การจัดการปัญหาแพทย์วินิจฉัยพลาด



ที่มา http://images.businessweek.com/mz/05/11/0511covdt.gif
กรณีล่าสุดเกี่ยวกับเรื่องการรักษาพยาบาล คือ ข่าวการเสียชีวิตของน้องโฟร์โมสต์ หรือด.ช.ทวินันท์ อินาวัง ซึ่งทางบิดาและมารดาของน้องโฟร์โมสต์ได้กล่าวว่า สาเหตุของการเสียชีวิตนั้น เพราะแพทย์วินิจฉัยโรคผิดพลาดและไม่ยอมส่งตัวไปที่โรงพยาบาลใหญ่ หากดูสถิติของการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตามเอกสารแถลงการณ์ของเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์นำมาแสดง เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2551 พบว่า จำนวนของผู้ที่เสียชีวิตจากความผิดพลาดทางการแพทย์ อยู่ที่ 25,000-50,000 คนต่อปี
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความผิดพลาดของการรักษาพยาบาลมักจะนำไปสู่กระบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม โดยใช้วิธีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทั้งทางแพ่งและอาญา เนื่องจากเมื่อมองผ่านมุมผู้เสียหายว่า เมื่อทำผิดก็ต้องรับผิด ดังนั้น หากแพทย์ทำผิดพลาดส่งผลให้เกิดความเสียหายทางร่างกาย/ชีวิต แพทย์ควรที่จะรับผิดและชดเชยความผิดนั้น แต่อีกมุมมองหนึ่ง เกรงว่าหากมีมาตรการเอาผิดกับแพทย์ จะส่งผลให้แพทย์ไม่กล้าดำเนินการรักษาผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน อันเนื่องจากกลัวว่าหากเกิดข้อผิดพลาดจะส่งผลเสียต่อตัวเองมากกว่า ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยอาจจะเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่เกิดขึ้นจากการเรียกร้องค่าเสียหายนั้น มีผลกระทบสองประเด็นใหญ่ ๆ อันได้แก่
ประเด็นแรก ระยะเวลาที่ยาวนานกว่าผู้เสียหายจะได้รับการชดเชย เนื่องด้วยขั้นตอนทางกฎหมายที่ซับซ้อน ทำให้การฟ้องร้องนั้นใช้เวลานาน
ประเด็นที่สอง การฟ้องร้องเป็นระบบที่ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ก่อให้เกิดการเผชิญหน้า นำไปสู่ความแปลกแยกหมดความไว้วางใจที่แพทย์และคนไข้มีให้กัน
ในทางที่ดีกว่าเพื่อรับมือกับปัญหานี้ ควรคำนึงทั้งในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์ รวมทั้งในเรื่องการช่วยเหลือผู้เสียหายได้อย่างรวดเร็ว ผมเห็นว่า เราควรพิจารณาทางออกที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว และสามารถช่วยให้สถานการณ์ระหว่างคนไข้กับแพทย์ดีขึ้น นั่นคือ การตั้งกองทุนชดเชยความผิดพลาดทางการแพทย์ ซึ่งตัวกองทุนนั้นจะต้องทำหน้าที่ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
ในเชิงรับ สร้างระบบเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาด เน้นการจัดการความเสียหายด้วยกระบวนการที่ง่ายและเร็ว โดยมองจากมุมการชดเชยความเสียหายจากบริการทางการแพทย์โดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด (no-fault based compensation scheme) ซึ่งแตกต่างไปจากการชดเชยโดยใช้ กลไกการฟ้องร้องค่าเสียหายทางศาล (tort-system) ที่ยืนอยู่บนหลักการที่แตกต่างกันคือหาความผิดและคนผิดให้ได้ก่อนแล้วจึงนำมาสู่การชดเชย
ในเชิงรุก สร้างระบบที่เอื้อให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลและวัดการความรู้เกี่ยวกับความผิดพลาดทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาเชิงป้องกัน หรือการจัดการกับความเสี่ยงได้ถูกที่ ในส่วนนี้จะเป็นส่วนที่เปิดเผยเกี่ยวกับการรักษาที่ผิดพลาดของแพทย์ ซึ่งแตกต่างจากระบบเดิม นั่นคือ เมื่อผิดพลาดจะถูกฟ้องร้องและลงโทษ อันจะทำให้แพทย์ที่ทำผิดไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล จนทำให้เกิดความผิดพลาดซ้ำ
การตั้งกองทุนฯ จะช่วยลดแรงกดดันทั้งต่อตัวผู้เสียหายและแพทย์ ทั้งนี้เพราะแนวทางการดำเนินการนั้น เป็นการลดการเผชิญหน้าและเพิ่มประสิทธิภาพของการให้การชดเชยค่าเสียหาย เนื่องจากผู้เสียหายจะได้รับการชดเชยใช้อย่างเหมาะสมและรวดเร็ว นอกจากนี้การใช้วิธีการฟ้องร้องเป็นระบบที่ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย ก่อให้เกิดการเผชิญหน้า นำไปสู่ความแปลกแยกหมดความไว้วางใจที่แพทย์และคนไข้มีให้กัน
ด้วยเหตุนี้ การแก้ไขปัญหาเรื่องการให้การชดเชยแก่ผู้เสียหายในกรณีจากความผิดพลาดของแพทย์ โดยการก่อตั้งกองทุน ฯ จึงน่าจะเป็นคำตอบสำหรับการจัดการเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย และเป็นส่วนสำคัญที่จะประสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยและแพทย์
* นำมาจากหนังสือพิมพ์โลกวันนี้ ฉบับวันอังคารที่26 สิงหาคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-08-28