แก้ไข-ป้องกันการใช้ความรุนแรงของผู้เรียน

ปัญหาความรุนแรงของเด็กและเยาวชนในกลุ่มผู้เรียนดูเหมือนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นลักษณะการทะเลาะวิวาทและการยกพวกตีกัน กรณีล่าสุดที่เผยแพร่ทางสื่อคือ คลิปวีดีโอการรุมทำร้ายเพื่อนนักเรียนของเด็กชั้นมัธยมศึกษา และอาชีวศึกษาทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับการสำรวจ ldquo;วัยรุ่นไทยกับการใช้ความรุนแรงrdquo; ที่สำนักวิจัยเอเบคโพลร่วมกับกรมสุขภาพจิตพบว่า วัยรุ่นไทยมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงมากขึ้น

สาเหตุของการใช้ความรุนแรงอาจมาจากหลายปัจจัย อาทิ สภาพแวดล้อมที่ยั่วยุเด็ก สภาพการเลี้ยงดูของพ่อแม่ แรงกระตุ้นจากกลุ่มเพื่อน ค่านิยมการเป็นศัตรูกับคนต่างพวก การเรียกร้องความสนใจ ตลอดจนการซึมซับความรุนแรงจากสื่อต่าง ๆ และของเล่นหรือเกมที่สื่อถึงความรุนแรง เช่น ปืน อาวุธ เกมส์คอมพิวเตอร์ ละคร เป็นต้น

การแก้ปัญหาการใช้ความรุนแรงจึงควรใช้วิธีการที่หลากหลายและดำเนินการอย่างเป็นระบบ รวมถึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม หรือที่ผมเรียกว่า ldquo;การแก้ไขและป้องกันการใช้ความรุนแรงของกลุ่มผู้เรียนแบบครบวงจรrdquo; โดยผมขอเสนอแนวทางดังนี้

ครอบครัว พ่อแม่หรือคนในครอบครัวนับว่ามีบทบาทสำคัญในการลดแรงกระตุ้นพฤติกรรมก้าวร้าวและความรุนแรงในเด็ก โดยการขัดเกลาพฤติกรรมลูกตั้งแต่ปฐมวัย เช่น การเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เด็ก ให้เวลากับเด็กอย่างเพียงพอ ไม่ปล่อยปละละเลยลูกในการรับสื่อหรือการคบเพื่อน และเอาใจใส่ในเรื่องต่าง ๆ เมื่อพบว่าเด็กมีพฤติกรรมก้าวร้าว พ่อแม่ไม่ควรเพิกเฉย แต่ควรเรียกมาพูดคุย สื่อสารกับลูกด้วยความรัก และพูดคุยด้วยเหตุผลเป็นหลักว่า สิ่งใดทำได้ ทำไม่ได้ เพราะเหตุใด

สถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษาควรกำหนดเป็นเป้าหมายให้ทุกโรงเรียนจัดทำโครงการเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขและป้องกันอย่างชัดเจนและเป็นขั้นตอน จัดทำแผนยุทธศาสตร์ระยะสั้น และพัฒนาครูให้เป็นแบบอย่างและสามารถแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้น จัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้เด็กและเยาวชนเห็นคุณค่าศักยภาพของตัวเอง โดยสอดแทรกค่านิยมรู้แพ้รู้ชนะ และการใช้เหตุผลมากกว่าอารมณ์

หลักสูตรการสอน หลักสูตรควรได้รับการปรับให้มีความยืดหยุ่น ไม่มุ่งเน้นพัฒนาแต่ด้านวิชาการที่มุ่งให้เด็กเรียนเพื่อสอบแข่งขันเท่านั้น แต่ควรสอนให้เด็กเป็นคนดี สามารถใช้หลักเหตุผลในเชิงคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างร่วมสมัย เพื่อลดปัญหาเด็กเก่งแต่ขาดคุณธรรม

ชุมชน การยับยั้งปัญหาต่าง ๆ ในเด็กวัยรุ่นนั้น ไม่สามารถกระทำได้โดยฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงลำพัง ด้วยเหตุนี้ชุมชน เครือข่ายพ่อแม่ผู้ปกครอง ควรมีส่วนแก้ไขป้องกันการใช้ความรุนแรง เช่น ครูควรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปกครองเพื่อช่วยสอดส่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม การส่งเสริมให้ชุมชนเป็นหูเป็นตาเพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรง

ในส่วนของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทที่สำคัญคือ การผลักดัน สนับสนุนให้โครงการแก้ไขป้องกันการใช้ความรุนแรงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนกระตุ้นให้สื่อ ดารา-นักร้องนำเสนอเนื้อหาและผลงานที่สร้างสรรค์ และทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เช่น การจัดเรตติ้งสื่อ สนับสนุนและให้รางวัลสื่อที่นำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจและส่งเสริมคุณธรรม อย่างไรก็ตาม การดำเนินการข้างต้นไม่ควรทำเพียงเพื่อการเร่งหาทางออกแบบชั่วครู่ชั่วยามในเวลาที่มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้น แต่จากนั้นกลับเงียบหายไปเหมือนไฟไหม้ฟางอย่างที่ผ่านมาในอดีต ซึ่งจะไม่สามารถป้องกันแก้ไขปัญหาพฤติกรรมก้าวร้าวและรุนแรงในเด็กได้ในระยะยาวอย่างแท้จริง

admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2006-07-02