การสร้างระบบออกแบบที่ดี เพื่อออกแบบระบบที่ดี

โลกอยู่ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดปัญหาที่ซับซ้อนมากขึ้น นับเป็นความท้าทายต่อภาครัฐในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว เพราะระบบภาครัฐแบบดั้งเดิมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนา ทั้งสายการบังคับบัญชาที่ยาว การยึดกฎระเบียบมากเกินไป การทำงานแบบแยกส่วน ขาดการมีส่วนร่วมของพลเมือง เน้นนโยบายระยะสั้น และไม่ให้น้ำหนักกับการตอบโจทย์สังคม จากการศึกษาวิจัยและการคิดมาตลอดชีวิต ผมได้ตกผลึกทางความคิดว่า ระบบที่ดี คือ ระบบที่จะทำให้คนชั่วทำดีโดยไม่รู้ตัว ในทางตรงกันข้าม ระบบที่ชั่ว คือ ระบบที่จะทำให้คนดีทำชั่วโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากเราไม่สามารถทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ และจะมีต้นทุนสูงมากในการควบคุมมิให้คนชั่วไปสร้างความเสียหายแก่ผู้อื่นและส่วนรวม

อย่างไรก็ดี ระบบที่ดีจะเกิดขึ้นได้จำเป็นต้องมีการออกแบบระบบ (System Design) อย่างมีเหตุผลและรอบคอบ แต่การออกแบบระบบที่ดีจะเกิดขึ้นได้นั้น ก็ต่อเมื่อมีระบบออกแบบ (Design System) ที่มีการจัดองค์ประกอบต่างๆ ที่เอื้อต่อการบรรลุเป้าประสงค์ได้

ในช่วงเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา หลายประเทศมีความพยายามพัฒนาระบบออกแบบ โดยโมเดลหนึ่งที่เป็นที่นิยมมากขึ้น คือ ห้องทดลองนโยบาย หรือ Policy Lab ซึ่งเป็นหน่วยงานรูปแบบใหม่ที่จัดตั้งขึ้นภายในองค์กรภาครัฐ โดยมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในการสนับสนุนความพยายามด้านนวัตกรรมของภาครัฐ

แนวคิดของห้องทดลองนโยบาย คือ การเป็นแพล็ตฟอร์มที่จัดตั้งขึ้นเป็นพิเศษในรูปแบบห้องทดลองนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนการสร้างนวัตกรรม ซึ่งอยู่บนฐานความร่วมมือ การปฏิสัมพันธ์ และการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง และผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบาย

MindLab เป็นห้องทดลองนโยบายของภาครัฐแห่งแรกของโลก ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศเดนมาร์ค เมื่อปี พ.ศ. 2545 และกลายเป็นต้นแบบของห้องทดลองนโยบายในภาครัฐ ที่แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ เช่น Policy Lab ในสหราชอาณาจักร, Shipyard ในเนเธอร์แลนด์, Laboratorio innovazione ในอิตาลี, Helsinki Design Lab ในฟินแลนด์, IT Gov Lab ในสหรัฐอเมริกา เป็นต้น ทั้งนี้ ผมจะขอยกตัวอย่าง MindLab ซึ่งมีลักษณะที่ใกล้เคียงพอจะเข้าเกณฑ์ครบองค์ประกอบเพื่ออธิบายทฤษฎีที่ผมเสนอกับการเป็นระบบออกแบบที่ดี โดยผมจะวิเคราะห์ระบบขององค์กรนี้ด้วยแนวคิดทฤษฎี “7 องค์ประกอบของระบบ” ของผม ซึ่งประกอบด้วย

  • โครงสร้าง
  • กระบวนการ
  • กฎ/ระเบียบ/กติกา
  • ปทัสถาน/ค่านิยม
  • วัฒนธรรม
  • ประเพณี และ
  • ความเป็นสถาบัน

1) โครงสร้าง MindLab อยู่ภายใต้การกำกับของ 3 กระทรวงหลักทางเศรษฐกิจ คือ กระทรวงธุรกิจและการเจริญเติบโต กระทรวงภาษีอากร และกระทรวงการจ้างงาน โดยการรวมห้องทดลองนโยบายของ 3 หน่วยงาน ให้เป็นห้องทดลองเดียว เพื่อประโยชน์ในการร่วมมือข้ามหน่วยงานภาครัฐ

คณะกรรมการของ MindLab ประกอบด้วย เลขานุการถาวร 3 คนที่มาจากข้าราชการระดับสูงของทั้ง 3 กระทรวง ตัวแทนภาคธุรกิจ 3 คน และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยอีก 1 คน เพื่อเอื้อให้เกิดความร่วมมือ 3 ประสาน ระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และมหาวิทยาลัย

2) กระบวนการ MindLab มีกระบวนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบ กล่าวคือ เป็นกระบวนการแปลงแนวความคิดใหม่ๆ เป็นข้อเสนอหรือวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม การวิจัย การคิด และการตัดสินใจบนข้อมูลและหลักฐาน

กระบวนการทำงานของ MindLab เริ่มตั้งแต่การกำหนดขอบเขตและโครงการออกแบบ การเรียนรู้เกี่ยวกับผู้ใช้และความต้องการของผู้ใช้ การนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ แล้วจึงนำแนวคิดใหม่ไปทดสอบ เมื่อได้ผลการทดสอบจะย้อนกลับไปขั้นตอนการเรียนรู้ผู้ใช้อีกครั้ง จนกระทั่งได้ผลการทดสอบที่น่าพอใจ จึงจะสื่อสารผลการทดสอบออกไปสู่สาธารณะ ก่อนจะนำสิ่งที่ออกแบบไปดำเนินการจริง และจะมีการวัดผลการดำเนินการเพื่อการประเมินผลและปรับปรุงต่อไป

3) กฎ/ระเบียบ/กติกา การจัดตั้งและพัฒนา MindLab รัฐบาลเดนมาร์คจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายจำนวนหนึ่ง เพื่อให้กฎระเบียบเอื้อต่อการดำเนินงานของหน่วยงานรูปแบบใหม่ โดยไม่ติดขัดกับกฎระเบียบของระบบราชการแบบดั้งเดิม

เช่น การแก้ไขกฎหมายเพื่อรวมห้องทดลองนโยบายของ 3 กระทรวงเข้าเป็นห้องทดลองเดียว การลดกฎระเบียบราชการ เพื่อทำให้เกิดความคล่องตัวในการร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานที่ไม่ใช่ภาครัฐ รวมทั้งสามารถดำเนินงานนอกเหนือจากวิธีการ ทักษะ รูปแบบ และเครื่องมือที่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐแบบดั้งเดิม เพื่อให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมเชิงระบบ

4) ปทัสถาน/ค่านิยม บุคลากรและการดำเนินงานของ MindLab ให้คุณค่าการแก้ปัญหาให้กับสังคมและประชาชน ความสนใจในโครงการระยะยาว การเคารพมุมมองจากภายนอก การมีส่วนร่วมของประชาชน การเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่หรือวิธีการใหม่ๆ ในการแก้ปัญหา

5) วัฒนธรรม MindLab ได้สร้างวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างจากวัฒนธรรมของระบบราชการแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะวัฒนธรรมการคิดนอกกรอบ เพราะการทำงานขององค์กรเป็นพลวัตร และเปิดโอกาสให้ใช้วิธีการและเครื่องมือใหม่ๆ เพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่โจทย์สังคมและปฏิบัติได้จริง เช่น การทดสอบ การทดลอง การทำซ้ำ การสังเกตพฤติกรรม การสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เป็นต้น

อีกวัฒนธรรมหนึ่ง คือ วัฒนธรรมการยอมรับความแตกต่างทางความคิด เพราะมีการทำงานร่วมกับบุคคลและองค์กรภายนอกอยู่เสมอ ขณะที่บุคลากรใน MindLab มาจากหลายสาขาที่มาทำงานร่วมกัน เช่น เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ มานุษยวิทยา สังคมวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ การสื่อสาร เป็นต้น

6) ประเพณี MindLab ได้พัฒนารูปแบบกิจกรรมที่ทำซ้ำจนกลายเป็นประเพณีขององค์กร ซึ่งมีวัตถุประสงค์อยู่เบื้องหลังประเพณีนั้น อาทิ

- การจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ใช้เวลาสั้น เพื่อให้สามารถสร้างนวัตกรรมตอบสนองผู้ใช้ได้เร็ว

- การรับสมัครบุคลากรใหม่โดยมีคำถามหลัก คือ “คุณต้องการปฏิวัติภาครัฐจากภายในหรือไม่” และการฝึกอบรมบุคลากรเกี่ยวกับระบบภาครัฐ ทั้งนี้เพื่อให้เข้าใจภาครัฐ แต่ไม่คิดแบบข้าราชการ

- การรักษาขนาดองค์กรให้เล็ก โดยมีบุคลากรหลักไม่มาก และจ้างนักศึกษาปริญญาเอกไม่เต็มเวลา เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมที่คุ้นเคย เป็นมิตร แต่เป็นพลวัตร ซึ่งเหมาะแก่การสร้างสรรค์นวัตกรรม

7) ความเป็นสถาบัน MindLab เป็นหน่วยงานรัฐที่ถูกจัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยได้รับความสำคัญจากผู้บริหารระดับสูงในภาครัฐ และมีงบประมาณ โครงสร้าง และกฎระเบียบรองรับ ตลอดจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ ทำให้สามารถดำเนินการอย่างต่อเนื่องถึง 16 ปี และถึงแม้ MindLab ได้ถูกปิดตัวลงแล้ว แต่มรดกของ MindLab ยังคงถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่มาแทนที่ คือ Disruption Task Force

ปัจจุบัน ระบบราชการไทยได้มีการปรับปรุงไปแล้วบางส่วนเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป และแก้ปัญหาที่หมักหมมมายาวนาน รวมทั้งกำลังจัดตั้งห้องทดลองนโยบาย คือ Gov Lab ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทย เพราะประเทศไทยมีปัญหาเชิงระบบเป็นจำนวนมาก และจำเป็นต้องมีระบบออกแบบที่มีคุณภาพ

อย่างไรก็ดี การสร้างระบบออกแบบที่จะประสบความสำเร็จนั้น จำเป็นต้องพัฒนาให้ครบทั้ง 7 องค์ประกอบดังที่กล่าวข้างต้น และยังต้องคำนึงถึงคนและบริบทที่เกี่ยวข้องด้วย เพื่อให้ประเทศไทยมีระบบออกแบบที่ดี เพื่อไปออกแบบระบบที่ดีได้  

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน

ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.comhttp://www.kriengsak.com