การช่วยเหลือด้านการเงิน: หลักประกัน ?คนเก่งต้องได้เรียน?
หากพิจารณาค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงในสหรัฐอเมริกา เราจะพบว่า แม้ว่าค่าเล่าเรียนของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดกับมหาวิทยาลัยอื่นในกลุ่มไอวีลีคหรือกลุ่มมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของสหรัฐอเมริกา จะไม่แตกต่างกันมากนัก ในปีการศึกษา 2007-2008 ค่าเล่าเรียนในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอยู่ระหว่าง 48,550 - 50,950 เหรียญสหรัฐต่อปี ในขณะที่ค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเยล 48,700 เหรียญสหรัฐต่อปีมหาวิทยาลัยบราว์น ประมาณ 48,660 เหรียญสหรัฐต่อปี สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ประมาณ 48,200 เหรียญสหรัฐต่อปี ใกล้เคียงกับมหาวิทยาลัยคอร์แนล คือ 48,200 เหรียญสหรัฐต่อปี ค่าใช้จ่ายดังกล่าวจึงนับว่า เป็นมูลค่าที่สูงพอสมควรสำหรับครอบครัวที่มีฐานปานกลาง เพราะรายได้ส่วนบุคคลโดยเฉลี่ย (Disposable Personal Income) อยู่ที่ประมาณ 31,773 เหรียญสหรัฐต่อปี
การสนับสนุนทุนการศึกษา จึงนับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ใช้จูงใจคนเก่งให้เลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี่ มหาวิทยาลัยแห่งนี้ได้มีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขในการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ผู้เรียนเต็มจำนวน ในกรณีที่นักศึกษามาจากครอบครัวที่มีรายได้ต่ำกว่า 60,000 เหรียญสหรัฐต่อปี รวมถึงส่วนลดค่าเล่าเรียนสำหรับครอบครัวนักศึกษาที่มีรายได้ระหว่าง 60,000 ndash; 80,000 เหรียญสหรัฐต่อปี
ฮาร์วาร์ดสนับสนุนด้านการเงินแก่นักศึกษาจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้เรียนที่มีความรู้ความสามารถ กล่าวคือ นักศึกษา 2 ใน 3 จะได้รับการช่วยเหลือทางการเงินจากมหาวิทยาลัยโดยรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ค่าใช้จ่ายที่มหาวิทยาลัยช่วยเหลือนักศึกษาแต่ละคนไม่น้อยกว่า ร้อยละ 70 ของค่าเล่าเรียน รวมถึงมีการคาดการณ์กันว่าในปี ค.ศ. 2007 มหาวิทยาลัยจะเพิ่มงบประมาณในการช่วยเหลือนักศึกษาเป็น 90 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 2006 ร้อยละ 6.2 และเพิ่มขึ้นร้อยละ 65 จากงบประมาณใน 6 ปีที่ผ่านมา โดยฮาร์วาร์ดเองได้ประกาศตัวว่า เป็นมหาวิทยาลัยที่สนับสนุนทางการเงินแก่ผู้เรียนมากกว่าบรรดามหาวิทยาลัยเอกชนในสหรัฐอเมริกา
การส่งสัญญาณของมหาวิทยาลัยในการเปิดรับนักศึกษาที่มีความสามารถ โดยไม่ให้ปัญหาเรื่องการเงินเป็นอุปสรรคนั้น นับว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่สนับสนุนให้ผู้เรียนที่มีความสามารถ แต่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่พร้อม ตัดสินใจที่จะสมัครเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยแห่งนี้
หลักประกัน ldquo;คนเก่งต้องได้เรียนrdquo;
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มีนโยบายสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1643 บนฐานคิดที่ว่า เป็นการสร้างหลักประกันแก่ผู้เรียนที่มีความต้องการด้านการเงินได้รับการสนับสนุนให้สามารถศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ โดยไม่มีการปิดกั้นด้านเชื้อชาติ หากแต่อาจมีแหล่งทุนบางประเภท ที่ต้องการสงวนไว้สำหรับนักศึกษาอเมริกันโดยเฉพาะ อาทิ Federal Pell Grant
ปัจจุบันเงินส่วนนี้มาจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็น การบริจาคจากบรรดาศิษย์เก่า ผู้ให้บริจาคจากภายนอก รวมถึงดอกผลจากกองทุนเพื่อการพัฒนาของมหาวิทยาลัย (Endowment Fund)
...มหาวิทยาลัยกับนโยบายความช่วยเหลือ 3 รูปแบบ... การสนับสนุนผู้เรียน โดยการช่วยเหลือทางการเงินนี้จะคำนึงถึงความจำเป็นของนักศึกษาแต่ละคน (need-based) ดังนี้
การจ้างงานนักศึกษา โดยนักศึกษาส่วนใหญ่จะต้องทำงาน 6-8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับหนังสือ และค่าใช้จ่ายส่วนตัวที่จะต้องจ่ายสำหรับการเรียนแต่ละปีการศึกษา
การให้ทุนกู้ยืม นักศึกษาอาจได้สิทธิในการกู้ยืมมากกว่า 1 ทุน แหล่งกู้ยืมที่มหาวิทยาลัยจัดหาให้มีหลายแหล่ง แต่ละแหล่งจะมีเงื่อนไขการใช้คืนและอัตราดอกเบี้ยที่แตกต่างกัน
ทุนการศึกษาที่มาจากภายนอก และมหาวิทยาลัยเป็นผู้มอบให้ ทุนจากภายนอกนั้นจะมาจากทั้งรัฐบาลกลาง มลรัฐ รวมถึงองค์กรเอกชน ซึ่งการสนับสนุนทุนการศึกษานี้จะพิจารณา จากคุณสมบัติและความจำเป็นของผู้เรียน
ทั้งนี้นโยบายการสนับสนุนทางการเงิน การให้ทุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดนี้สอดคล้องกับมหาวิทยาลัยอื่นในกลุ่มไอวีลีค คือ ไม่มีทุนสำหรับนักกีฬา ทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงทุกทุนอย่างเท่าเทียมกัน
การขอทุนช่วยเหลือทางการเงินแต่ละประเภทจากมหาวิทยาลัย จะมีช่วงเวลาในการยื่นเอกสารแตกต่างกัน ผู้สนใจจึงต้องทำความเข้าใจและเตรียมตัวจัดหาเอกสารให้พร้อม ก่อนลงมือกรอกใบสมัครเข้ามหาวิทยาลัย เพราะต้องจัดส่งแบบการขอสนับสนุนทางการเงินมาพร้อมกับใบสมัครเข้าศึกษาต่อ สิ่งสำคัญคือ มหาวิทยาลัยมีนโยบายที่ชัดเจนว่า การแสดงความจำนงขอรับการสนับสนุนทางการเงินจะไม่เป็นอุปสรรคกีดกั้นสิทธิของผู้เรียนในการรับคัดเลือกให้เข้ามาศึกษาต่อ
สะท้อนกลับมาสู่มหาวิทยาลัยของไทย ขณะนี้มหาวิทยาลัยของรัฐบาลหลายแห่งกำลังทยอยปรับตัวเอง เพื่อเข้าสู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐบาล ซึ่งมีความหวั่นเกรงจากผู้ปกครองและนักศึกษาเกี่ยวกับค่าเล่าเรียนที่จะเพิ่มสูงขึ้น เป็นเหตุให้ผู้เรียนที่มีความสามารถแต่ฐานะยากจนไม่สามารถเข้าถึงการอุดมศึกษา
ความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว ผมเคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้เรียนที่มีด้อยโอกาสหรือกลุ่มผู้เรียนที่มีความสามารถแต่ฐานะยากจน ให้สามารถเข้าถึงอุดมศึกษาไว้หลายครั้ง เมื่อดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่ว่าจะเป็น การอภิปรายในวาระรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. hellip;. การเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ. hellip;. มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี พ.ศ. hellip;. ซึ่งมีแนวทางดังนี้
การจัดสรรให้มีกองทุนเพื่อการศึกษาจากรัฐบาล รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการให้ทุนการศึกษาในรูปแบบกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยมุ่งเน้นการพิจารณาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำถึงปานกลาง โดยใช้เกณฑ์ความประพฤติ ประวัติการเรียนที่ผ่านมา ความประสงค์ของการเรียนในสาขาวิชานั้น และแนวคิดการนำวิชาความรู้มาประยุกต์ให้เป็นประโยชน์ต่อตนเอง สังคม และประเทศ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีฐานะยากจนหรือด้อยโอกาส สามารถเข้าถึงการอุดมศึกษาได้
ให้มหาวิทยาลัยจัดตั้งกองทุนสนับสนุน จัดสรรทุนการศึกษาแก่นิสิตนักศึกษา ในรูปแบบของกองทุนให้เปล่าที่จัดสรรมาจากการบริหารเงินงบประมาณของมหาวิทยาลัย เช่น โดยการจัดตั้งจากสมาคมศิษย์เก่า หรือรายได้จากการให้บริการด้านต่าง ๆ ขอมหาวิทยาลัย รายได้จากเงินและทรัพย์สิน ซึ่งมีผู้อุทิศให้มหาวิทยาลัยโดยมีการร่าง พ.ร.บ. ระบุไว้ชัดเจน เพื่อสร้างหลักประกันด้านโอกาสทางการศึกษาให้นักศึกษาในอนาคตแม้ว่าในความจริงกองทุนการศึกษาของแต่ละมหาวิทยาลัย อาจไม่ได้มีงบประมาณจำนวนมหาศาล แต่นับว่าเป็นการแบ่งเบาภาระของรัฐ อีกทั้งเป็นการทำให้ผู้เรียนที่ยากจน ได้รับโอกาสรับการศึกษาในระดับอุดมศึกษา
กองทุนเพื่อการศึกษาจากภาคเอกชน การที่มหาวิทยาลัยสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชน ที่เข้ามาจัดสรรทุนการศึกษา แก่ผู้เรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในรูปเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา โดยเล็งเห็นว่าจะได้ประโยชน์ร่วมทั้งสองฝ่าย คือ สถาบันเอกชนเองสามารถรับคนเรียนดีเข้าสู่สถาบันด้วยการให้ทุนการศึกษา ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนเองจะได้ผู้เรียนที่มีคุณภาพป้อนเข้าสู่องค์กรของตนในตลาดแรงงาน
การระดมทุนของมหาวิทยาลัยณ ขณะนี้ คงต้องยอมรับว่า การอุดมศึกษาของไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำสูง ซึ่งส่งผลให้มหาวิทยาลัยบางแห่งอาจมีโอกาสน้อยในการสร้างความเป็นเลิศทางวิชาการ มาตรการหนึ่งซึ่งผมเชื่อว่าจะสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนให้เกิดการระดมทุนจากภาคส่วนต่าง ๆ แก่มหาวิทยาลัย คือ การให้มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งสามารถระดมทุนจากภายนอก เพื่อนำมาใช้ในการบริหารจัดการ การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอน เช่น การระดมทุนผ่านการรับบริจาคจากเอกชน การผลักดันงานวิจัยใหม่ ๆ ออกสู่ตลาดและจดลิขสิทธิ์ โดยรัฐอาจสนับสนุนโดยใช้นโยบายทางภาษีที่เอื้อให้เกิดการบริจาคเพื่อการศึกษา อันเป็นแรงจูงใจหนึ่งที่จะทำให้เกิดการสนับสนุนทุนการศึกษาแก่นักศึกษามากขึ้น
การให้ทุนการศึกษานี้จึงเป็นเสมือนการเปิดประตูสู่การศึกษาขั้นสูง แก่ผู้เรียนที่เก่ง มีความสามารถ รวมถึงเป็นแรงดึงดูดให้คนเก่งจากทุกที่ สามารถเข้าถึงการอุดมศึกษามากขึ้น เป็นการสร้างหลักประกันแก่สังคมว่า ประเทศชาติจะมีมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ และผู้เรียนที่มีคุณภาพ อันส่งผลต่อการพัฒนาประเทศต่อไป
เผยแพร่:
สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
เมื่อ:
2007-09-14