ม. ไทยหลุด 200 อันดับแรกของโลก
การจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกปี 2550 (World University Rankings 2007) โดยนิตยสารไทมส์ไฮเออร์ (Times Higher Education Supplement: THES) ผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยใน 10 อันดับแรกของโลก เป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร มหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งยังคงเป็นมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (Harvard University) ครองแชมป์ติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ด้วย 100 คะแนนเต็ม ตามมาด้วยมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ (University of Cambridge) มหาวิทยาลัยอ๊อกฟอร์ด (Oxford University) มหาวิทยาลัยเยล (Yale University) มีคะแนน 97.6 เท่ากัน อยู่ในอันดับสอง และมีหลายมหาวิทยาลัยที่ขยับขึ้นมาเป็น 10 อันดับแรก มีเพียงสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเสตส์ (Massachusetts Institute of Technology) ที่ตกจากอันดับ 4 ในปี 2549 มาอยู่อันดับ 10
มหาวิทยาลัยไทยอยู่อันดับไหน? เป็นที่น่าตกใจว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยโลกปี 2550 ไม่มีมหาวิทยาลัยไทยติดอยู่ใน 200 อันดับแรกแล้ว!!! หากย้อนไปดูเมื่อปี 2548 เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยไทยคือจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถูกจัดอันดับอยู่ใน 200 อันดับแรก โดยอยู่ในอันดับ 121 ต่อมาปี 2549 หล่นลงมาอยู่ 161 และหลุดออกไปจาก 200 อันดับแรกในปีนี้
การที่มหาวิทยาลัยไทยไม่ติด 200 อันดับแรกของโลก ทำให้เกิดคำถามว่า การพัฒนามหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก (World Class University) เป็นเพียงความฝันที่ไกลเกินเอื้อมหรือไม่
ก่อนอื่น เริ่มจากวิเคราะห์ภาพรวมของการอุดมศึกษาไทยพบว่าการอุดมศึกษาพบว่ามีปัญหาด้านคุณภาพหลายประการ ส่งผลให้การก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติของไทยดูมืดมน อาทิ
การมุ่งเพิ่มปริมาณแต่ไม่เพิ่มคุณภาพ การขยายรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ อาจส่งผลต่อคุณภาพในภาพรวมของการอุดมศึกษาไทย ปัจจุบันไทยมีสถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรปริญญากว่า 197 แห่ง เพื่อขยายโอกาสการศึกษาในอุดมศึกษา แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยรัฐแบบปิด 19 แห่ง มหาวิทยาลัยเปิด 2 แห่ง มหาวิทยาลัยราชภัฏ 41 แห่ง มหาวิทยาลัย/สถาบันเทคโนโลยี 10 แห่ง มหาวิทยาลัยในกำกับ 4 แห่ง มหาวิทยาลัยเอกชน 32 แห่ง และมีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยไปเปิดวิทยาเขตอีก 58 แห่ง อีกทั้งยังมีวิทยาลัยเอกชนเปิดหลักสูตรปริญญาตรีอีก 31 แห่ง และในอนาคตมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากนั้นการขยายตัวการรับนักศึกษาปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น โดยช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า ปีการศึกษา 2545 มี 6,213 คน ปี 2546 มี 7,715 คน ปี 2547 มี 8,264 คน ปี 2549 มี 10,516 คน ปี 2549 มี 13,959 คน ซึ่งมีนักวิชาหลายท่านเป็นห่วงเรื่องคุณภาพ เนื่องจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งเปิดหลักสูตรปริญญาเอกทั้งภาคปกติ ภาคพิเศษ เรียนจบเร็ว เน้นสอนทฤษฎีมากกว่าวิจัย และไม่จำกัดจำนวนในปริมาณที่เหมาะสม มีการจ้างศาสตราจารย์เกษียณหรือใกล้เกษียณเป็นประธานหลักสูตร มีอาจารย์ที่ปรึกษาไม่เพียงพอ เป็นต้น
ในขณะที่การควบคุมคุณภาพหลักสูตรอุดมศึกษาไทยไม่ทั่วถึง สภามหาวิทยาลัยมีบทบาทอนุมัติเปิดหลักสูตรที่สอนในมหาวิทยาลัย ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของหลักสูตร แต่พบว่าการทำงานสองส่วนนี้ ยังไม่สอดคล้องรับกันเท่าที่ควร ปรากฏว่ามีการเปิดหลักสูตรที่ไม่ได้คุณภาพ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่วิทยาลัยศรีโสภณรับนักศึกษา 12 คน เข้าเรียนในหลักสูตรระดับปริญญาที่ไม่มีความพร้อม โดยระหว่างเรียน สกอ. ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบแต่อย่างใด ทำให้ผู้เรียนทั้ง 12 คนไม่ได้รับปริญญาบัตร นอกจากนั้นยังมีหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษารัฐและเอกชนหลายแห่งที่การจัดการศึกษาไม่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน หรือมีแนวโน้มจัดหลักสูตรที่มีคุณภาพลดลงได้ เนื่องจาก สกอ. มีกำลังคนและทรัพยากรไม่เพียงพอในการเข้าไปตรวจสอบคุณภาพระหว่างการเปิดการสอนได้ทั่วถึงและต่อเนื่อง อาจทำให้มหาวิทยาลัยไทยบางแห่งจัดการสอนไม่ได้คุณภาพตามที่ได้ตกลงไว้กับ สกอ. ได้
ค้างคากับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างบริหาร มากกว่าการปรับปรุงวิธีการพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัย ดังนั้น เมื่อมีนโยบายเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ ข้อถกเถียงจึงอยู่ที่ ldquo;เมื่อเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารแล้วใครเสียประโยชน์หรือใครได้ประโยชน์?rdquo; มากกว่าการถกเถียงกันว่า rdquo;คุณภาพมหาวิทยาลัยไทยเพิ่มขึ้นหรือลดลง หากเปลี่ยนโครงสร้างการบริหาร?rdquo; เมื่อคนส่วนใหญ่สนใจผลกระทบที่เกิดจากการปรับโครงสร้างการบริหารแล้ว การหาทางออกให้กับมหาวิทยาลัยในกำกับฯ ของผู้ที่เกี่ยวข้อง จึงมีแนวโน้มที่จะหันไปที่ประโยชน์ที่ฝ่ายต่าง ๆ จะได้มากกว่าคุณภาพการอุดมศึกษา
หากปล่อยไว้เช่นนี้ อนาคตมหาวิทยาลัยไทยคงยังอยู่ไกลเกินเอื้อมที่จะเข้าสู่เวทีแข่งขันระดับนานาชาติ ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) สกอ. และcdแลมหาวิทยาลัย จำเป็นต้องร่วมมือแก้ไขและหาแนวทางเชิงรุกในการพัฒนาคุณภาพมหาวิทยาลัยไทย และสนับสนุนให้มหาวิทยาลัยบางแห่งที่เป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ ก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในอันดับต้น ๆ ของโลก
ตัวอย่างแนวทางเช่น การให้มหาวิทยาลัยชั้นนำบางแห่งที่มีศักยภาพพัฒนาสู่มหาวิทยาลัยนอกระบบ แต่ต้องกำหนดมาตรการให้โอกาสผู้เรียนดีแต่มีฐานะยากจนเข้ารับการศึกษา การมีส่วนช่วยสนับสนุนให้มีการพัฒนาคุณภาพด้วยวิธีการใหม่ ๆ เช่น การนำเข้าคณาจารย์มืออาชีพหรือผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ การสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือในการวิจัยของมหาวิทยาลัยกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การวิจัยร่วมกับภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ การกำหนดมาตรการส่งเสริมการดึงดูดนักศึกษาต่างชาติเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยไทย การใช้มาตรการทางภาษีและสิทธิพิเศษที่เปิดกว้างในการพัฒนาคุณภาพการอุดมศึกษาไทย การกำหนดมาตรการเปิดเสรีอุดมศึกษาที่ไทยจะได้ประโยชน์ให้มากที่สุดและเสียประโยชน์น้อยสุดรวมถึงการวิจัยความเป็นไปได้และช่องทางพัฒนาเพื่อยกระดับมหาวิทยาลัยไทยสู่มหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก
Tags:
เผยแพร่:
สยามรัฐรายวัน
เมื่อ:
2007-12-03