ดันมหาวิทยาลัยไทยทำวิจัย ไต่อันดับมหาวิทยาลัยคุณภาพ
เมื่อตุลาคม 2550 มีผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยในสหราชอาณาจักรพบว่า ลำดับมหาวิทยาลัยมีความสัมพันธ์กับผลงานวิจัยภายในมหาวิทยาลัย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ผลงานวิจัยดังกล่าวเป็นของ ดร.อแมนด้า เอช กูดอลล์ (PhD Amanda H. Goodall) นักวิจัยกิตติมศักดิ์ องค์กรเพื่อการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์และสังคม (Economic and Social Research Council: ESRC) และนักวิจัยสถาบันสอนธุรกิจมหาวิทยาลัยวอร์ริค (Warwick Business School) กล่าวถึงผลการศึกษาในประเด็น มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงอันดับต้นต้องการนักวิจัยที่มีชื่อเสียงในอันดับต้น ผลการวิจัยสรุปได้ว่า มหาวิทยาลัยที่ต้องการโดดเด่นด้านวิจัย ควรถูกขับเคลื่อนด้วยนักวิจัยที่มีผลงานวิจัยเป็นของตนเอง และควรมีผู้บริหารที่เชี่ยวชาญการทำงานวิชาการ มากกว่าผู้บริหารที่นำมหาวิทยาลัยไปสู่เกณฑ์มาตรฐานหรือนำไปสู่ความเชี่ยวชาญเฉพาะเท่านั้น
ดร.กูดอลล์ ยังได้วิเคราะห์ศึกษาผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกของมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้เจียงถง (Shanghai Jiao Tong University Ranking of World Universities) ซึ่งเทียบเคียงได้กับการจัดอันดับของไทมส์ไฮเออร์ (Times Higher Education Supplement) และวิเคราะห์การจัดอันดับหลักสูตรของสถาบันสอนธุรกิจ (Financial Times Global MBA ranking) ผลการวิเคราะห์ พบว่า มหาวิทยาลัยที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลกส่วนใหญ่ มีประธาน อธิการบดี และอาจารย์ในมหาวิทยาลัย ที่มีผลงานวิจัยเป็นของตนเองจำนวนมาก นอกจากนี้ดร. กูดอลล์ ยังได้ศึกษาลงลึก ในมหาวิทยาลัยที่เน้นการวิจัยจำนวน 55 แห่ง ในสหราชอาณาจักร ซึ่งได้รับการประเมินความสามารถทางการวิจัยของมหาวิทยาลัย (Research Assessment Exercise: RAE) ระหว่างปี 1992, 1996, และ 2001 จากการศึกษาโดยเปรียบเทียบกับจำนวนผลงานวิจัยของอธิการบดีและรองอธิการบดี พบว่า มหาวิทยาลัยที่มีความสามารถในการทำงานวิจัยอย่างดีเลิศ ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีผู้บริหารที่มีประวัติด้านความสามารถในการทำวิจัยอย่างดีเลิศ
นอกจากนี้ ดร. กูดอลล์ ได้สัมภาษณ์ผู้บริหารมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ในสหราชอาณาจักร และสถาบันสอนธุรกิจจากสหรัฐอเมริกา ผลการสัมภาษณ์พบว่า การสร้างความน่าเชื่อถือผ่านการทำผลงานวิชาการหรือการทำวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นสิ่งสำคัญ เพราะนำมาซึ่งการยอมรับนับถือจากนักวิชาการอื่น และประการสำคัญ สำหรับมหาวิทยาลัยที่คาดหวังการเป็นมหาวิทยาลัยอันดับต้น ๆ ของโลก ควรสร้างมาตรฐานงานวิชาการหรือการวิจัยให้เป็นที่ยอมรับ
จากผลการศึกษาของ ดร. กูดอลล์ ทำให้ผมคิดถึงมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดซึ่งมีผลงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากทั่วโลกอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้ง อาจารย์ในมหาวิทยาลัยยังทำวิจัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย เนื่องจากผู้บริหารมหาวิทยาลัยมีกลไกผลักดันบางประการคือ การทำสัญญาจ้างงานชั่วคราวกับอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์บางประเภท ถ้าไม่มีผลงานวิจัยและงานวิชาการตีพิมพ์อย่างต่อเนื่องต้องออกไปทำงานที่อื่น ผลที่ได้รับคือ อาจารย์ในฮาร์วาร์ดต่างกระตือรือร้นทำผลงานวิชาการกันอย่างมาก ด้วยผลงานวิจัยที่มีจำนวนมากและถูกนำไปอ้างอิงบ่อยครั้ง ได้มีส่วนทำให้มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้รับการจัดอันดับให้เป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของโลก 4 ปีซ้อน โดยไทม์ไฮเออร์
อย่างไรก็ตาม แม้ผลงานวิจัยในมหาวิทยาลัยเป็นเพียงตัวชี้วัดหนึ่งเท่านั้นในการจัดอันดับ แต่ถือว่าเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับความน่าเชื่อถือในด้านวิชาการของมหาวิทยาลัย หากมหาวิทยาลัยใดมีผลงานวิจัยจำนวนมาก และเป็นงานวิจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วยแล้ว มหาวิทยาลัยแห่งนั้นจะได้รับการยอมรับจากนักวิชาการ นักศึกษา และประชาชนจากทั่วโลก
เมื่อหันกลับมาพิจารณามหาวิทยาลัยในประเทศไทย พบว่า การทำวิจัยของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยไทยยังมีน้อยมากเพียง 0.10 เรื่องต่อคนต่อปี จากการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ปี 2549 หากปล่อยไปเช่นนี้ อาจเกิด ldquo;วิกฤตภาวะอุดตันทางปัญญาในระดับอุดมศึกษาrdquo; เพราะการวิจัยมิใช่เพียงจะมีส่วนในการสร้างชื่อเสียง ซึ่งจะมีผลต่อการคัดกรองคนเก่งเข้ามหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อคุณภาพการจัดการเรียนการสอน เนื่องด้วยการที่คณาจารย์มีงานวิจัย จะมีส่วนถ่ายทอดนวัตกรรมความรู้ใหม่สู่ศิษย์ และมีส่วนพัฒนาความสามารถในการวิจัยให้ศิษย์ได้
ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดมาตรการในการจูงใจและกระตุ้นให้มหาวิทยาลัยทำวิจัยมากขึ้น โดยการสร้างแรงจูงใจให้อาจารย์และบุคลการในมหาวิทยาลัยทำวิจัย รวมถึงการกำหนดการพัฒนาความรู้ความสามารถในการทำวิจัย การกำหนดภาระงานที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาความก้าวหน้าทางวิชาการ การให้ทุนสนับสนุนหรือจัดทำโครงการวิจัยร่วมกับหน่วยงานภายนอก การนำภาคธุรกิจเอกชนเข้าร่วมทำวิจัย รวมถึงการกำหนดกติกาที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้จากการวิจัยให้ชัดเจน
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญสำหรับการพัฒนาการผลิตผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอยู่ที่ผู้บริหาร ของมหาวิทยาลัย ที่จะต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจังในการพัฒนาระบบการผลิตผลงานวิจัยของคณาอาจารย์และนักวิชาการในมหาวิทยาลัย โดยอาจนำแนวทางของมหาวิทยาลัยที่ประสบความสำเร็จด้านการวิจัยมาประยุกต์ใช้ เพื่อนำไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถผลิตผลงานวิจัยและวิชาการได้อย่างมีคุณภาพ อันจะมีส่วนต่อการยกระดับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพชั้นนำของโลกได้
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน (ศึกษาทัศน์)
เมื่อ:
2008-01-28