ข้อเสนอเคลื่อนเศรษฐกิจโดยจัดทำเมกะโปรเจ็กต์ด้านการวิจัย
เมื่อมองการพัฒนาเศรษฐกิจไทย ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ผมคิดว่า เราไม่ได้ออกแบบอนาคตอย่างมีวิสัยทัศน์ คนในชาติมองไม่เห็นอนาคตว่า ประเทศชาติจะลงเอยอย่างไรในระยะยาว เพราะมุ่งเน้นแก้ปัญหาเฉพาะหน้า พรรคการเมืองเน้นทำนโยบายระยะสั้นเอาใจประชาชน และเปลี่ยนนโยบายทุกครั้งที่เปลี่ยนรัฐบาล
ผมได้เสนอให้มีการกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาชาติระยะยาวมานานแล้ว โดยเสนอ เป้าหมายการสร้างความมั่งคั่งและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ (Economic Prosperity and Sustainability)
ในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ผมได้เสนอแนวคิด ?เศรษฐกิจสวัสดิภาพ (Well-being Econom y)? ไว้ในหนังสือ ?สยามอารยะแมนนิเฟสโต : แถลงการณ์สยามอารยะ? โดยเศรษฐกิจสวัสดิภาพมีองค์ประกอบและตัวชี้วัดสำคัญ ดังต่อไปนี้
(1) เศรษฐกิจรายได้สูง คือ ประชาชนมีรายได้ต่อหัวโดยเฉลี่ยสูงเทียบเท่ากับกลุ่มประเทศรายได้สูงตามเกณฑ์ของธนาคารโลก โดยตั้งเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจรายได้สูงภายในปี 2580
(2) เศรษฐกิจเท่าเทียม คือ ระบบเศรษฐกิจที่ประชาชนมีรายได้ไม่แตกต่างกันมากจนเกินไป ส่วนแบ่งรายได้ของคนรวยที่สุดร้อยละ 10 ต่อส่วนแบ่งรายได้ของคนจนที่สุดร้อยละ 10 ไม่เกิน 20 เท่า ภายในปี 2580 จากความแตกต่างในปัจจุบันที่สูงถึง 35 เท่า
(3) เศรษฐกิจปลอดความยากจน คือ เศรษฐกิจที่ปราศจากความยากจน กล่าวคือ ไม่มีคนยากจน (ใต้เส้นความยากจน) ยกเว้นคนยากจนโดยสมัครใจ ภายในปี 2580
สถานะของประเทศไทยในปัจจุบัน ยังห่างไกลจากการเป็นเศรษฐกิจสวัสดิภาพอยู่มาก เมื่อเทียบกับตัวชี้วัดที่เป็นเป้าหมายทั้ง 3 ด้านข้างต้น กล่าวคือ ประเทศไทยกำลังติดกับดักรายได้ปานกลาง มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงทั้งในเชิงรายได้และความมั่งคั่ง และยังมีคนยากจนเป็นจำนวนมาก แม้จำนวนลดลง แต่ยังเป็นอัตราที่สูงเมื่อเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจรายได้สูง จึงจำเป็นอย่างยิ่งในการยกเครื่องทางเศรษฐกิจใหม่
ผมมีข้อเสนอแนะเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเพื่อการสร้างชาติหลายประการ โดยในบทความตอนนี้ ผมขอนำเสนอยุทธศาสตร์ ?การจัดทำเมกะโปรเจ็กต์ด้านการวิจัย?
จากการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างระดับรายได้ต่อหัว และค่าใช้จ่ายด้านวิจัยและการพัฒนา (R&D) ของประเทศต่างๆ ทั่วโลก พบว่า ตัวแปรทั้งสองมีความสัมพันธ์กันในเชิงบวก แต่ปัญหาหลัก คือ ประเทศไทยมีการลงทุน R&D ต่ำ
แม้ปัจจุบันสัดส่วนค่าใช้จ่าย R&D ต่อจีดีพีของประเทศไทยเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 0.2 ? 0.26 ของจีดีพี ระหว่างปี 2542 ? 2552 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.48 ของจีดีพีในปี 2557 แต่ยังห่างจากค่าใช้จ่าย R&D ของประเทศรายได้สูงที่สูงถึงร้อยละ 2.46 ของจีดีพี ทั้งนี้การลงทุนใน R&D ของประเทศไทยอยู่ในระดับเดียวกับประเทศรายได้ปานกลางกลุ่มล่างเท่านั้น
ประเทศไทยยังขาดแคลนนักวิจัย โดยเฉพาะในภาคเอกชน และบริบทไม่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม อาทิ ขาดการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา และวัฒนธรรมการลอกเลียนแบบ
กระบวนการจัดสรรงบประมาณด้าน R&D กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการวิจัยแบบกว้างๆ วัดความสำเร็จได้ยาก การดำเนินโครงการวิจัยแบบต่างคนต่างทำ คุณภาพของงานวิจัยต่ำ ทำให้งานวิจัยขึ้นหิ้ง จำนวนการตีพิมพ์น้อย และการจดสิทธิบัตรต่ำ
ผมคิดว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยควรตั้งเป้าเรื่อง R&D ให้ชัดเจน ผมเสนอว่า ประเทศไทยควรเพิ่มค่าใช้จ่าย R&D เป็นร้อยละ 3 ของจีดีพีภายในปี 2570 เพื่อให้มีการลงทุน R&D อยู่ในระดับทัดเทียมประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรมของโลก
โดยการจัดทำเมกะโปรเจ็กต์ด้านการวิจัย แบบมีเป้าหมายชัดเจนเป็นรูปธรรม และสร้างผลกระทบในวงกว้าง เช่น โครงการ R&D เทคโนโลยีการผลิตทางการเกษตรให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น 1 เท่า ภายใน 10 ปี โครงการ R&D เพื่อให้ประเทศพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้ ลดการนำเข้าพลังงานเหลือเพียงร้อยละ 20 เป็นต้น
การจัดทำโครงการด้านการวิจัยและพัฒนาขนาดใหญ่ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจาก
ประการแรก ทำให้เกิดการสนับสนุนการพัฒนาประเทศระยะยาว เพราะภาคเอกชนเน้นทำ R&D เชิงพาณิชย์ในระยะสั้นและปานกลาง เมกะโปรเจ็กต์ด้านการวิจัยจะเน้น R&D ที่ส่งผลระยะยาว ทั้งเชิงเศรษฐกิจและสังคม
ประการที่สอง ทำให้เกิดการบูรณาการด้านการวิจัยและพัฒนา ทั้งโครงการวิจัย หน่วยงานและบุคลากรด้าน R&D ทำให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมียุทธศาสตร์ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุน R&D อย่างเพียงพอ มีการปรับปรุงบริบที่เอื้อต่อการวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรม
ประการที่สาม ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างครบวงจร การพัฒนาบุคลากรด้าน R&D เป็นไปอย่างมีทิศทางที่ชัดเจน มีโครงสร้างที่รองรับบุคลากรเหล่านั้นในระยะยาว และสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถจากต่างประเทศ
ผมขอยกตัวอย่างประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการลงทุน R&D ขนานใหญ่ โดยเพิ่มค่าใช้จ่าย R&D จากร้อยละ 0.77 ของ GNP ในปี 2525 เป็นร้อยละ 2.91 ของ GNP ในปี 2545 ปัจจุบันเกาหลีใต้เป็นผู้ลงทุน R&D สูงเป็นอันดับ 6 ของกลุ่ม OECD และสร้างนักวิจัยเพิ่มขึ้นจาก 5,628 คน ในปี 2513 เป็น 178,937 คนในปี 2544
เกาหลีใต้สามารถสร้างผลงาน R&D จำนวนมาก มีการตีพิมพ์ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นจาก 171 ชิ้นในปี 2523 เป็น 14,673 ชิ้นในปี 2544 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราการขยายตัวเร็วที่สุดในโลก และมีผลงานตีพิมพ์สูงเป็นอันดับ15 ของโลก และมีการออกสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจาก 1,808 ชิ้น ในปี 2523 เป็น 45,298 ในปี 2545 โดยเป็นสิทธิบัตรของคนเกาหลีถึงร้อยละ 66.7
ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ระยะยาวที่มีความจำเป็นและนำการพัฒนามาสู่ประเทศอย่างแท้จริง แม้ปัจจุบันยังห่างไกลจากเป้าหมายอยู่มาก แต่ยังมีโอกาสพัฒนาด้าน R&D หากทุกภาคส่วนเร่งมือและร่วมมือกัน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Catagories:
Tags:
Post date:
Monday, 10 April, 2017 - 16:08
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สว. 2567 คนแบบคุณก็เป็นได้ โดยไม่ต้องใช้เงิน
Total views: อ่าน 35 ครั้ง
ที่ดิน ส.ป.ก. ทำกินเพื่อเกษตรกร ไม่ใช่ ทุจริตเพื่อข้าราชการ นายทุน และนักการเมือง
Total views: อ่าน 32 ครั้ง
เปลี่ยนเงินหวย เป็น 'สลากออมทรัพย์'
Total views: อ่าน 3,382 ครั้ง
แนวทางการพัฒนา ทุนมนุษย์ สำหรับประเทศไทย
Total views: อ่าน 1,285 ครั้ง
ทรัพยากรมนุษย์ ทุนมนุษย์ ศักยภาพมนุษย์ ในแนวคิด ดร.แดน
Total views: อ่าน 1,395 ครั้ง