ขอทานควรขึ้นทะเบียน เพื่อเป็นขอทาน??



ที่มาของภาพ http://www.hopeforothers.org/7-21-begger.jpg
ldquo;หากบุคคลใดต้องการจะเป็นคนขอทาน จะต้องขอใบอนุญาต จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ออกใบอนุญาตในการประกอบการขอทานrdquo;
ข้อความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน ร่าง พ.ร.บ.คน ขอทาน พ.ศ... ซึ่งกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการ เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาต่อไป
การระบุว่า ใครต้องการเป็นขอทานต้องขอใบอนุญาต นั้นทำให้เกิดคำถามว่า เพราะเหตุใด ทาง อปท.จึงไม่หาวิธีสงเคราะห์ขอทานเหล่านั้น ปล่อยให้ขึ้นทะเบียนเป็นขอทานทำไม?
หากพิจารณาดูแล้ว ในปัจจุบันที่ยังมีขอทานอยู่นั้น สาเหตุหนึ่งเพราะเราไม่รู้ว่า ขอทานมีจำนวนเท่าใด อาศัยอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง เพราะเหตุใดจึงต้องเป็นขอทาน ซึ่งหากเราสามารถรู้ว่าเขาเป็นใครอยู่ที่ไหน โดยการให้คนเหล่านี้มาขึ้นทะเบียนกับ อปท. แล้ว เหตุใดจึงไม่หาทางช่วยเหลือคนเหล่านี้ในวิธีที่เหมาะสม และในความเป็นจริงคงไม่มีจำนวนที่มากจนท้องถิ่นไม่สามารถดูแลได้
ผมเห็นด้วยกับการขึ้นทะเบียนผู้ที่เป็นขอทานในปัจจุบัน เพื่อให้รัฐรู้ว่าเขาเป็นใค อยู่ที่ไหน เพราะเหตุใดจึงเป็นขอทาน และรู้ว่ามีขอทานทั้งหมดจำนวนเท่าไร เพื่อให้สามารถจัดการขบวนการค้ามนุษย์ได้ และเพื่อให้สามารถวางระบบการจัดการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสม มิใช่ปล่อยปละละเลย ด้วยการปล่อยให้เป็นขอทานต่อไป การให้เขาเป็นขอทานต่อไป ย่อมสะท้อนถึงการละเลยในการดูแลผู้ด้อยโอกาส โดยเฉพาะคนพิการและคนยากไร้ ทั้ง ๆ ที่เป็นหน้าที่ของรัฐตามรัฐธรรมนูญ
รัฐควรมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่ปลอดขอทาน ในไม่กี่ปีข้างหน้า เพื่อให้เกิดการวางแผนยุทธศาสตร์ทั้งระยะสั้น ระยะยาว ในการเตรียมความพร้อมรองรับคนยากจนในสังคมอย่างครอบคลุมครบวงจร เพื่อไม่ให้ผู้พิการและผู้ยากไร้ต้องออกเร่ร่อนขอทานต่อไป
การขึ้นทะเบียนควรมุ่งเพื่อแก้ปัญหามากกว่าเพื่ออนุญาต เสนอว่า เมื่อมีขอทานมาขึ้นทะเบียนทั้งหมดทั่วประเทศ ให้จำแนกสาเหตุ สภาพร่างกาย อายุ และวางระบบเพื่อแก้ปัญหา เช่น ถ้าเป็นโรคเรื้อน ไม่มีเงินค่ารักษา ไม่มีเงินค่าใช้จ่าย ต้องดูว่าสถานสงเคราะห์คนโรคเรื้อนที่มีอยู่รองรับได้หรือไม่ ต้องจัดเตรียมเพิ่มขึ้นอย่างไร ต้องใช้วิธีช่วยเหลืออื่นอย่างไรได้บ้าง หรือถ้าเป็นขอทานเพราะอายุมาก ทำงานไม่ได้ ไม่มีลูกหลานดูแล ก็ต้องจัดเตรียมในเรื่องของสถานสงเคราะห์คนชรา การวางระบบให้ชุมชนช่วยดูแลหรือหากเป็นขอทานเพราะตกงาน มีลูกมาก รัฐต้องหาทางช่วยอย่างเหมาะสม เช่น จัดตั้งโรงทานรองรับขณะตกงาน ขณะเดียวกันต้องฝึกอาชีพ และช่วยหางานให้ในเวลารวดเร็วที่สุด เป็นต้น
การจัดการขอทานอย่างเป็นระบบ เพื่อมิให้เกิดขอทานในประเทศ เป็นวิธีหนึ่งที่รัฐควรจะทำเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี ได้รับการดูแลจากรัฐอย่างที่ควรจะเป็น
* นำมาจากหนังสือพิมพ์บางกอกทูเดย์ ฉบับวันจันทร์ที่11 สิงหาคม 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-08-13