ปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลเพื่อส่งเสริมการลงทุนในชนบทไทย

รัฐบาลไทยประกาศขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประชาชนอยู่ดีมีสุข โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชน ยุทธศาสตร์ดังกล่าวดำเนินการพร้อมกับ โครงการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีการจัดสรรงบประมาณกว่า 1 หมื่นล้านบาทลงพื้นที่ทั่วประเทศ เพื่อทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ระยะยาว ส่งเสริมให้ชุมชนมีความเข้มแข็งและพึ่งพาตัวเองได้ ผ่านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากแก้วเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ

ข้อควรระวังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับรากแก้ว คือ ประสิทธิภาพการใช้จ่าย เนื่องจากประชาชนอาจนำเงินไปใช้เพื่อการบริโภคมากเกินไป โดยไม่นำไปลงทุนซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์และความคุ้มค่าต่อเศรษฐกิจภาพรวมมากกว่า ผมจึงเห็นด้วย หากแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล เป็นการสนับสนุนการลงทุนของผู้ประกอบการ เพื่อทำให้ภาคการผลิตแท้จริงเกิดการขับเคลื่อน และเกิดการจ้างงานในชุมชน ซึ่งย่อมมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่ภาครัฐลงทุนและดำเนินการเอง และมีความเสี่ยงน้อยกว่าการให้ประชาชนที่ไม่มีทักษะการประกอบการเป็นผู้ลงทุน

อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญในการสนับสนุนให้ผู้ประกอบการลงทุนในชนบท คือ การขาดแคลนผู้ที่มีทักษะการประกอบการในชุมชน และการขาดแรงจูงใจในการเข้าไปลงทุนในชุมชน เนื่องจากต้นทุนการลงทุนในชนบทสูงมากเมื่อเทียบกับการลงทุนในเมือง แต่ผลประโยชน์ที่จะได้รับกลับต่ำกว่า ที่ผ่านมา มาตรการส่งเสริมการลงทุนในชนบทจึงไม่ประสบความสำเร็จมากนัก เพราะเป็นมาตรการระยะสั้น ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้างต้นทุนและผลประโยชน์ระหว่างเมืองและชนบท

ปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคล เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจรากแก้ว

ผมจึงขอเสนอแนวคิดเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจรากแก้ว และกระจายความเจริญและรายได้สู่ชนบท และลดความแออัดของเมือง โดยการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลให้มีอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ที่ขาดผู้ที่มีทักษะการเป็นผู้ประกอบการและพื้นที่ที่มีการลงทุนต่ำ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชนบทมีความเข้มแข็งมากขึ้น

การปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลไม่ได้หมายความว่า จะต้องเพิ่มอัตราภาษีในเขตเมือง แต่อาจเป็นการลดอัตราภาษีในชนบท ถึงแม้ว่าการลดอัตราภาษีดังกล่าวจะทำให้การจัดเก็บรายได้ของภาครัฐลดลง แต่เมื่อมองในมุมกลับหมายถึงสภาพคล่องของภาคเอกชนที่มีมากขึ้น และนำไปสู่การลงทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่าการที่ภาครัฐนำเงินก้อนนี้ไปใช้จ่ายเอง ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเอกชนขยายการลงทุนมากขึ้น จะทำให้ภาครัฐจัดเก็บภาษีได้มากขึ้นในอนาคต

แนวทางกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลในแต่ละพื้นที่

หลักเกณฑ์ในการกำหนดอัตราภาษีนิติบุคคลในแต่ละพื้นที่ อาจพิจารณาจากดัชนีเศรษฐกิจรายจังหวัด เช่น ดัชนีชี้วัดความยากจน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด (จีดีพีจังหวัด) ต้นทุนการประกอบกิจการในแต่ละพื้นที่แยกเป็นรายอุตสาหกรรม ผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละพื้นที่แยกเป็นรายอุตสาหกรรม เป็นต้น ทั้งนี้การกำหนดว่า อัตราภาษีในแต่ละพื้นที่ควรเป็นเท่าไรนั้นจะต้องมีการศึกษาวิจัยและรับฟังความต้องการของประชาชนต่อไป เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลงทุนตามที่ต้องการ ไม่เกิดการลำเอียงต่อพื้นที่ใดมากเกินไป และเพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดจากมาตรการนี้

ข้อควรคำนึงก่อนดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีนิติบุคคลฯ

อย่างไรก็ตาม มาตรการทางด้านภาษีไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่สามารถสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนในพื้นที่ชนบท ภาครัฐควรกำหนดมาตรการด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมด้วย โดยคำนึงถึงเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละท้องถิ่น อาทิ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการผลิต การขนส่ง การจัดการมลพิษ และการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ การยกระดับฝีมือแรงงาน กาส่งเสริมคลัสเตอร์ของภาคการผลิต ฯลฯ โดยจะต้องคำนึงถึงความสอดคล้องกับความได้เปรียบเชิงเปรียบของแต่ละพื้นที่

การสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีมีสุข ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเฉพาะศักยภาพที่มีอยู่ในชุมชนเท่านั้น แต่อาจจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ประกอบการและทรัพยากรจากภายนอกชุมชน โดยกำหนดเงื่อนไขจูงใจที่ทำให้ภายในและภายนอกชุมชนได้ประโยชน์ร่วมกัน ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องอยู่ภายใต้กรอบความต้องการของคนในชุมชนด้วย
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-04-03