancy) การศึกษา (Education)และรายได้ต่อหัวประชากร (Income per capita)
shutterstockในปี 2014 ประเทศ 10 อันดับแรกที่มีค่าดัชนีการพัฒนามนุษย์สูงที่สุด ล้วนเป็นสมาชิกในกลุ่มOECD ทั้งสิ้น และ เกือบทุกประเทศในกลุ่มOECD มีค่า HDI อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับสูงมาก (ยกเว้นตุรกีกับเม็กซิโกอยู่กลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง) โดยค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์สูงมากอยู่ที่ 0.875
ขณะที่ประเทศไทย มีคะแนนอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงถือเป็นอันดับที่ 93 ของโลก(จาก 188 ประเทศ) และได้คะแนน 0.726 และเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มอาเซียนด้วยกัน ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 4 เป็นรองจากสิงคโปร์ บรูไน มาเลเซีย ที่อยู่ในอันดับ 11 อันดับ 31 อันดับ 62 ของโลก ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การพัฒนาคุณภาพมนุษย์มีหลายตัวแปรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตัวแปรที่ผมจะให้น้ำหนักในบทความนี้ ได้แก่ ตัวแปรด้านการศึกษา โดยมุ่งเน้นในมิติของการจัดการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความก้าวหน้าของโลกอย่างไม่หยุดยั้ง
ผมเชื่อว่า การศึกษาเป็นตัวกำหนดหรือชี้นำประเทศ ซึ่งผมมักพูดอยู่เสมอว่า “การศึกษาคือมดลูกของประเทศ”ดังนั้น หากเราต้องการรู้อนาคตของประเทศ เราสามารถสังเกตจากการศึกษาของเราวันนี้
ในการประชุมสัมมนาวิชาการระดับชาติ ราชภัฏศรีสะเกษวิชาการครั้งที่ 4 โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษผู้เขียนได้บรรยายและนำเสนอแนวความคิดเกี่ยวกับทิศทางการจัดการศึกษาและวิจัยของไทย 4.0 ซึ่งผมได้วิเคราะห์เปรียบเทียบการจัดการศึกษาแบบเดิมและแบบใหม่ที่พึงประสงค์หรือที่ควรจะเป็น โดยพบประเด็นสำคัญดังตาราง
ตารางวิเคราะห์เปรียบเทียบการจัดการศึกษาแบบเดิมและแบบใหม่ที่พึงประสงค์หรือที่ควรจะเป็น
การจัดการศึกษาแบบเดิม การจัดการศึกษาแบบใหม่ 1) พัฒนา “คนเก่ง” สร้างคน “ดี เก่ง กล้า” 2) สร้างพลเมือง “ไทย” สร้างพลเมือง “โลก” และ พลเมือง “ไทย” 3) “ผู้สอน” เป็นศูนย์กลาง “ผู้เรียน” เป็นศูนย์กลาง 4) ถ่ายทอด “ข้อมูลความรู้” สร้าง “นักคิด” 5) “พัฒนาความรู้” “เสริมสร้างสมรรถนะ ปฏิบัติได้จริง” 6) เรียนรู้เน้น “นามธรรม”และรูปธรรมมักไม่โยงนามธรรม เรียนรู้ “เน้นวงจรรูปธรรมสู่นามธรรมสู่รูปธรรม” 7) ปริมณฑล “ท้องถิ่น” เป็นเลิศระดับ“สากล” 8) เป็นฝ่าย “รอรับ” เป็นฝ่าย “รุก” “เป็นนักเรียนรู้ แสวงหาค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง” 9) “บริโภค” ความรู้ “ผลิตองค์ความรู้และนวัตกรรม” 10) “แยก” จากสังคม “บูรณาการ” สู่สังคม(รัฐกิจ ธุรกิจ ประชากิจ) 11) “ต่างคนต่างทำ” ทุกระดับ “ร่วมมือกันจัดการศึกษา” 12) “เรียนแบบ How to” ช่างเทคนิค “เรียนตั้งแต่ปรัชญา ค่านิยม คุณค่า แนวทาง” 13) จัดการศึกษา “ขาดจุดเน้น” มุ่งพัฒนาตาม “จุดแกร่งหรือเอกลักษณ์” 14) หลักสูตร “One-size-fits-all” พัฒนา Module“ตัดเสื้อพอดีตัว” 15) เป้าหมาย “Localization” พัฒนาสู่ “Glocalization” 16) หลักสูตร “เคร่งครัดตายตัว” ยืดหยุ่น “ค้นหาและพัฒนาตามศักยภาพผู้เรียน” 17) “สายสามัญ” ล้นตลาด ขาด “สายอาชีพ” สร้างสมดุล “สายอาชีพและสายสามัญ” 18) “ห้องเรียน” เป็นฐาน ใช้ “เทคโนโลยีช่วยจัดการศึกษา”
ปัจจุบันการศึกษาของโลกกำลังก้าวสู่สังคมความรู้แต่การศึกษาของไทยเรายังอยู่ในช่วงเตรียมพร้อมเข้าสู่ยุคดังกล่าว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่ยุคสังคมความรู้อย่างแท้จริงการจะเข้าสู่ยุคดังกล่าว ผู้เขียนมีความคิดว่าต้องเกิดการปฏิวัติความคิดขนานใหญ่ โดยผมได้วิเคราะห์และแบ่งการปฏิวัติความคิดครั้งสำคัญในอนาคตออกเป็น 4 ยุค ในการอธิบายสังคม ประกอบด้วย
กราฟประการที่ 1 ยุค 3.0 – การปฏิวัติทางสารสนเทศ (Thinking + Data = Information)ยุคนี้ได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการนำความคิด 10 มิติมาผสมกับข้อมูลต่างๆ จนเกิดมาเป็นข้อมูลข่าวสาร โดยผมขอยกให้บิล เกตส์ (Bill Gates) เป็นสัญลักษณ์ของยุคนี้
ประการที่ 2 ยุค 4.0 – การปฏิวัติทางความรู้ (Thinking + Information = knowledge)เช่นเดียวกัน ยุคนี้เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว มีผลลัพธ์ที่ปรากฏเป็นรูปธรรม ได้แก่ เทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม
ประการที่ 3 ยุค 5.0 – การปฏิวัติทางปัญญา (Thinking + Knowledge = Wisdom)ยุคนี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อนำความคิด 10 มิติมาผสมกับ ความรู้ ออกมาเป็น ปัญญา ซึ่งหมายถึง ความสามารถประยุกต์ความรู้ให้เหมาะสมถูกที่ ถูกเวลา ถูกโอกาส ถูกสถานการณ์ ถูกบริบท ถูกระบบแวดล้อม ฯลฯ ความสามารถในการประยุกต์ แสดงถึงความลึกซึ้งของความเข้าใจในสิ่งที่พิจารณาอย่างถ่องแท้จนก้าวลึกเลยระดับความรู้
ประการที่ 4 ยุค 6.0 – การปฏิวัติทางความดี (Thinking + Wisdom = Goodness/Virtue)ความดีเกิดจากการนำความคิด 10 มิติมาผสมกับปัญญา มีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้ง แยกแยะเป็น จนเกิดเป็นความดีนั่นคือ การเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตนดังที่ผมเคยนำเสนอเป็นข้อคิดไว้ว่า “ตามหา ความสุข…จะพบความทุกข์ตามหา ความดี…จะพบความสุขตามหาการให้…จะพบความดีและตามหา ความรัก…จะพบการให้”
ผมคิดว่า การจัดการศึกษาของเราต้องจัดตามคลื่นของการเปลี่ยนแปลง หากเราไม่เข้าใจว่าโลกกำลังเคลื่อนไปในทิศทางใด เราจะจัดการศึกษาตกยุคเราสามารถเห็นตัวอย่างจำนวนมากของการศึกษาที่สะท้อนว่าไม่สามารถปรับตัวตามยุคสมัยเช่น มหาวิทยาลัยที่เคยเป็นผู้นำในอดีตจำนวนมากตกยุค จนถูกมหาวิทยาลัยอื่นก้าวแซงหน้าไปเป็นต้น
ตรงกันข้ามกับกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่จำนวนหนึ่งที่สามารถปรับตัวอยู่เหนือคลื่นการเปลี่ยนแปลง และก้าวสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกเป็นระยะเวลายาวนานเช่น มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เป็นต้น ปัจจุบันมหาวิทยาลัยเหล่านี้กำลังปรับตัวเข้าสู่ยุคถัดไปแล้ว
ความก้าวหน้าการศึกษาโลกกับการศึกษาไทยในปัจจุบันยังแตกต่างกันมาก หากการศึกษาไทยต้องการก้าวไกลและก้าวหน้าต้องคิดนอกกรอบ ต้องเปลี่ยนการศึกษาจาก‘เรือนจำ’เป็น ‘เรือนเพาะชำ’ทางปัญญาเพื่อเป็นคำตอบในการนำประเทศสู่ประเทศพัฒนาแล้ว
แหล่งที่มา : cioworldmagazine.com
16 ตุลาคม 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันการสร้างชาติ (NBI)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, www.drdancando.com
www.facebook.com/drdancando
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.cioworldmagazine.com/wp-content/uploads/2017/10/shutterstock-680x365_c.jpg