บทเรียนการก้าวสู่ประเทศรายได้สูง: เส้นทางการเติบโตที่ไม่แน่นอนของโปรตุเกส
ประเทศมาเลเซียมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว หรือประเทศรายได้สูง (รายได้ประชาชาติต่อหัวอยู่ที่ 15,000 ดอลลาร์ ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก) ภายในปี 2020 โดยปัจจุบัน ประเทศมาเลเซียมีรายได้ต่อหัวประชากร (GNI per capita, Atlas method) ในปี 2016 อยู่ที่ 9,860 ดอลลาร์ ขณะที่ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 5,640 ดอลลาร์
ประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียกำลังจะทิ้งห่างประเทศไทยไปเรื่อย ๆ การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นประเทศรายได้สูงโดยเร็ว จึงเป็นเป้าหมายที่เราควรผลักดันให้เกิดขึ้นจริง ซึ่งผมหวังว่าประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศรายได้สูงภายในปี 2030
รายงานวิจัยเรื่อง Making the Transition from Middle-income to Advanced Economies โดย Alejandro Foxley และ Fernandp Sossgorf (2011) ได้นำเสนอ 5 กรณีศึกษาที่น่าสนใจของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงจากประเทศเศรษฐกิจรายได้ปานกลางไปสู่เศรษฐกิจรายได้สูง ซึ่งได้แก่ ประเทศฟินแลนด์ เกาหลีใต้ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส และสเปน ผมได้วิเคราะห์และถอดบทเรียนจาก 3 ประเทศแรกไปแล้ว ในบทความนี้ ผมจะนำเสนอบทเรียนที่ได้จากประเทศโปรตุเกส
ประเทศโปรตุเกส ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่มีเสถียรภาพ จึงมี 2 ช่วงเวลาในการก้าวสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
ช่วงแรก ปี 1986 – 1991 ในช่วงนี้เศรษฐกิจของโปรตุเกสเติบโตกว่า 2.6 เท่า จนทำให้ก้าวขึ้นเป็นประเทศรายได้สูงในปี 1991 โดยมีรายได้ต่อหัวประชากรอยู่ที่ 8,190 ดอลลาร์
ช่วงที่ 2 ปี 2003 – 2008 เศรษฐกิจโปรตุเกสเติบโตในระดับสูงอีกครั้ง จนทำให้มีรายได้ต่อหัวประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 22,440 ดอลลาร์ ในปี 2008 และประเทศโปรตุเกสยังคงเป็นประเทศรายได้สูงอยู่จวบจนปัจจุบัน
แผนภาพแสดงรายได้ต่อหัวประชากร (GNI per capita) ของประเทศไทย มาเลเซีย และโปรตุเกส ตั้งแต่ปี 1960 – 2016
ปัจจัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ของโปรตุเกส ที่ส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจให้เปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลาง เป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูง ประกอบด้วย 3 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1) การวิจัยและพัฒนา
โปรตุเกสให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา โดยโปรตุเกสมีค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 405 ล้านดอลลาร์ในปี 1982 เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเป็น 823 ล้านดอลลาร์ ในปี 1989 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,067 ล้านดอลลาร์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) โดยในปี 1990 มีมูลค่าอยู่ที่ 2,363 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 3 ของ GDP และในปี 1991 มีมูลค่าอยู่ที่ 2,187 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นร้อยละ 2.45 ของ GDP
2) การเข้าร่วมสหภาพยุโรป
การเข้าร่วมสหภาพยุโรปของโปรตุเกสในปี 1986 ส่งผลให้เศรษฐกิจของโปรตุเกสขยายตัวในระดับสูง
ด้วยการยกเว้นอัตราภาษีศุลกากรและการลดหย่อนอัตราภาษีศุลกากรให้กับประเทศสมาชิก การเพิ่มขีดความสามารถในการส่งออก ด้านการผลิตและการลงทุน ตลอดจนการส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ จากในปี 1984 ที่โปรตุเกสมีอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP Growth) ติดลบที่ร้อยละ 1.88 จึงส่งผลให้เศรษฐกิจโปรตุเกสกลับมาขยายตัวในระดับสูง โดยมีอัตราการขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 7.49 ในปี 1988
ไม่เพียงเท่านั้น การเข้าเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปยังทำให้เศรษฐกิจโปรตุเกสมีเสถียรภาพมากขึ้น โดยก่อนการเข้าร่วมสหภาพยุโรป โปรตุเกสประสบกับปัญหาเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง กล่าวคือ มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 21.68 ในปี 1982 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 28.38 ในปี 1984 ทำให้โปรตุเกสต้องพยายามควบคุมอัตราเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำตามหลักเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ส่งผลทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 19.46 ในปี 1985 มาอยู่ที่ร้อยละ 12.33 ในปี 1986 และ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 5.42 ในปี 1994
3) มูลค่าเพิ่มในภาคบริการ
เนื่องจากโปรตุเกสไม่มีทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ โดยเฉพาะสินแร่หรือพลังงาน เศรษฐกิจของโปรตุเกสจึงขึ้นกับภาคบริการ โดยมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศภาคบริการขยายตัวสูง มีมูลค่าภาคบริการเพิ่มขึ้นจาก 2.07 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1977 หรือร้อยละ 9.65 ของ GDP เป็น 9.76 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1984 หรือคิดเป็นร้อยละ 38 ของ GDP
นับตั้งแต่ในอดีตมาจนปัจจุบัน ภาคบริการของโปรตุเกสยังคงมีศักยภาพสูงในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการท่องเที่ยวซึ่งทำรายได้ประมาณ 4.8 พันล้านดอลลาร์ต่อปี จากนักท่องเที่ยวซึ่งเข้าไปเที่ยวโปรตุเกสประมาณปีละ 12 ล้านคน จะเห็นได้จากการค้าภาคบริการของโปรตุเกสเกินดุลมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 2 พันล้านดอลลาร์ ในปี 1996 เป็น 13.8 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2015
ประเทศโปรตุเกสมีการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคและวัฏจักรเศรษฐกิจอย่างดี มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหา ค้นหาวิธีการที่จะช่วยให้ประเทศหลุดพ้นจากสภาพปัญหาที่กำลังเผชิญ และมีทิศทางในการแก้ไขปัญหาอย่างชัดเจน โดยระบบเศรษฐกิจมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปพร้อมๆ กับเสถียรภาพทางการเมืองที่ค่อยๆ มั่นคงขึ้น
ทั้งนี้ สำหรับการขับเคลื่อนประเทศไทยให้หลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง จำเป็นต้องอาศัยอำนาจภาครัฐในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจมหภาคอย่างมีประสิทธิสภาพ มองเห็นภาพรวมและสามารถจัดการกับต้นเหตุของการติดกับดักรายได้ป่นกลาง และลงมือแก้ไขและพัฒนาอย่างจริงจัง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลงทุนในการวิจัยและพัฒนาตามจุดแกร่งของประเทศ ซึ่งควรร่วมมือกับภาคเอกชนในการสร้างสินค้าและบริการเชิงนวัตกรรม ผูกสัมพันธ์และสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อขยายขนาดเศรษฐกิจและตลาด เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนในอนาคต
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com
Catagories:
Post date:
Monday, 11 June, 2018 - 11:04
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 35 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 32 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,383 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,287 ครั้ง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,395 ครั้ง