ข้อสังเกต 6 มาตรการ 6 เดือน

จากการที่รัฐบาลเสนอ ldquo;6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อไทยทุกคน" ได้แก่ การลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมัน การชะลอการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มแอลพีจีในครัวเรือน การให้ประชาชนใช้น้ำฟรีสำหรับครัวเรือนที่ใช้น้ำไม่เกิน 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน การให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าฟรี ถ้าใช้ไม่เกิน 80 ยูนิตต่อเดือน แต่หากใช้ไฟฟ้า 81-150 ยูนิตต่อเดือน รัฐบาลจะจ่ายให้ครึ่งหนึ่ง การนั่งรถเมล์ร้อนฟรี 800 คัน (จากทั้งหมด 1,600 คัน) โดยปล่อยรถสลับกันระหว่างรถที่เก็บเงินและไม่เก็บเงิน และการนั่งรถไฟชั้น 3 โดยไม่เสียเงินทั่วประเทศ

หากพิจารณาในเชิงหลักการ ผมเห็นด้วยกับ 6 มาตรการนี้ เพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยและยากจน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากเงินเฟ้อ

นอกจากนี้ 6 มาตรการนี้ยังมีประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณมากกว่าการแจกคูปองให้คนยากจน เพราะการแจกคูปองอาจไม่ไปถึงคนยากจน เนื่องจากภาครัฐไม่มีข้อมูลว่าใครเป็นคนจน ในขณะที่ 6 มาตรการนี้ มีกลไกการแบ่งแยกคนจนและคนรวยทำให้ไม่ต้องเสียต้นทุนในการตรวจสอบว่า ใครเป็นคนยากจน ทำให้คนที่มีฐานะไม่เข้ามาแย่งใช้บริการจากคนที่ยากจน เช่น รถไฟชั้น 3 จะมีเฉพาะคนยากจนเท่านั้นที่ใช้บริการ การนั่งรถเมล์ร้อนฟรีจะทำให้ผู้โดยสารแน่นขึ้นและเสียเวลารอนานขึ้น ทำให้คนยากจนเท่านั้นที่ยินดีรอและยินดีใช้บริการ และบ้านที่ยากจนก็น่าจะใช้น้ำประปาและไฟฟ้าน้อย

อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ในรายละเอียดของ 6 มาตรการ ผมมีข้อสังเกตดังนี้
การจัดสรรงบประมาณบางส่วนขาดประสิทธิผล (ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลัก) โดยสังเกตได้จาก งบประมาณส่วนใหญ่ใน 6 มาตรการนี้ เป็นการลดภาษีน้ำมันถึง 3.2 หมื่นล้านบาทจากทั้งหมด 4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลดอัตราภาษีน้ำมันไม่ได้มุ่งเป้าช่วยเหลือผู้มีรายน้อยเป็นหลัก เพราะการลดภาษีน้ำมันแกสโซฮอล์ น้ำมันอี 20 และอี 85 ผู้ได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางที่มีรถยนต์ส่วนตัว ส่วนการลดภาษีน้ำมันดีเซลและบี 5 แม้จะทำให้ต้นทุนการผลิตและการขนส่งลดลง แต่เป็นการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างภาคขนส่ง ภาคการผลิต หรือผู้ที่มีรถยนต์เชิงพาณิชย์ กับประชาชนทั่วไป

ส่วนมาตรการที่คนยากจนได้ประโยชน์โดยตรงมีวงเงินประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นหากพิจารณาจากสัดส่วนงบประมาณที่ใช้ในมาตรการนี้ คนยากจนได้รับการอุดหนุนงบประมาณน้อยกว่า ขณะที่ชนชั้นกลางและภาคขนส่งได้รับงบประมาณอุดหนุนมากกว่า

เมื่อพิจารณาวัตถุประสงค์ของมาตรการนี้ในการบรรเทาความเดือดร้อนของคนยากจน รัฐบาลน่าจะจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยคนยากจนมากขึ้น และลดงบอุดหนุนราคาน้ำมันแก่คนที่ใช้รถยนต์ส่วนตัวลง แต่หากมาตรการนี้มีวัตถุประสงค์ในการชะลอการเพิ่มขึ้นของเงินเฟ้อด้วย มาตรการเหล่านี้จะไม่ช่วยชะลอเงินเฟ้อได้มากนัก เพราะอัตราเงินเฟ้อขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในตลาดโลกเป็นสำคัญ และมาตรการนี้ช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อเพียงร้อยละ 0.5-1
เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การอุดหนุนราคาน้ำมันยังทำให้คนไม่ประหยัดการใช้พลังงานด้วย

ผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเมืองกับชนบท ในความเป็นจริง ประชาชนในชนบทได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อมากกว่าคนในเมือง เพราะอัตราเงินเฟ้อในชนบทสูงกว่าในเมืองมาก เนื่องจากสินค้ามีต้นทุนค่าขนส่งมากกว่า
แต่มาตรการของรัฐบาลกลับช่วยเหลือคนยากจนในเมืองมากกว่าในชนบท เพราะคนยากจนในเมืองได้ประโยชน์หลายด้านทั้งการลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าโดยสารรถเมล์ ส่วนคนยากจนในชนบทได้ประโยชน์น้อยว่า แม้จะได้ลดค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าก๊าซหุงต้ม และค่าโดยสารรถไฟ แต่เพราะรถไฟไม่ได้วิ่งผ่านในทุกพื้นที่ และการขึ้นรถไฟมักจะเป็นการเดินทางข้ามจังหวัดเท่านั้น คนในต่างจังหวัดส่วนใหญ่ใช้รถโดยสารประจำทางและรถสองแถว แต่รัฐบาลไม่ได้อุดหนุนค่าโดยสารของรถเหล่านี้

ผมเห็นว่า รัฐบาลควรขยายการอุดหนุนไปสู่ขนส่งมวลชนในแต่ละจังหวัดด้วย โดยนำงบประมาณจากการลดภาษีน้ำมันแกสโซฮอล์ มาใช้อุดหนุนค่ารถโดยสารในต่างจังหวัด เช่น รถเมล์ของเทศบาล รถเมล์ที่วิ่งบนเส้นทางหลักในจังหวัด เป็นต้น

การกำหนดเงื่อนไขของมาตรการที่อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
โดยเฉพาะมาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า หากพิจารณาตามสามัญสำนึก บ้านที่ใช้น้ำและใช้ไฟฟ้าน้อย น่าจะเป็นครัวเรือนที่ยากจน แต่ในสภาพความเป็นจริง ครัวเรือนที่ยากจนมักจะมีสมาชิกจำนวนมากอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน หรือร่วมกันหลายคนเพื่อเช่าห้องพัก
ขณะที่คนที่มีรายได้สูงขึ้น และชนชั้นกลาง มักจะเป็นครอบครัวเดี่ยว ที่ไม่มีลูกหรือมีลูก 1-2 คน และสามีและภรรยาทำงานนอกบ้านทั้งสองคน จึงมีความเป็นไปสูงที่คนยากจนในบางครัวเรือนจะไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการลดค่าน้ำและค่าไฟฟ้า เพราะถึงแม้ว่าแต่ละคนในบ้านจะใช้น้ำและใช้ไฟน้อย แต่มีคนอยู่ในบ้านจำนวนมาก ทำให้การใช้น้ำและไฟฟ้าทั้งหมดสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
ในทางตรงข้าม บ้านชนชั้นกลางบางแห่งอาจได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ถึงแม้ว่าแต่ละคนในบ้านจะใช้น้ำและใช้ไฟฟ้ามาก แต่ด้วยเหตุที่มีสมาชิกในบ้านน้อย ทำให้การใช้น้ำและไฟฟ้าทั้งหมดต่ำกว่าเกณฑ์ หรือมีกิจกรรมที่ใช้น้ำและใช้ไฟฟ้าน้อย เพราะสมาชิกในบ้านใช้เวลาส่วนใหญ่ทำงานนอกบ้าน ไม่ได้ปรุงอาหารทานเอง รวมทั้งจ้างร้านซักรีดให้ซักผ้าและรีดผ้าให้

ดังนั้น หากต้องการให้คนยากจนได้ประโยชน์จริงควรมีการกำหนดเกณฑ์การใช้น้ำและไฟฟ้า โดยคำนวณตามรายหัว โดยนำปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้ามาหารด้วยจำนวนคนในบ้าน ส่วนกรณีห้องเช่าหรือหอพัก หากแต่ละห้องมีมิเตอร์น้ำและไฟฟ้าแยกกัน ให้คำนวณแยกรายห้อง แต่หากทุกห้องใช้มิเตอร์รวมกัน ก็ให้คำนวณรวมทั้งหอพัก อย่างไรก็ตาม วิธีการนี้มีความยุ่งยากมาก โดยเฉพาะการนับจำนวนคนในแต่ละบ้านและแต่ละห้องของหอพัก เพราะอาจจะมีการแจ้งจำนวนคนสูงกว่าความเป็นจริง
ผลกระทบอื่น ๆ ของมาตรการ รัฐบาลยังไม่กล่าวถึงมาตรการรองรับผลกระทบอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากมาตรการเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อรถร่วมบริการ เพราะเมื่อประชาชนหันมาใช้รถเมล์ ขสมก.จำนวนมาก จะทำให้รายได้ของรถร่วมฯลดลง อาจจะทำให้รถร่วมฯขาดทุน และหยุดวิ่งให้บริการ ผมจึงเสนอว่า รัฐบาลควรให้รถร่วมฯเข้ามามีส่วนในมาตรการนี้ด้วย เพราะรถเมล์บางสายมีแต่รถร่วมเท่านั้น ไม่มีรถ ขสมก. หรือรถเมล์บางสายส่วนใหญ่เป็นรถร่วมฯ แต่มีรถ ขสมก.น้อยมาก นอกจากนี้การอุดหนุนรถร่วมฯอาจใช้งบประมาณน้อยกว่าการอุดหนุนรถ ขสมก.เพราะรถร่วมมีต้นทุนต่ำกว่ารถ ขสมก. การอุดหนุนรถร่วมฯนั้นอุดหนุนเฉพาะค่าโดยสาร แต่รถ ขสมก.นอกจากการอุดหนุนค่าโดยสารแล้ว ยังต้องชดเชยรายได้ (ร้อยละของรายได้จาการจำหน่ายตั๋ว) ให้กับพนักงาน ขสมก. ด้วย

แม้ 6 มาตรการของรัฐบาลมีหลักการที่ดีในการบรรเทาผลกระทบต่อคนยากจน แต่ผมเห็นว่าควรมีการจัดสรรงบประมาณมากที่สุดให้ลงไปถึงคนที่เดือดร้อนที่สุด ควรมีมาตรการป้องกันผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากมาตรการนี้ และควรมีมาตรการอื่น ๆ ในการลดค่าใช้จ่าย การเพิ่มรายได้ และมาตรการระยะยาวด้วย เช่น รณรงค์การประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง การสร้างงานและการเพิ่มผลิตภาพ การปรับโครงสร้างการใช้พลังงาน

* นำมาจากหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันพฤหัสบดีที่24 กรกฎาคม 2551

แสดงความคิดเห็น
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-07-27