รับ หรือ ล้ม ร่างรัฐธรรมนูญ ควรดูที่ ?ผู้ร่าง? หรือ ?เนื้อหา??

6 มิถุนายน 2550
เรียนมิตรสหายที่เคารพรัก
เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 50 เครือข่ายนักวิชาการทั่วประเทศ ประกาศแถลงการณ์ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับทำลายการปฏิรูปการเมือง โดยให้เหตุผลว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นภายใต้อำนาจเผด็จการหลังรัฐประหาร จะทำให้สังคมไทยหันกลับไปสู่การเมืองยุคเก่า และทำให้การปฏิรูปการเมืองโดยผ่านกระบวนการร่วมกันของสังคมไทยต้องยุติลงอย่างสิ้นเชิง จึงเรียกร้องให้นำเอารัฐธรรมนูญ ปี 2540 กลับมาใช้ใหม่ และให้มีการเลือกตั้งหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน จากนั้นให้รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งจัดให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.
ในทัศนะส่วนตัวของผมเห็นว่า แม้ว่านักวิชาการมีจุดยืนที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญต้องมาจากตัวแทนประชาชนเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความชอบธรรม แต่ความพยายามในการล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในช่วงเวลานี้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศในหลายประการ ตั้งแต่ความวุ่นวายทางการเมืองที่ประเทศจะไม่มีรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ขณะเดียวกัน ย่อมส่งผลกระทบต่อความล่าช้าในการเลือกตั้งออกไปอีกหลายเดือน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจในเรื่องของการลงทุน อัตราความเจริญ
เติบโตทางเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นต่อรัฐบาลรักษาการในเวทีระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ หากพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม สำหรับภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถามว่า ดีขึ้นไหม ต้องยอมรับว่า ฉบับนี้มีความมุ่งมั่นที่จะพยายามแก้ไขปัญหาทางการเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ขยายสิทธิเสรีภาพของประชาชน ลดการผูกขาดอำนาจรัฐและขจัดการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรม การป้องกันการแทรกแซงในการสรรหาองค์กรทางการเมือง การทำให้การเมืองมีความโปร่งใส มีคุณธรรม และจริยธรรม และทำให้ระบบตรวจสอบมีความเข้มแข็งและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะเดียวกัน ถามว่า จุดอ่อนมีไหม แน่นอนว่า ต้องมี ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่สังคมขาดการมีส่วนร่วม การกำหนดข้อกฎเกณฑ์มากมายเสมือนไม่ไว้วางใจนักการเมืองมากเกินไป ฯลฯ ถึงกระนั้น จุดอ่อนเหล่านี้ เรายังมีเวลาที่สังคมจะเรียกร้อง เสนอแนะ แก้ไข ในส่วนที่จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมการเมืองไทยในอนาคตต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
เราควรมุ่งพิจารณาในเนื้อหาแต่ละมาตรา ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มากกว่าที่จะมองว่าใครเป็นผู้ร่าง และพยายามใช้เวลาที่เหลืออยู่นี้ทำให้เนื้อหาภายในมีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ซึ่งวิธีนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมการเมืองไทยในอนาคต การออกเสียงประชามติด้วยการเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้สังคมการเมืองไทยมีทางออกและเดินไปข้างหน้าได้ และลดความเสียหายอันเกิดจากล้มร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาแล้ว เนื้อหายังคงเจือด้วยอำนาจเผด็จการ การไม่ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญ ย่อมเป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ เพื่อประโยชน์ระยะยาวของประเทศชาติ
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2007-05-23