สร้างคนเพื่อสร้างชาติ: สร้างคนให้ดำเนินชีวิตบนหลักปรัชญาอารยะ
ผมกล่าวเสมอว่า “ในเรื่องเดียวกัน คนที่มีหลักปรัชญาที่แตกต่างกัน จะมีจุดยืนและการตัดสินใจที่แตกต่างกัน” ยกตัวอย่าง เหมา เจ๋อตุง และเติ้ง เสี่ยวผิง บริหารจัดการประเทศจีนต่างกัน เพราะมีปรัชญาเบื้องหลังเกี่ยวกับมนุษย์ที่ไม่เหมือนกัน
เหมา เจ๋อตุง มีหลักปรัชญาที่ว่า ‘มนุษย์เห็นแก่ผู้อื่น ยินดีเสียสละแบ่งปัน ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน’ทำให้เกิดเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลางและระบบคอมมูน โดยมองว่าชาวนาเป็นแรงงานของรัฐ ทุกคนได้รับผลตอบแทนเท่ากัน
เติ้ง เสี่ยวผิง มีหลักปรัชญาว่า ‘มนุษย์เห็นแก่ประโยชน์ตัวเองมากกว่าผู้อื่น’ และการจะทำเพื่อผู้อื่นนั้นจะต้องมีแรงจูงใจ จึงนำไปสู่การปฏิรูปเศรษฐกิจโดยการใช้แรงจูงใจแก่ชาวนาในชนบท และใช้กลไกตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป
หลักปรัชญา คือ แก่นสารัตถะเชิงนามธรรมที่ลึกซึ้ง ที่มีความสำคัญ เพราะทุกคนมีปรัชญา โดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม ตั้งแต่ชาวบ้าน แม่ค้าพ่อค้า ไปถึงนักการเมือง นายกรัฐมนตรี ฯลฯ ส่วนหลักปรัชญาจะคงเส้นคงวาหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการสังเกต จึงจะทราบได้ว่าแต่ละคนมีปรัชญาเบื้องหลังอะไร
การมีหลักปรัชญาที่ถูกต้อง จะนำไปสู่การปฏิบัติที่ถูกต้อง ทำให้มีโอกาสประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น ไม่ว่าทำสิ่งใด ทั้งการดำเนินชีวิต การทำงาน การเรียน การบริหารธุรกิจ ไปจนถึงการสร้างชาติ
หากปราศจากนามธรรม จะส่งผลให้รูปธรรมไร้ทิศทาง และนามธรรมที่ไม่มีรูปธรรม จะขาดความกระจ่างแจ้ง เพราะปฏิบัติให้เห็นไม่ได้ ดังนั้น จะปฏิบัติสิ่งใดต้องเริ่มจากหลักปรัชญา ถ้าปรัชญาถูกต้อง ทุกอย่างจะง่ายขึ้น
ผมเรียกกระบวนการตั้งแต่หลักปรัชญาจนนำไปสู่หลักปฏิบัติ ว่า “ทฤษฎีหลักหมุด” กล่าวคือ การจะคิดภาคปฏิบัติได้ดี ต้องเริ่มจาก หลักปรัชญา-->หลักคิด-->หลักวิชา-->หลักการ-->หลักปฏิบัติ
หลักคิด คือ กรอบความคิดตกผลึกที่งอกจากหลักปรัชญา
หลักวิชา คือ องค์ความรู้ที่สั่งสมและพัฒนาภายใต้หลักคิด
หลักการ คือ สาระสำคัญในการดำเนินการหรือแนวทางทั่วไป
หลักปฏิบัติ คือ แนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ภายใต้บริบทเจาะจง
ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาคนให้เป็นกำลังสำคัญในการสร้างชาติในทิศทางที่พึงประสงค์ จำเป็นต้องเริ่มด้วยการทำให้คนได้เรียนรู้ว่า ควรดำเนินชีวิตบนฐานของปรัชญาที่ถูกต้อง เพื่อให้รู้จักตนเอง รู้ว่าตนเองมีคุณค่า รู้ว่าจะใช้ชีวิตตนอย่างมีคุณค่าสูงสุดได้อย่างไร รู้ว่าคนอื่นมีคุณค่า และรู้ว่าจะอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมอย่างดีที่สุดได้อย่างไร
แนวคิดการสร้างคนในชาติที่สำคัญที่สุด คือ การสร้างคนให้ดำเนินชีวิตบนหลักปรัชญาอารยะ อันได้แก่ ปรัชญาปัจเจกอารยะและปรัชญาสังคมอารยะ
(1) คนดำเนินชีวิตบนฐานปรัชญาปัจเจกอารยะ คือ ยึดมั่นในความดีแท้ งามแท้ และจริงแท้
โดยเฉพาะเรื่องความดีแท้ ที่มีข้อถกเถียงในสังคมอยู่บ่อยครั้ง ผมจึงขออธิบายว่า ความดีแท้ เป็นการเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อนประโยชน์ส่วนตน เป็นความดีที่คำนึงถึงผู้อื่นก่อน อันจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกับสังคม และดีกับทุกฝ่ายในระยะยาว ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 มิติ
มิติคุณธรรมจริยธรรม ได้แก่ มีหลักคุณธรรมจริยธรรมที่ดี มีความคิด และความประพฤติที่ดี เช่น มีความกตัญญูเชิงชอบธรรม ซื่อสัตย์ ขยัน เมตตา ยุติธรรม อดทน ไม่ฆ่าคน เป็นต้น
มิติกายภาพหรือความอยู่ดีมีสุข ได้แก่ มีความขยันหมั่นเพียร ไม่เกียจคร้าน ทำมาหากิน รับผิดชอบตนเองได้ มีความปรารถนาประสบความสำเร็จ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่เหมาะสม อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดภัย มีปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต
ในขณะที่ ความงามแท้ เป็นสิ่งที่จะไม่พบเห็น หากมี ‘อคติ’ ภายในใจ เพราะจะทำให้วัดหรือตัดสินความงามด้วยภาพลักษณ์ภายนอกเพียงอย่างเดียว ปราศจากการมองความงามในระดับจิตใจ
สำหรับ ความจริงแท้ คือ ความจริงในประเด็นต่าง ๆ ที่ปรากฏ โดยไม่ขึ้นกับว่าจะอยู่ในบริบทกาละและเทศะใด และมนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่เข้าใจความจริงหรือความเป็นไปของโลกและชีวิต จึงทำให้เกิดการแสวงหาความจริงขึ้น และมนุษย์จะไม่หยุดแสวงหาความจริง จนกว่าจะพบความจริงแท้
การแสวงหาความจริงนั้น เราควรส่งเสริมให้คนคิดเป็น ไม่เชื่อข้อมูลที่ได้รับอย่างง่าย ๆ โดยต้องสอนให้คนใช้เหตุผล รู้จักวิธีการตั้งคำถาม สืบค้นความจริงแบบวิทยาศาสตร์ ใช้ตรรกะ และมุ่งแสวงหาความจริงมากกว่าการใช้อารมณ์เข้าตัดสิน ควรส่งเสริมการเรียนรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งในระบบและนอกระบบ
(2) คนอยู่ร่วมกันบนฐานของปรัชญาสังคมอารยะ คือ ยึดมั่นในเสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพที่พึงประสงค์
เสรีภาพที่พึงประสงค์ เป็นเสรีภาพในโอกาสปลดปล่อยศักยภาพเชิงบวก เพื่อจะสามารถรวมศักยภาพ ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์จากทุกคน สร้างประโยชน์แก่สังคมภาพรวม โดยสังคมจะได้ประโยชน์จากทุกคนในลักษณะทวีคูณ
ตัวอย่างเสรีภาพที่พึงประสงค์ เช่น การลด “อาวุโสนิยม” ลง เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ได้เลื่อนขั้นตำแหน่ง ตามเกณฑ์ความรู้ ความสามารถ และความดีมากกว่าตามความอาวุโส เป็นต้น
การบังคับ ควบคุม จำกัด หรือกดขี่ข่มเหง เสรีภาพของมนุษย์ เท่ากับการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง (Dehumanization) นำมาซึ่งปัญหาสังคมในมิติอื่น
เสมอภาคที่พึงประสงค์ ไม่ใช่ความเสมอภาคที่เท่ากันทุกคน แต่เป็นความเสมอภาคที่เหมาะสมกับความต้องการ เป็นจัดระบบให้ประโยชน์สูงสุดเกิดกับทุกคน อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ จัดแบ่งประเภทคนให้เหมาะสม คนประเภทเดียวกันจะได้รับการปฏิบัติเหมือนกัน ไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งทำให้สังคมได้ประโยชน์สูงสุด
ดังตัวอย่าง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมในการได้เรียน โดยไม่นำเรื่องค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค เพราะมีทุนการศึกษาให้อย่างเพียงพอ และจะไม่ปฏิเสธผู้เรียนเพียงเพราะ “ไม่มีเงิน”
ภราดรภาพที่พึงประสงค์ คือ ไม่มีใครถูกทอดทิ้ง แม้คนที่ไม่สามารถสร้างประโยชน์ให้สังคมได้ เช่น คนพิการ ทุพพลภาพ ฯลฯ
ปัจจุบัน ประเทศพัฒนาแล้ว ล้วนให้ความสำคัญกับการมีภราดรภาพเป็นพื้นฐาน ดังตัวอย่าง ประเทศญี่ปุ่นที่มีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ เช่น ห้องน้ำมีเสียงบอกทิศทางของอุปกรณ์ ต่าง ๆ ให้กับคนพิการ มีอักษรเบรลล์ในที่จำหน่ายตั๋ว หรือแม้กระทั่งบนกระป๋องเครื่องดื่ม เป็นต้น ถึงแม้ว่าคนพิการในญี่ปุ่นมักมีพฤติกรรมชอบอยู่บ้าน เพราะไม่ต้องการเป็นภาระใครก็ตาม
คนที่มีฐานหลักปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง จะส่งเสริมให้เขามีความเข้มแข็ง ทั้งทางความคิด จิตใจและจิตวิญญาณ ประกอบกับมีความดี เก่ง กล้า ย่อมกลายเป็นพลเมืองที่มีศักยภาพ สามารถนำตนเองและประเทศไปสู่ความสำเร็จได้
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
kriengsak@kriengsak.com, http://www.kriengsak.com
Tags:
Post date:
Tuesday, 19 June, 2018 - 15:00
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
Passive Outcome
Total views: อ่าน 106 ครั้ง
เกียรติระบบ : Honour System สังคมให้เกียรติ หลู่เกียรติ ทอนเกียรติ ตู่เกียรติ
Total views: อ่าน 122 ครั้ง
ยุติสงคราม สร้างสันติภาพโลกถาวร (ซ้ำ)
Total views: อ่าน 65 ครั้ง
ทำอย่างไร เมื่อไทยกลายเป็น สังคมคนโสด
Total views: อ่าน 101 ครั้ง
ทำอย่างไร? ประเทศไทยจะไม่เสียเกาะกูดให้กัมพูชา
Total views: อ่าน 65 ครั้ง