สอนสมานฉันท์... ต้องเริ่มตั้งแต่อนุบาล
สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคนที่มีอุดมการณ์และเป้าหมายทางการเมืองแตกต่าง เกิดขึ้นอีกครั้ง ณ ถนนราชดำเนินนอก รวมถึงปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ซึ่งไม่เพียงส่งผลต่อทัศนคติของประชาชนในประเทศ จนเกิดการแบ่งแยกทางความคิดเห็นออกเป็นกลุ่มต่าง ๆ เท่านั้น ยังอาจส่งผลกระทบต่อทัศนคติของเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจจะเห็นว่าความขัดแย้งเป็นเรื่องธรรมดา
หลายประเทศที่ผ่านสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งมาได้ด้วยดี ได้ใช้กลไกทางการศึกษาเพื่อปลูกฝังและป้องกันความขัดแย้งในสังคมระยะยาว ให้กับเด็กและเยาวชนของตน ตัวอย่างในประเทศเกาหลี
ประเทศเกาหลี: อยู่ร่วมกันโดยใช้เหตุผลเข้าหากัน เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมา ประเทศเกาหลีมักจะเกิดการประท้วงของประชาชนและนักศึกษาบ่อยครั้ง โดยเฉพาะเมื่อพบว่ารัฐบาลบริหารประเทศไม่โปร่งใส หรือไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจของรัฐบาล จนนำไปสู่ความรุนแรงบ่อยครั้ง ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีจึงได้มีการสอดแทรกทัศคติที่ถูกต้องต่อความแตกต่าง ทักษะการคิดอย่างมีเหตุผล และการแสดงออกถึงความคิดเห็นอย่างเหมาะสมโดยไม่ใช้ความรุนแรง ในหลักสูตรระดับชั้นต่าง ๆ อาทิ ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 3 จะปลูกฝังจิตสำนึกการอยู่ร่วมกันในสังคม ประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมต้น ปลูกฝังสิทธิและหน้าที่ของตนในระบอบประชาธิปไตย เคารพกฎหมายบ้านเมือง และการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ปลูกฝังหน้าที่การเป็นพลเมืองโลก สันติภาพ ความเข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่าง และปลูกจิตสำนึกในเรื่องเมตตาธรรมและมนุษยธรรม ซึ่งการเรียนการสอนจะใช้วิธีการอภิปรายในชั้นเรียนและยกกรณีตัวอย่าง เพื่อให้ผู้เรียนได้ใช้ทักษะการคิดวิเคราะห์หาความจริงตามหลักเหตุผลมากกว่าการใช้อารมณ์
ผมเขียนหนังสือเรื่อง ldquo;สังคมพหุเอกานิยม: เอกภาพท่ามกลางความหลากหลายrdquo; ตั้งแต่ พ.ศ.2542 เพื่อสะท้อนความปรารถนาของผมที่ต้องการเห็นคนไทยเป็นเอกภาพ ลักษณะของสังคมพหุเอกานิยมคือ เป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย โดยไม่ขึ้นอยู่กับเส้นแบ่งความเป็นรัฐชาติ ศาสนา ลัทธิ นิกาย และสถานะในสังคม สังคมพหุเอกานิยมจะให้เกียรติกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีเอกภาพแม้แตกต่างกัน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการสามารถนำแนวคิดนี้เข้าไปสอดแทรกในหลักสูตรการเรียนการสอนตั้งแต่อนุบาล นอกจากนี้ สถานศึกษาควรส่งเสริมผู้เรียนทำกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ เพื่อสร้างจิตสำนึกช่วยเหลือผู้อื่น และส่วนรวมลดความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเรา นับเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันความขัดแย้งให้กับสังคมได้ในระยะยาว
เผยแพร่:
หนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์
เมื่อ:
2008-06-12