ต่างเวลา ต่างผลลัพธ์
บุคคลที่ต้องทำหน้าที่ต่อหน้าผู้อื่น จำนวนไม่น้อยไม่ได้ตระหนักว่า ช่วงเวลาในการพูดมีผลต่อประสิทธิภาพการฟัง ซึ่งในเรื่องนี้ได้ทำให้ผู้พูดล้มเหลวในการพูดมาแล้ว แม้จะเตรียมตัวเป็นอย่างดี นั่นเนื่องจาก ในแต่ละช่วงเวลา ประสิทธิภาพการรับรู้ การมีสมาธิจดจ่อกับเรื่องหนึ่งเรื่องใดของคนเรานั้นมีความแตกต่างกันนั่นเอง
ดังนั้น หากต้องการให้การพูดของเราประสบความสำเร็จ เราควรเรียนรู้ช่วงเวลาที่เราจะพูด เพื่อเตรียมบทพูดและเตรียมความพร้อมในการพูดอย่างเหมาะสม โดยอาจแบ่งเวลาเป็น 5 ช่วง
ช่วงแรก ช่วงเช้า 9.00 ถึงประมาณ 10.30 น. ช่วงนี้นับเป็นช่วงเวลาที่ผู้ฟังมีสมาธิมากที่สุด เพราะพวกเขามาด้วยความคาดหวังที่จะฟัง ดังนั้น จึงมีความตั้งใจ สนใจ ขณะเดียวกัน ช่วงนี้เป็นช่วงที่คนเราพักผ่อนมาอย่างเต็มที่ จึงมีความสดชื่น เหมาะกับที่รับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ที่เข้ามาได้โดยง่าย อย่างไรก็ตาม หากผู้ฟังไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามา อาจเกิดอาการกระสับกระส่ายในช่วงใกล้ ๆ พักรับประทานอาหารว่างได้ เราอาจสังเกตเห็นได้ และควรปล่อยพักให้ตรงเวลา หรือก่อนเวลาสัก 15 นาที โดยให้ผู้ฟังกลับเข้ามาฟังต่อเร็วขึ้น
ช่วงสาย หรือหลังคอฟฟี่เบรก ประมาณ 10.31 ndash; 12.00 น. ช่วงนี้เช่นเดียวกับช่วงเช้า ประสิทธิภาพการรับรู้จะมีมากในช่วงแรก และจะค่อย ๆ ลดลงในช่วงใกล้เวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ดังนั้น เราควรพูดเรื่องสำคัญ ๆ ในช่วงแรก และพูดเรื่องเบา ๆ ในช่วงท้าย อาจเป็นการเปิดโอกาสให้ซักถาม โดควบคุมเวลาเลิกให้ตรงเวลา จะช่วยให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกพอใจมากที่สุด
ช่วงหลังอาหารกลางวัน ระหว่างเวลา 13.00 ndash; 15.00 น. ช่วงนี้เป็นช่วงที่เรียกว่า ldquo;โหดร้ายrdquo; มากที่สุดสำหรับผู้พูด คงไม่ต้องบรรยายมาก เพราะเราคงเคยมีประสบการณ์มาแล้วว่า ขณะอาหารกำลังย่อยนั้น อาการง่วงจะเกิดขึ้นอย่างไม่ต้องเชื้อเชิญ ในช่วงเวลาไม่เกินหนึ่งชั่วโมงหลังอาหาร ดังนั้น หากเราต้องพูดในช่วงเวลานี้ เราจำเป็นต้องคิดหาวิธีที่จะปลุกอารมณ์ผู้ฟังมิให้ง่วงหลับไป อาจเป็นการพูดที่แทรกเรื่องขำขัน การพูดที่ออกท่าทาง หรือเดินไปมาไม่อยู่กับที่ เพื่อให้สายตาของผู้ฟังได้เคลื่อนไหวไปมา อาจให้ผู้ฟังมีส่วนร่วมบ้าง อาทิ ถามคำถาม หรือให้ยกมือ เป็นต้น การสร้างบรรยากาศที่ครึกครื้นสนุกสนานจะช่วยทำลายกำแพงความง่วงลงได้
ช่วงก่อนกลับบ้าน 15.00 ndash; 17.00 น. ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่าหนักใจอีกช่วงหนึ่งของผู้พูด เพราะผู้ฟังจะจดจ่อได้ไม่ถึงเวลา 17.00 น. เนื่องจากมักจะมีภารกิจที่ต้องทำต่อ อาทิ ไปรับลูกที่โรงเรียน นัดเพื่อน หรือไม่ก็บ้านไกล กลัวรถติด ต้องรีบกลับบ้าน ดังนั้น หากเราต้องพูดในช่วงเวลานี้ เราควรพยายามพูดในประเด็นสำคัญ ๆ ให้หมดในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้นอาจเป็นการอธิบาย การทบทวน การซักถาม และเลิกให้ตรงเวลา
ช่วงหลังอาหารค่ำ ประมาณ 19.30 น. หากเราได้พูดในช่วงเวลานี้ ควรตระหนักว่า คนที่นั่งมากว่าชั่วโมงเพื่อรับประทานอาหาร พูดคุยสนทนาอย่างออกรสกับเพื่อนร่วมโต๊ะ อีกทั้งคงมีหลายคนที่ได้ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ กลุ่มบุคคลเหล่านี้จะไม่สามารถทนกับโปรแกรมที่เป็นทางการเป็นเวลานาน ๆ ได้ พวกเขาต้องการที่จะพูดคุยกับเพื่อน ๆ ดื่มต่อมากกว่าที่จะอดทนฟังบางคนพูดเป็นเวลานาน ๆ ดังนั้น ข้อแนะนำสำหรับผู้พูด คือ ต้องใช้เวลาพูดให้สั้นที่สุด ไม่ให้เกิน 15 นาทีหากเราต้องการพูดอย่างประสบความสำเร็จ และหากมีผู้พูดหลายคน ให้เราพยายามเลือกที่จะพูดเป็นคนแรกจะดีที่สุด
จำไว้ว่า แม้พูดเรื่องเดียวกัน แต่หากพูดต่างเวลา เราจะพบความจริงว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้นแตกต่างกัน เราจึงจำเป็นต้องเรียนรู้จักความแตกต่างของคนในแต่ละช่วงเวลา และปรับตัวให้เหมาะสมเพื่อให้ผู้ฟังเปิดรับข้อมูลข่าวสารจากเราได้มากที่สุด
เผยแพร่:
งานวันนี้
เมื่อ:
2007-10-02