ม.แหล่งเสริมสร้างทักษะการทำงาน : ฮาร์วาร์ดสร้างงานแก่เด็กนักเรียน
การศึกษาของประเทศไทยเราทุกระดับตั้งแต่ยุคอดีตจนกระทั่งปัจจุบันเป็นการศึกษาที่ยังไม่สามารถมีส่วนเสริมสร้างสมรรถนะสำหรับการทำงานหรือการประกอบอาชีพให้แก่ผู้เรียนเท่าที่ควร สะท้อนให้เห็นจากแต่ละปีมีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย แต่ในที่นี้กลับพบว่า บางส่วนมีสมรรถนะและคุณภาพไม่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน อันเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสถานประกอบการ อาทิ การต้องสูญเสียทรัพยากรและงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรใหม่ เป็นต้น
โจทย์สำคัญของการศึกษาของเราทุกระดับตั้งแต่ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานจนกระทั่งระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยคือ การสร้างสมรรถนะที่ชัดเจนให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์, 2560) สร้างผู้เรียนให้เป็นกำลังคนที่มีคุณภาพ เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน และมีส่วนเสริมสร้างนำความเจริญก้าวหน้ามาสู่ประเทศชาติสังคม การศึกษาของเราต้องทำบทบาทหน้าที่เป็นเครื่องมือเปลี่ยนผ่านสมรรถนะกำลังคนตอบโจทย์ความต้องการของประเทศชาติสังคมทั้งในยุคสมัยปัจจุบันและอนาคต โดยหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนการสอนทุกอย่างควรมุ่งสู่เป้าหมายการสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะดังกล่าวนี้
ผมเคยพูดอยู่เสมอว่า “คนที่มีสมรรถนะมากที่สุดจะไม่ต้องสมัครงานเลยตลอดชีวิต”[1] ด้วยว่าตัวเขาเองจะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน การศึกษาของเราต้องสร้างผู้เรียนให้มีสมรรถนะจำเป็นครบถ้วนตามที่ตลาดต้องการ ต้องบูรณาการกับโจทย์ความต้องการของสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระดับอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ด้วยว่าเป็นแหล่งวิทยาการความรู้ที่มีความพร้อมมากที่สุด ควรมีส่วนเสริมสร้างสมรรถนะที่จำเป็นให้แก่กำลังคนของประเทศบนพื้นฐานจุดแกร่งทางด้านการเป็นองค์กรแห่งความรู้และองค์กรวิจัยของตนเอง โดยแนวทางภาคปฏิบัติที่สำคัญประการหนึ่งคือ การเชื่อมประสานการทำงานร่วมกับการศึกษาทุกระดับ ทั้งระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานและระดับอาชีวศึกษาในการวางรากฐานการพัฒนาสมรรถนะให้แก่ผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง
กรณีฮาร์วาร์ด
ความคิดการสร้างสมรรถนะที่ชัดเจนให้เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนดังกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นผ่านการจัดการศึกษาของฮาร์วาร์ดด้วยเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่าง กิจกรรมการจ้างงานเยาวชนภาคฤดูร้อน หรือ Summer Youth Employment Program (SYEP) อันเป็นกิจกรรมเสริมสร้างประสบการณ์และพัฒนาทักษะการทำงานให้แก่เยาวชนที่เป็นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาในเขตพื้นที่บอสตันและเคมบริดจ์ โดยเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวนี้สามารถเลือกทำงานและกิจกรรมที่มีอยู่อย่างหลากหลาย อาทิ งานรับโทรศัพท์ งานบริหารจัดการทั่วไป งานให้บริการสนับสนุนด้านคอมพิวเตอร์ (Area teens and Harvard ready to get to work, n.d.) ซึ่งนอกจากงานและกิจกรรมดังกล่าวนี้จะช่วยเสริมสร้างทักษะการทำงานให้แก่เยาวชน อาทิ การทำงานเป็นทีมแล้ว หากพิจารณาอีกแง่มุมหนึ่งยังมีส่วนเสริมสร้างลักษณะชีวิตที่ดีงามให้แก่เยาวชนด้วยอีกทางหนึ่ง อาทิ การมีความรับผิดชอบ การรู้จักปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น
การเข้าร่วมกิจกรรมการจ้างงานเยาวชนภาคฤดูร้อนดังกล่าวนี้ เยาวชนที่เข้าร่วมจะได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนตามที่ตกลงกันจากมหาวิทยาลัย สำหรับเยาวชนที่ทำงานเต็มเวลาเป็นเวลา 6 สัปดาห์จะได้รับค่าจ้างหรือค่าตอบแทนไม่เกิน 2,500 เหรียญสหรัฐอเมริกาตามตำแหน่ง โดยที่ชั่วโมงและวันการทำงานจะปรับให้เหมาะกับความต้องการเฉพาะของแต่ละแผนก (Area teens and Harvard ready to get to work, n.d.) กิจกรรมการจ้างงานเยาวชนภาคฤดูร้อน หรือ SYEP ดังกล่าวนี้นับเป็นกิจกรรมที่มีส่วนช่วยเตรียมเยาวชนที่เป็นเด็กนักเรียนมัธยมศึกษาให้พร้อมสำหรับโลกการทำงานจริงที่สำคัญอีกทางหนึ่งของฮาร์วาร์ด
รายการอ้างอิง
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์. (22 พฤษภาคม 2560). การเสวนาหัวข้อ 3 ปี 3 รัฐมนตรี เหลียวหลัง แลหน้า
ปฏิรูปการศึกษาไทย ถึงไหนแล้ว จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ณ โรงแรมคันทารี่ อ. กบินทร์บุรี จ. ปราจีนบุรี.
Area teens and Harvard ready to get to work. (n.d.). Retrieved from
http://news.harvard.edu/gazette/story/2017/04/boston-cambridge-teens-get-summer-work-at-harvard/
ที่มา: สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
คอลัมน์ : สะท้อนคิดจากฮาร์วาร์ด
ปีที่ 64 ฉบับที่ 47 วันศุกร์ 4 – พฤหัสบดี 10 สิงหาคม 2560
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
[1] เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ นำเสนอในการบรรยายหัวข้อการศึกษาตามสถานที่ต่าง ๆ
Catagories:
Tags:
Post date:
Monday, 11 December, 2017 - 12:33
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,395 ครั้ง
บูรณาการวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมในศตวรรษที่ 21
Total views: อ่าน 2,235 ครั้ง
คิดเป็นระบบ Systematic Thinking ช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร
Total views: อ่าน 4,094 ครั้ง
ความสัมพันธ์ของการศึกษากับการเป็นมหาเศรษฐี
Total views: อ่าน 1,986 ครั้ง
STEMMAD-CINDERELLA สร้างบุคลากรด้านนวัตกรรมเพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 4,419 ครั้ง