ความเป็นไปได้ในการขจัดความจนให้หมดไป
รัฐบาลกำหนดให้การแก้ไขปัญหาความยากจน เป็น 1 ใน 3 สงคราม ที่รัฐบาลประกาศจะกำจัด นอกเหนือจาก ปัญหายาเสพติด และคอร์รัปชัน โดยนายกฯ ประกาศว่าจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทย ในช่วงเวลา 6 ปี เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ปี 2546 ดังนั้นเส้นตายคืออีกประมาณ 3 ปีครึ่งต่อจากนี้ การจะรักษาสัญญานี้ให้ได้ ถือว่าเป็นงานหนักอย่างยิ่งของรัฐบาล
จากประสบการณ์ทั่วโลก พบว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนลดลง ในทำนองเดียวกัน การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยที่ผ่านมาหลายสิบปี ทำให้สัดส่วนคนยากจนในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่เศรษฐกิจหดตัว ทำให้คนยากจนเพิ่มขึ้น
ที่ผ่านมา การเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณที่เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโลก ส่งผลทำให้สัดส่วนคนยากจนมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเกิดจากผลของ ldquo;trickle down effectrdquo; หรือหมายความว่า หากเศรษฐกิจในภาพรวมขยายตัว จะทำให้คนยากจนในประเทศ ได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวด้วย
ผมจึงได้ทำการคำนวณเพื่อประเมินว่า หากรัฐบาลจะใช้ trickle down effect เพื่อแก้ขจัดความยากจนให้หมดไปใน 3 ปีครึ่งจากนี้ เศรษฐกิจไทยจะต้องขยายตัวปีละเท่าไร มีโอกาสที่จะขจัดความยากจน โดยการกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือไม่ ภายใต้ข้อสมมติที่ว่าเส้นความยากจนไม่เปลี่ยนแปลง และผลจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้ประโยชน์แก่คนรวยและคนจนในสัดส่วนเท่ากัน ซึ่งผลการคำนวณ พบว่ารัฐบาลต้องทำให้เศรษฐกิจขยายตัวประมาณร้อยละ 8 ต่อปีเป็นอย่างน้อย
หากเปรียบเทียบกับการประเมินภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตโดยสภาพัฒน์ (สศช.) ซึ่งประมาณการณ์ไว้เมื่อปี 2547 ว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวไม่เกินร้อยละ 6 ต่อปีเท่านั้น โดยคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.8 ในปี 2548 (ซึ่งปัจจุบัน เศรษฐกิจปี 2548 ขยายตัวเพียงร้อยละ 4.7) และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวประมาณร้อยละ 5.7 ในปี 2549-2550 และร้อยละ 5.9 ในปี 2551 แสดงว่า การขจัดความยากจนโดยพึ่งพาการขยายตัวทางเศรษฐกิจแทบไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จเลย
รัฐบาลคงต้องทุ่มเททำงานหนักและรวดเร็วมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหลายเท่า หากต้องการแก้ปัญหาความยากจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืน ภายในเวลาที่เหลืออยู่