ลดคอร์รัปชั่น..ทำได้ ถ้าทำจริง

เมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษาความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและการเมือง (PERC) เปิดเผยรายงานผลสำรวจการคอร์รัปชั่นประจำปีใน 14 เขตเศรษฐกิจทั่วเอเชีย โดยสอบถามความเห็นของนักธุรกิจต่างชาติที่ทำงานในประเทศเหล่านี้กว่า 1,700 คน ปรากฏว่า ไทยติดอันดับ 2 ของประเทศที่มีคอร์รัปชั่นมากที่สุด รองจากอินโดนีเซียประเทศเดียวเท่านั้น ในขณะที่ฟิลิปปินส์ซึ่งครองคอร์รัปชั่นสูงสุดเมื่อปีที่แล้ว แต่ปีนี้ได้ปรับปรุงขึ้นจนมาอยู่อันดับ 6
ผลการสำรวจนี้หนุนให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่ตกต่ำอยู่แล้ว จากปัญหาการเมืองในประเทศ ยิ่งตกต่ำลงไปอีกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

การจัดการปัญหาคอร์รัปชั่นเรียกได้ว่า ยังไม่สามารถจัดการได้อย่างจริงจังและเด็ดขาด แม้จะมีสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ดูแลเรื่องนี้โดยเฉพาะ รวมทั้งมีองค์กรนอกภาครัฐ (เอ็นจีโอ) ที่ช่วยตรวจสอบการทำงานภาครัฐ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นให้ลดน้อยลงได้

เราคงต้องยอมรับความจริงว่า การคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเป็นปัญหาเรื้อรังที่ฝังรากลึก การแก้ไขทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันรื้อถอนและวางโครงสร้างใหม่ทั้งระบบ แนวทางสร้างสรรค์ที่น่าจะช่วยลดคอร์รัปชั่นได้ ต้องเพิ่มต้นทุนให้แก่การกระทำที่ถูกต้อง และขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มต้นทุนความเสี่ยงให้แก่การคอร์รัปชั่นด้วย รวมทั้งต้องสร้างระบบประกัน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนด้วย อันได้แก่
เพิ่มต้นทุนการทำดี ndash; สร้างดัชนีชี้วัดความใสสะอาด

ผมได้เสนอไว้ตั้งแต่เมื่อ 10 ปีก่อนว่า เราควรมีการสร้าง ดัชนีวัดความสะอาด ซึ่งตรงข้ามกับดัชนีวัดการคอร์รัปชัน หมายถึง การพัฒนาตัวชี้วัดในเรื่องต่าง ๆ ที่สะท้อนให้เห็นว่า บุคลากร ระบบบริหาร การให้บริการประชาชน ของหน่วยงานภาครัฐและรัฐวิสาหกิจในระดับต่าง ๆ เช่น ระดับกระทรวง กรม กอง องค์การบริการส่วนตำบล (อ.บ.ต.) ฯลฯ กระทำสิ่งที่ดีมากน้อยเพียงใดตามอันดับความสะอาด โดยดัชนีชี้วัดต้องมีมาตรฐานที่ยุติธรรมไม่ลำเอียง สามารถวัดเรื่องเดียวกันได้กับหน่วยงานที่จัดอันดับได้ทุกหน่วยงานวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคนและหน่วยงานที่กระทำดีอยู่แล้วมีโอกาสเผยแพร่สิ่งดีนั้นสู่สาธารณชน อีกทั้งเป็นแรงผลักให้หน่วยงานต่าง ๆ เกิดการแข่งขันที่จะกระทำดีขึ้นด้วย เนื่องจากเห็นว่า ที่ผ่านมาแนวทางการส่งเสริมให้คนกระทำดีในสังคมไทยนั้นมีน้อยเกินไป ส่วนใหญ่มักจะมุ่งป้องกันและตรวจจับผู้ที่กระทำความผิด

การวัดความใสสะอาดเป็นการกระตุ้นกำลังใจ ให้อยากทำดี หรือนำความดีที่ทำอยู่แล้วให้ปรากฏ จะเกิดผลเชิงบวกให้ทุกหน่วยงานต่างก็พยายามพัฒนาตนเองให้ดีขึ้นเพื่อหลีกหนีการเป็นที่สุดท้าย อันเป็นการแก้ไขการคอร์รัปชันทางอ้อม
เพิ่มต้นทุนการคอร์รัปชัน - ชดใช้ทางแพ่ง+อาญาหากถูกจับได้

ที่ผ่านมา การลงโทษข้าราชการหรือนักการเมืองที่คอรัปชั่น เป็นมาตรการทางกฎหมายเพียงกฎหมายอาญา แต่ยังไม่มีการลงโทษให้มีการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐอย่างจริงจัง ดังนั้นหากมีการเพิ่มมาตรการการลงโทษโดยเพิ่มว่า หากตรวจสอบแล้วมีความผิดจริง จะมิเพียงรับโทษทางอาญาเท่านั้น แต่จะต้องรับโทษทางแพ่งด้วย โดยจะต้องชดใช้ตามมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับรัฐ รวมทั้งผู้ที่ได้รับความเสียหายด้วย อีกทั้ง จะมิได้คำนวณเพียงตัวเลขค่าเสียหายจริง แต่จะต้องเพิ่มในส่วนของค่าเสียโอกาสไปด้วย ซึ่งมาตรการเช่นนี้จะช่วยป้องกันการคอรัปชั่น เพราะหากถูกตรวจสอบจากระบบและพบว่าผิดจริง จะต้องเกิดความสูญเสียนอกจากชื่อเสียงแล้ว ยังจะต้องชดใช้ในอัตราที่สูงกว่าที่คอรัปชั่นไปอีกด้วย



ลดโอกาสคอร์รัปชั่น - ผู้รับเหมาต้องรับประกันงานที่รับสัมปทาน

แนวทางหนึ่งในการป้องกันปัญหาคอร์รัปชั่นและเป็นการสร้างหลักประกันว่าสิ่งก่อสร้างสาธารณะจะมีคุณภาพ นั่นคือ การให้ผู้รับเหมาจะต้องทำประกันผลผลิตที่สร้างขึ้น ในระยะเวลานานที่เหมาะสมกับสิ่งก่อสร้างนั้น ไม่ว่าจะเป็น ถนน สะพาน อาคาร และอื่น ๆ การรับประกันจะช่วยลดปัญหาการคอรัปชั่นในระยะยาว เพราะทางผู้รับเหมาในโครงการต่าง ๆ จะต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายในสิ่งก่อสร้าง/ในโครงการต่าง ๆ และเป็นการช่วยให้ข้าราชการหรือฝ่ายบริหารใช้งบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การประกันจะนำไปสู่การประเมินผลงาน โดยจะมีการจัดอันดับบริษัทผู้รับเหมา หากไม่ผ่านการประเมินบริษัทผู้รับเหมาจะติดชื่ออยู่ในบัญชีดำ (Blacklist) /อยู่ในลำดับท้าย ๆ ในการพิจารณาสำหรับโครงการอื่น ๆ

ร่วมตรวจสอบคอร์รัปชั่น - จัดตั้งอาสาสมัครตรวจเงินแผ่นดิน

การมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นกลไกสำคัญของการสร้างระบบตรวจสอบและป้องกันการคอร์รัปชั่นที่มีประสิทธิผลที่สุด ข้อเสนอนี้จึงอยู่ที่การเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ประชาชนเข้ามาทำงานร่วมกับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อแก้ปัญหาจำนวนเจ้าหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินที่มีจำกัด และเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยอาจเริ่มด้วยการคัดเลือกประชาชนทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ตามความเหมาะสม หรือการให้เบาะแสการทุจริต ตลอดจนการเสนอแนะการตรวจสอบการเงินด้านต่าง ๆ แก่ สตง. อาทิ การรับจ่าย และการใช้จ่ายเงินและทรัพย์สิน หรือการร่วมกับ สตง. ในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภัณฑ์ การพิจารณาอนุมัติโครงการขนาดใหญ่ เป็นต้น
แม้ว่าแนวทางการลดโอกาสคอร์รัปชั่นให้น้อยลงจะมีอยู่ แต่หากผู้มีอำนาจในการจัดการปัญหานี้ไม่เป็นผู้นำในการริเริ่มแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โอกาสที่เราจะขยับขึ้นเป็น ldquo;อันดับหนึ่งrdquo; ของประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงสุดในเอเชียย่อมไม่ไกลเกินเอื้อมอย่างแน่นอน

** นำมาจากหนังสือพิมพ์ พิมพ์ไทย ตีพิมพ์เมื่อวันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ.2552

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2009-04-23