กล้า "รับ" คุ้มกว่า กล้า "หลบ"
เรื่องนี้อย่าบอกหัวหน้านะ ถ้าถูกจับได้ละก้อ แย่แน่เลย....เราช่วยกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน ถ้าหัวหน้าถามก็บอกไปว่า งานเรียบร้อยดี..ไม่มีปัญหา
ถ้าเธอเอาเรื่องนี้ไปบอกหัวหน้านะ เราเลิกเป็นเพื่อนกัน....ฉันจะหาข้อแก้ตัวดี ๆ ว่าทำไมงานจึงผิดพลาดมากขนาดนี้ แล้วจะบอกเอง
คำกล่าวข้างต้น เราคงเดาได้ว่า ผู้พูดกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ทำบางสิ่งผิดพลาดไป และกำลังพยายาม ?ปกปิด? ความผิดนั้นมิให้หัวหน้างานรับรู้ เพราะเกรงว่า ตนเองจะถูกตำหนิ หรือ ลงโทษ โดยไม่ได้มองว่า สิ่งที่ตนเองทำผิดนั้นส่งผลเสียหายร้ายแรง และต้องช่วยกันแก้ไขหรือไม่
คำถามคือ ถ้าเราทำงานแล้วเกิดความผิดพลาด ทั้งโดยตั้งใจ และไม่ตั้งใจ เช่น เราเผลอไปลบข้อมูลสำคัญของแผนกที่อาจจะต้องใช้ในอนาคต ถ้าเราไม่พูดก็จะไม่มีใครรู้ แต่เรื่องจะแดงขึ้น ในวันใดวันหนึ่งที่มีคนต้องการใช้ข้อมูลนี้...เราจะทำอย่างไร เราจะปกปิดเพราะกลัวถูกตำหนิ ถูกลงโทษ หรือรีบเปิดเผย กล้ายอมรับผิด ขอโทษ เพื่อให้ช่วยกันหาทางนำข้อมูลที่ลบไปกลับคืนมา
ในภาวะปกติ เราอาจจะมองว่า การยอมรับความผิดหรือแสดงความรับผิดชอบ เป็นเรื่องที่ทุกคนสมควรกระทำ แต่ในความเป็นจริง คนที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ?ความกลัว? จะเข้าครอบงำทันที กลัวผลที่จะเกิดขึ้นจากสิ่งที่ตนทำ ทำให้ตนเองต้องได้รับอันตราย จึงเป็นกลไกธรรมชาติของสัญชาตญาณมนุษย์ ที่ต้องหาทางเอาตัวรอด อาทิ ปกปิดเป็นความลับ หาเหตุผลแก้ตัว หนีเอาตัวรอด ฯลฯ
เป็นความจริงที่ว่า วัฒนธรรมการทำงานแบบไทย ๆ ยังมีแนวโน้ม ?ชอบปกปิดความผิด? เพื่อน ๆ ผู้บริหาร ทั้งคนไทยและต่างชาติ มักเห็นด้วยว่า คนไทยมีการแจ้งข่าวที่แปลกมาก คือ จะไม่กล้าบอกผู้บังคับบัญชา เมื่อเกิดปัญหาขึ้น พยายามแก้ไขกันเอง จนกระทั่งบานปลายไปเกินแก้ไขได้ จึงค่อยเข้ามาปรึกษา
จากประสบการณ์ที่ผมประสบมาเองบ่อยครั้ง ในฐานะผู้นำองค์กร หลายครั้ง ผมจะเป็นคนที่รู้ปัญหาความผิดพลาดที่ทีมงานบางคนก่อขึ้น เป็นคนสุดท้ายเสมอ อาจเป็นเพราะกลัวว่า ผมจะโกรธและจะถูกตำหนิ หรือไม่ก็คิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาเองได้ จนกระทั่งปัญหาบานปลายจึงค่อยสื่อสาร หรือไม่ก็ปกปิดไว้ จนผมมาพบความผิดเองด้วยความบังเอิญ
ผมคิดว่า หากคนทำงานเอาชนะความกลัว ไม่ปกปิดความผิด แต่กล้าเปิดเผยความจริง ยอมรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น และพยายามหาทาง ?แก้ไข? ไม่ใช่หาเรื่อง ?แก้ตัว? จะทำให้เส้นทางชีวิตอนาคตจะเจริญก้าวหน้าและมั่นคงได้มากกว่า
การปกปิดความผิดเหมือน ?ระเบิดเวลา? คนที่ทำผิดแล้วปิดไว้ มักคิดว่า ถ้าปกปิดความผิดไว้อย่างดี ไม่มีใครรู้ ไม่มีใครเห็น จะไม่มีใครจับได้ และตนเองจะรอดปลอดภัย โดยมักไม่คิดว่า ถ้าถูกจับได้ขึ้นมาจะเป็นเช่นไร จะถูกลงโทษร้ายแรงกว่า หากเรายอมรับความผิดในตอนนี้หรือไม่ ทำให้เมื่อความผิดที่เราปิดไว้ถูกเปิดขึ้นมา ไม่เพียงจะต้องรับผลที่เรากลัว เช่น การถูกตำหนิ การลงโทษ ฯลฯ สิ่งที่มีค่าที่เราจะสูญเสียตามมา และเรียกกลับคืนมาได้ยาก นั่นคือ ความไว้เนื้อเชื่อใจ เพราะไม่มีใครชอบถูกหลอก ไม่มีใครชอบคนที่โกหก หรือปกปิดความผิดไว้
ความกลัวถูกตำหนิและปกปิดความผิดนั้นไว้ ยิ่งเท่ากับเป็นการแช่ปัญหา ซึ่งอาจทำให้ปัญหานั้นส่งผลร้ายแรงตามมามากยิ่งขึ้น เพราะความผิดที่ปกปิดไว้ถูกเปิดโปง จะรุนแรงกว่าเราเปิดเผยเองเสมอ เหมือนระเบิดเวลาที่ซ่อนอยู่ เมื่อคนไปเปิดพบเข้า ย่อมเหมือนการจุดชนวนและทำให้เกิดระเบิดขึ้นมา
การปกปิดความผิดสร้าง ?กรงขังตัวเอง? การปกปิดความผิดไว้ เท่ากับเป็นการพันธนาการตัวเองด้วยความกลัว ความวิตกกังวลว่าจะถูกจับได้เมื่อไหร่ จะมีใครรู้หรือไม่ ซึ่งย่อมทำให้ชีวิตไม่มีความสุข ไร้ความสบายใจ และลึก ๆ ย่อมรู้สึกว่า ตนเองเป็นคนที่ไม่ดี และจะต้องถูกลงโทษอย่างแน่นอนเมื่อถูกจับได้ ในทางตรงกันข้าม หากเราทำผิด และยอมรับความผิดนั้น แม้จะรู้สึกเสียหน้า หรือต้องถูกตำหนิ หรือถูกลงโทษจากสิ่งที่ทำ แต่จะช่วยให้เราไม่ต้องสะสมความรู้สึกผิดไว้ในใจ แต่เรียนรู้บทเรียนจากความผิดพลาดนั้น เพื่อแก้ไขปรับปรุงตนเองให้ดีขึ้น
การปกปิดมี ?ต้นทุน? ความเสี่ยงเสมอ ถ้าเรารู้ว่าสิ่งที่ทำนั้นผิด และต้องได้รับผลแห่งการกระทำนั้น ให้เราประเมินก่อนว่า มันคุ้มที่เราจะเสี่ยงปกปิดหรือไม่ ความผิดบางอย่างนั้น แลกด้วย "อนาคต" ของเรา เราจะแลกหรือไม่ แลกด้วยความเชื่อมั่น ความไว้วางใจ ความศรัทธาที่ผู้อื่นมีต่อเรา ต้องสูญเสียไป เรายอมแลกหรือไม่ แลกกับประวัติการทำงานที่ด่างพร้อย เรายอมแลกหรือไม่ แลกกับจิตสำนึกผิดชอบชั่วดีในใจ เรายอมแลกหรือไม่ การปกปิดความผิด มักมี "ต้นทุน" ความเสี่ยงเมื่อล้มเหลวตามมาด้วยเสมอ
ทางที่ดีกว่า คือ เราไม่ควรตั้งใจทำความผิด และ เราไม่ควรตั้งใจปกปิดความผิดที่ได้ทำลงไป แม้ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจที่จะทำก็ตาม
ถ้าเราทำผิด เราควรยอมรับผิด ควรมุ่งไปที่ประเด็นของปัญหาที่เกิดขึ้น และความต้องการที่จะแก้ปัญหานั้นโดยเร่งด่วน โดยตระหนักว่า การยอมรับความจริง กล้ารับผิดชอบต่อสิ่งที่ตนเองทำลงไป และพร้อมที่จะแก้ไขใหม่ ถือเป็นความกล้าหาญ และมีจิตสำนึกเชิงคุณธรรมที่สูงส่ง มีความซื่อสัตย์ต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งจะช่วยทำให้คนรอบข้างเห็นความจริงใจ และช่วยให้ความศรัทธาความเชื่อมั่นที่ผู้อื่นมีต่อเรายังคงอยู่ ไม่สูญเสียไป
ที่มา: งานวันนี้
ปีที่ 16 ฉบับที่ 715 วันที่ 2-9 ธันวาคม 2557
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
แหล่งที่มาของภาพ : http://www.prosofthrmi.com/FileSystem/Image/darika/20130716/6 ข้อผิดพลาดในการปฏิบัติต่อพนักงานใหม่.jpg
Post date:
Friday, 26 June, 2015 - 12:25
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 106 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 122 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 65 ครั้ง
ทำอย่างไร เมื่อไทยกลายเป็น สังคมคนโสด
Total views: อ่าน 101 ครั้ง
ทำอย่างไร? ประเทศไทยจะไม่เสียเกาะกูดให้กัมพูชา
Total views: อ่าน 65 ครั้ง