ผ่าทางตัน?วิกฤต กกต.

เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก

กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตศรัทธา ตั้งแต่ถูกเรียกร้องให้ลาออก ถูกฟ้องร้องต่อศาลในความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบิตหน้าที่ และความไม่เชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่จัดการเลือกตั้งอีกต่อไป

คำถามที่สำคัญคือ ภายใต้การเมืองที่เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรงในสังคมไทย และความไม่เชื่อมั่นต่อ กกต. การเลือกตั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2549 จะมีขึ้นหรือไม่ และน่าเป็นห่วงว่าเราจะมีสภาผู้แทนราษฏรและรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศได้เมื่อใด

ถึงที่สุดแล้ว ผมอยากให้ทุกฝ่ายน้อมรับพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน ที่ทรงมีพระราชดำรัสว่า ldquo;การทำงานเพื่อประเทศชาติไม่ใช่หน้าที่ของผู้หนึ่งผู้ใดโดยเฉพาะ แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องขวนขวายทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด เพื่อธำรงรักษาพัฒนาบ้านเมืองrdquo;

ฉะนั้น ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำหน้าที่และบทบาทของตนเองอย่างดี ผลักดันให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นโดยเร็วอย่างบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม โดยหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง คือ กกต. ควรจะทบทวนบทบาทหน้าที่ของตนว่า ควรทำหน้าที่ต่อไปหรือไม่ อย่างไร ?

ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน หาก กกต.ยังคงดำเนินการจัดการเลือกตั้งต่อไป อาจจะเกิดวิกฤตการณ์ทางการเมืองและความขัดแย้งไม่รู้จบ จะเกิดการฟ้องร้องต่อ กกต. เพิ่มมากขึ้นอีกหลายคดี และเรียกร้องให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ จนทำให้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศในระยะเวลาอันใกล้ แน่นอนว่า ประเทศชาติจะบอบช้ำและเสียหายอย่างประเมินค่าไม่ได้

ผมเห็นว่า กกต. ไม่ควรที่จะคิดเพียงการปรับโครงสร้างการบริหารงานองค์กรใหม่ เพราะปัญหาทั้งหมดไม่ได้อยู่ที่ระบบการทำงานของ กกต. แต่อยู่ที่ตัวบุคคล ถึงเวลานี้ กกต.จึงควรคำนึงถึงผลประโยชน์และความสงบสุขของชาติบ้านเมืองมากกว่าที่จะดำรงตำแหน่งต่อไป

ดังนั้น ทางออกที่ดีที่สุด คือ กกต. ทั้งสามคนควรเสียสละด้วยการลาออกจากตำแหน่ง และทำตามข้อเสนอของศาล คือให้มีการเลือกกรรมการการเลือกตั้งชุดใหม่ตามมาตรา 138(3)[1] คือ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาสรรหาบุคคลที่เหมาะสมเป็นกรรมการการเลือกตั้งจำนวน 10 คน เสนอให้กับวุฒิสภาเลือกให้เหลือเพียง 5 คน

ผมเชื่อว่า กกต.ชุดใหม่ที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อแล้วให้วุฒิสภาเลือก จะสามารถเรียกความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากประชาชนได้ และสามารถจัดการเลือกตั้งที่มีความสุจริตและเที่ยงธรรม อันจะนำมาซึ่งความสงบสุขของสังคมไทย โดยมีฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารเข้ามาแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศได้อย่างทันที

[1] มาตรา 138 (3) การเสนอชื่อตาม (1) และ (2) ให้กระทำภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีเหตุที่ทำให้ต้องมีการเลือกบุคคลให้ดำรงตำแหน่งดังกล่าว หากไม่สามารถเสนอชื่อได้ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาพิจารณาเสนอชื่อแทนจนครบจำนวนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดต้องเสนอชื่อ

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-06-19