พัฒนาความร่วมมือ ไทย-ออสเตรเลีย Fostering Thai-Australian
29 พฤษภาคม 2550
|
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
ในโอกาสที่สมาคมไทยออสเตรเลียนในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครบรอบ 50 ปี จึงมีโครงการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ผู้ทรงเป็นองค์ราชูปถัมภก โดยจัดทำหนังสือพระราชประวัติ และไดอารีที่ระลึกในโอกาสที่สมาคมครบรอบ 50 ปี ขึ้น พร้อมกับจัดทำคู่มือสมาชิกฉบับครบรอบ 50 ปีขึ้น ผมในฐานะนายกสมาคมกิตติมศักดิ์ จึงขอถือโอกาสนี้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและออสเตรเลีย ที่มีมาอย่างยาวนาน และแนวทางการสานสัมพันธ์ในอนาคต ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศร่วมกัน
ความสัมพันธ์ระหว่างไทย ออสเตรเลียนับเป็นการเปิดประตูสู่ความร่วมมือในหลายด้านไม่ว่าจะเป็น การแลกเปลี่ยนเยี่ยมเยือนระหว่างกันทั้งในระดับราชวงศ์ ผู้นำประเทศ ความร่วมมือด้านการทหาร ความร่วมมือด้านวิชาการและความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา และความร่วมมือทางการค้า การลงทุนระหว่างกัน ทำให้ทั้งสองประเทศเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน ก่อเกิดความเข้าใจและการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ร่วมกัน
ในอนาคตข้างหน้าผมเห็นว่า เราควรสร้างความร่วมมือในมิติที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ที่สามารถนำไปพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยการผสมผสานจุดแข็งของแต่ละประเทศและแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน รวมถึงการใช้ประโยชน์ร่วมกันจากความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและออสเตรเลีย ผมเห็นช่องทางในการสานต่อความร่วมมือในด้านต่าง ๆ อาทิ
การแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขยายตลาดสินค้า อาทิ การนำจุดแข็งของออสเตรเลียในเรื่องความก้าวหน้าในด้านวิชาการเกษตร ในขณะที่สินค้าการเกษตรเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทยยังต้องพัฒนาคุณภาพสินค้าเพื่อให้เป็นที่ยอมรับ ความร่วมมือที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคตคือ การเชิญผู้เชี่ยวชาญจากออสเตรเลียเข้ามาร่วมวางระบบรับประกันคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย ตั้งแต่ขั้นตอนการเพาะปลูก การเก็บเกี่ยว และการเก็บรักษาพืชผล การตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อทำให้ออสเตรเลียและอีกหลายประเทศมั่นใจได้ว่าผลผลิตทางการเกษตรของไทยได้มาตรฐานสากล และยินยอมให้ส่งออกไปยังประเทศเหล่านั้นได้ ซึ่งจะเป็นการลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่อง ความตกลงเขตการค้าเสรีระหว่างไทยและออสเตรเลีย หรือ TFTA ที่อาจส่งผลกระทบด้านลบต่อผู้ประกอบการ และเกษตรกรไทยบางส่วน โดยเฉพาะผลผลิตของเกษตรกรระดับรากหญ้า เช่น พืช ผลิตภัณฑ์จากพืช ชา กาแฟ ผลิตภัณฑ์จากนม เป็นต้น นับว่าเป็นวิธีการเปลี่ยนการแข่งขันให้เป็นความร่วมมือกันเพื่อการพัฒนา
การขยายตลาดการท่องเที่ยว ธุรกิจบันเทิง จุดร่วมที่น่าสนใจของทั้งสองประเทศคือ รสนิยมของประชาชนที่รักการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือเพื่อขยายตลาดการท่องเที่ยวของแต่ละประเทศให้เป็นที่นิยมในวงกว้างมากขึ้นเช่น การเจาะตลาดนักท่องเที่ยวที่รักการผจญภัย และนิยมท่องเที่ยวแหล่งธรรมชาติที่งดงาม โดยจัดทำแพกเกจท่องเที่ยวร่วมกัน การจัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวแบบการผจญภัยในจังหวัดต่าง ๆ จัดทำโปรแกรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย การเพิ่มเส้นทางการบินระหว่างไทย ออสเตรเลีย การจัดตั้งศูนย์รองรับผู้สูงอายุจากออสเตรเลียในไทย
การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การแลกเปลี่ยนความร่วมมือระหว่างกัน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญด้านการศึกษาของประเทศออสเตรเลีย จะเป็นแรงผลักให้การปฏิรูปการศึกษาไทยสำเร็จแบบมีคุณภาพ โดยอาจร่วมมือในรูปแบบของ การจัดทำหลักสูตรร่วมกัน ให้มีการเทียบโอนหน่วยกิตได้ การแลกเปลี่ยนอาจารย์สอนภาษาทั้งในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษาและอุดมศึกษา การจัดตั้งศูนย์วิจัยศึกษาวัฒนธรรมไทยและออสเตรเลีย เพื่อสร้างความเข้าใจให้นักธุรกิจปรับตัวได้เร็ว และ ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับรสนิยม พฤติกรรมระหว่างกัน
การปรับปรุงและพัฒนาสิ่งแวดล้อม ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีการพัฒนาด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมจนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก ในขณะที่ปัญหาด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมกำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทย จึงอาจเสนอขอความร่วมมือให้ออสเตรเลียเข้ามาช่วยพัฒนามาตรฐานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ไขอุปสรรคต่อการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการร่วมพัฒนาเมืองใหญ่ ให้กลายเป็นเมืองน่าอยู่ มีเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยว
ข้อเสนอข้างต้นนี้เป็นประเด็นที่น่าสนใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศน่าจะศึกษารายละเอียด และใช้ศักยภาพของกันและกันให้เกิดประโยชน์กับประเทศให้มากที่สุด
|
Tags:
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2007-05-29