ASEAN-ASEAR: ยุทธศาสตร์ความร่วมมือ ASEAN-รัสเซีย
ในบทความนี้ ผมจึงขอนำเสนอแนวคิดและความเห็นที่ผมได้ให้ไว้ในที่ประชุมดังกล่าว ได้แก่ ข้อเสนอในการสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระหว่างอาเซียนกับรัสเซียในภูมิภาคตะวันออกไกล สิ่งที่น่าสนใจและเป้าหมายของเมืองวลาดิวอสตอคอันเป็นศูนย์กลางเขตเศรษฐกิจตะวันออกไกลของรัสเซีย และภาพรวมทางเศรษฐกิจของประเทศรัสเซียในปัจจุบัน
จากการประชุมฯ ผมได้เสนอประเด็นความร่วมมือระหว่างอาเซียน-รัสเซียว่า ภูมิภาคตะวันออกไกลหรือเขตสหพันธ์ตะวันออกไกล (Far Eastern Federal District) นี้ ควรจะถูกเรียกว่า ASEAR หรือ "Association of South East Asian Russia" เพื่อให้เกิดความตระหนักว่า รัสเซียไม่ใช่ตะวันตกเท่านั้น แต่มีพื้นที่ที่มีความใกล้ชิดกับเอเชียด้วย ผมเสนอว่าควรจัดทำความร่วมมือใหม่ที่เรียกว่า ?ASEAN-ASEAR Cooperation? เพราะภูมิภาคตะวันออกไกลนับเป็นประตูเชื่อมการขนส่งของรัสเซีย กับประเทศในเขตเอเชีย-แปซิฟิก และการขนส่งสินค้าจากต่างประเทศเข้ารัสเซียและเอเชียกลาง
จากข้อมูลของสถานทูตไทยในกรุงมอสโก พบว่า เขตเศรษฐกิจภูมิภาคตะวันออกไกล เป็นเขตที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ที่สุดของรัสเซีย มีทรัพยากรธรรมชาติประเภทสินแร่และรัตนชาติเป็นจำนวนมาก อาทิ ทองคำ เพชร ถ่านหิน น้ำมัน ไม้ และทรัพยากรทางทะเล
ถึงแม้ว่าภาคตะวันออกไกลจะมีขนาดเศรษฐกิจไม่ใหญ่โตเหมือนเขตอื่นๆ กล่าวคือ มีสัดส่วนของจีดีพีเพียงร้อยละ 6 แต่มีความสำคัญในเชิงภูมิเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีเมืองท่าวลาดิวอสตอคที่ทำหน้าที่เป็นประตูการค้าเชื่อมรัสเซียกับเขตเศรษฐกิจของประเทศเอเชียแปซิฟิก และประเทศในเอเชียแปซิฟิกก็ใช้เมืองท่านี้ ในการส่งสินค้าเข้ารัสเซียและประเทศในเขตเอเชียกลางด้วย
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากร และวัตถุดิบของภาคตะวันออกไกลของรัสเซีย จะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมของไทย และยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากท่าเรือขนส่งของมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งอยู่ในวิสัยที่ไทยจะขนถ่ายวัตถุดิบเข้าประเทศไทยได้ โดยมีต้นทุนค่าขนส่งไม่สูงนัก แต่มีข้อด้อยตรงที่พื้นที่นี้มีประชากรไม่หนาแน่นและกระจัดกระจาย ซึ่งอาจไม่คุ้มทุนที่จะพัฒนาให้เป็นตลาดสินค้าของไทย นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันสูงจากสินค้าที่มาจากจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ซึ่งมีพรมแดนติดกับรัสเซียอีกด้วย
ทั้งนี้ เป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัสเซียในการพัฒนาภูมิภาคตะวันออกไกลคือ จะใช้เมืองวลาดิวอสตอคเป็นเมืองศูนย์กลาง ที่จะผลักดันให้เขตเศรษฐกิจตะวันออกไกลของรัสเซียเจริญเติบโต และสามารถก้าวสู่การเป็นโซนเศรษฐกิจพิเศษขั้นสูงได้ โดยทำให้เป็นเมืองท่าที่ปลอดภาษี
นอกจากนี้ ผมยังได้เสนอในการประชุมโต๊ะกลมผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วยท่านทูตจากรัสเซียและประเทศต่างๆ ในอาเซียน รวมทั้งผู้นำทางการเมือง และผู้นำทางการศึกษาในรัสเซียและอาเซียนว่า เนื่องจากรัสเซียและจีนถูกผลักให้ใกล้ชิดกัน โดยคู่แข่งมหาอำนาจโลกปัจจุบันอย่างสหรัฐอเมริกาและอียู การที่รัสเซียเข้ามาสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งกับอาเซียน จะช่วยให้เกิดความเจริญรุ่งเรือง ความสมดุลแห่งอำนาจ และความปลอดภัยของภูมิภาค ซึ่งในเรื่องนี้ ประเทศไทยในฐานะเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับสองของอาเซียน สามารถเล่นบทบาทเป็นดุมล้อของอาเซียน และเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนให้เกิดความสัมพันธ์เช่นนี้ได้
ทว่า เศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบันอยู่ในช่วงชะลอตัวมาตั้งแต่ปี 2556 เนื่องจากแรงกดดันทางการเมืองระหว่างประเทศจากสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศยุโรปและชาติพันธมิตร ประกอบกับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2557 เป็นต้นมา ราคาน้ำมันโลกลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้จีดีพีของรัสเซียในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 หดตัวลงร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งรุนแรงกว่าช่วงไตรมาสแรก ที่จีดีพีหดตัวลงร้อยละ 2.2 เศรษฐกิจรัสเซียในปัจจุบันถือว่าซบเซาลงมากที่สุดในรอบ 6 ปี และมีโอกาสกลับไปหดตัวลงอีก หากราคาน้ำมันยังมีแนวโน้มลดลง เพราะน้ำมันนับเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งและเป็นรายได้หลักของรัสเซีย
ด้วยสถานการณ์ที่เช่นนี้ การพัฒนาความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับรัสเซีย จึงต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ในแง่ดีคือ อาเซียนจะมีอำนาจต่อรองมากขึ้น เพราะรัสเซียมีความจำเป็นต้องแสวงหาพันมิตรอื่น เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของตน แต่เราจำเป็นอย่างยิ่งในการจับตามองเศรษฐกิจรัสเซีย รวมถึงความร่วมมือระหว่างจีนกับรัสเซีย และท่าทีของสหรัฐอเมริกาและอียูที่มีต่อจีนและรัสเซีย เพื่อการวางตัวอย่างเหมาะสมของประเทศไทยและอาเซียน
ผมดีใจที่เป็นตัวแทนในฐานะคนไทย ที่ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นในเวทีนี้ และผมเชื่อว่าประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างยิ่ง เพราะผลสัมฤทธิ์ของการประชุมนี้ จะถูกรายงานตรงไปถึงประธานาธิบดีและนักการเมืองคนสำคัญของรัสเซียด้วย
ท้ายที่สุด อาเซียนต้องเตรียมความพร้อมรับมือในทุกสถานการณ์ คือ การรักษาความมีเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ สร้างนวัตกรรม สนับสนุนการทำวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรม สินค้าและบริการ เพื่อให้สามารถยืนได้ด้วยตัวเอง และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง
ประเด็นสำคัญคือ การสร้างความมั่นคงทางการเมือง ทั้งในและระหว่างประเทศสมาชิก เพื่อไม่ให้มีประเทศใดเข้ามาแทรกแซงความสัมพันธ์ในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ เพราะหาก 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน มีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อาเซียนจะกลายเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างโลกตะวันตกกับโลกตะวันออก อันสามารถสร้างประโยชน์มากมายให้แก่ประเทศไทยและอาเซียน
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ
คอลัมน์ : ดร.แดน มองต่างแดน
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
ประธานสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (IFD)
Catagories:
Tags:
Post date:
Friday, 13 November, 2015 - 13:47
เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
การส่งเสริมความร่วมมือไทย อินเดีย เพื่อการสร้างชาติ
Total views: อ่าน 1,099 ครั้ง
ปัจจัยความสำเร็จสู่ประเทศชั้นนำด้านนวัตกรรม
Total views: อ่าน 2,033 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 3 ประสิทธิผล
Total views: อ่าน 5,130 ครั้ง
เก่งจริง ต้องร่วมทีมได้
Total views: อ่าน 5,273 ครั้ง
ยุทธศาสตร์การบริหาร 8E : ตอนที่ 2 ประสิทธิการ
Total views: อ่าน 4,755 ครั้ง