กรุงเทพฯ กับการจัดอันดับเมือง (1) : กรุงเทพเมืองที่ดีที่สุดในโลก?


ที่มาของภาพ http://images.odeo.com/4/8/1/economist-large.jpg
เมื่อเร็ว ๆ นี้ กรุงเทพมหานครถูกจัดอันดับให้เป็น ldquo;เมืองที่ดีที่สุดในโลกrdquo; โดยนิตยสารด้านการท่องเที่ยวชื่อดัง ldquo;Travel + Leisurerdquo; ข่าวนี้ยังความปลาบปลื้มและความภาคภูมิใจแก่คนกรุงเทพฯ

แต่หากจะสรุปจากข่าวนี้ว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่และมีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลกแล้ว คงเป็นการสรุปที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริงเป็นอย่างมาก ผมคิดว่าคำว่า ldquo;เมืองที่ดีที่สุดในโลกrdquo; ของนิตยสาร Travel + Leisure นั้น หมายถึง ldquo;เมืองที่น่าท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกrdquo; มากกว่าจะเป็น ldquo;เมืองที่น่าอยู่ที่สุดในโลกrdquo; ซึ่งผมจะอธิบายเหตุผลต่อไป

เมืองที่น่าท่องเที่ยวกับเมืองที่น่าอยู่นั้นต่างกันมาก เมืองที่น่าท่องเที่ยวเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไปเยือนในระยะเวลาสั้น ๆ แล้วรู้สึกดีหรือสนุกสนาน จากตารางที่ 1 จะเห็นว่า ตัวชี้วัดของนิตยสาร Travel + Leisure ทั้ง 6 ด้าน เช่นสถานที่ท่องเที่ยวและภัตตาคาร/อาหารนั้น ล้วนเป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมือง แต่ไม่ได้ครอบคลุมปัจจัยที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตของประชากร

หากเราต้องการเดินทางไปเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์ เราอาจต้องการเมืองที่มีชายหาด มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าชม มีร้านอาหารนานาชาติ และที่พักที่คุณภาพดีและราคาถูก แต่สิ่งเหล่านั้นมิได้เป็นปัจจัยสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของเรา หากเราต้องการจะไปลงหลักปักฐานที่นั่นในฐานะชาวเมือง เราต้องการโรงเรียนและระบบการศึกษาที่ดีเพื่ออนาคตของลูก ต้องการบริการสาธารณสุขรวมถึงอากาศบริสุทธิ์เพื่อจะไม่ป่วยตายก่อนถึงวัยอันควร ต้องการระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ และกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อความมั่นคงในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจ และเรายังต้องการปัจจัยอื่น ๆ อีกมากมาย

ดังนั้นอันดับของเมืองในนิตยสาร Travel +Leisure จึงเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะมาเที่ยวในเมืองไทย รวมถึงเป็นข่าวดีสำหรับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ แต่ในฐานะผู้อยู่อาศัยถาวรในกรุงเทพฯ แล้ว เราต้องการทราบการจัดอันดับที่มุ่งวัดคุณภาพชีวิตของประชากรในเมืองโดยตรง และมีตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมากกว่าเพียงด้านการท่องเที่ยว เช่นดัชนีชี้วัดจากฐานข้อมูลของบริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์อย่าง Mercer ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่นิวยอร์ก หรือของนิตยสาร The Economist ในลอนดอน

การจัดอันดับเมืองน่าอยู่ของ Mercer และ The Economist เป็นการจัดอันดับที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ทั้งสองสำนักนี้ใช้ตัวชี้วัดเป็นจำนวนค่อนข้างมาก ซึ่งครอบคลุมปัจจัยด้านต่าง ๆ ที่สะท้อนถึงคุณภาพชีวิตของประชากร โดยเฉพาะดัชนีของ Mercer มีตัวชี้วัดถึง 10 ด้านด้วยกัน

จุดประสงค์เริ่มแรกในการทำฐานข้อมูลด้านคุณภาพชีวิตของทั้ง 2 องค์กรนี้ เป็นไปเพื่อให้บริการกับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ของบริษัทข้ามชาติ ในการคำนวณเบี้ยกันดารที่จะต้องจ่ายให้แก่พนักงานที่ต้องไปประจำยังสาขาของบริษัทในเมืองอื่น ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปรียบเทียบความแตกต่างของคุณภาพชีวิตในแต่ละเมืองออกมาเป็นตัวเลขได้อย่างแม่นยำ ซึ่งแรงจูงใจในการขายข้อมูลให้บริษัทข้ามชาติจึงกลายเป็นที่มาของประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือในการวัด เพราะหากผลการศึกษาออกมาไม่น่าเชื่อถือแล้ว จะไม่มีบริษัทใดต้องการซื้อข้อมูลไปใช้

ตารางที่ 1 : เปรียบเทียบการจัดอันดับเมืองจากแหล่งต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2551

ผู้จัดอันดับ
Travel + Leisure
Mercer
The Economist
สถานะ
นิตยสาร
บริษัทที่ปรึกษาด้านทรัพยากรมนุษย์
นิตยสาร
จุดประสงค์การประเมิน
จัดอันดับด้านการท่องเที่ยว
เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของประชากรระหว่างเมืองต่าง ๆ
เพื่อใช้คำนวณเบี้ยกันดาร
อันดับของกรุงเทพฯ
1
109 (จาก 215 เมือง)
89
(จาก 126 เมือง)*
ตัวชี้วัด
ใช้ตัวชี้วัด 6 ด้าน คือ สถานที่ท่องเที่ยว, วัฒนธรรม/ศิลปะ, ภัตตาคาร/อาหาร, ผู้คนในเมือง, แหล่งช็อปปิ้ง และความคุ้มค่าของค่าใช้จ่าย
ใช้ตัวชี้วัด 39 ตัว แบ่งเป็น 10 กลุ่ม คือ สภาพแวดล้อมทางสังคมและการเมือง, สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ, สภาพแวดล้อมทางสังคมวัฒนธรรม, สุขภาพและอนามัย, โรงเรียนและการศึกษา, บริการภาครัฐและการขนส่งมวลชน, สิ่งอำนวยการพักผ่อนหย่อนใจ, สินค้าผู้บริโภค, ที่อยู่อาศัย, และ สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ
ใช้ตัวชี้วัด 40 ตัว แบ่งเป็น 5 กลุ่ม คือ เสถียรภาพ, การบริการด้านสุขภาพ, วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม, การศึกษา, และโครงสร้างพื้นฐาน
วิธีการสำรวจ
ให้สมาชิกของเว็บไซต์เข้าไปให้คะแนน
ออกแบบสอบถามไปยังบริษัทข้ามชาติ เพื่อให้ประเมินคะแนนตามตัวชี้วัดที่ตั้งไว้

หมายเหตุ : * ตัวเลขการจัดอันดับปี พ.ศ.2548

ตารางที่ 2 : อันดับของกรุงเทพมหานครในด้านคุณภาพชีวิตโดย Mercer

ปี (พ.ศ.)
2547
2551
อันดับ
102
109


การจัดอันดับของ Mercer มีความแตกต่างจากนิตยสาร Travel + Leisure อย่างมาก จากการเปิดเผยข้อมูลปีล่าสุด ขณะที่กรุงเทพฯ ได้อันดับที่หนึ่งจากนิตยสาร Travel + Leisure นั้น Mercer กลับจัดให้กรุงเทพเป็นเมืองน่าอยู่อันดับที่ 109 จากทั้งหมด 215 เมือง ซึ่งหมายความว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่อันดับกลาง ๆ ของโลกเท่านั้น

ยิ่งไปกว่านั้น ในแง่ของพัฒนาการ Mercer ได้ให้อันดับเมืองน่าอยู่ของกรุงเทพฯ ลดลงจากอันดับที่ 102 ใน ปี 2547 มาสู่อันดับที่ 109 ในปี 2551 อีกด้วย ซึ่งอาจสรุปได้ว่านอกจากกรุงเทพฯ อาจจะมิได้น่าอยู่มากขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมาแล้ว ยังอาจถือว่าน่าอยู่ลดลงด้วยซ้ำไป

การที่กรุงเทพฯ ถูกจัดอันดับความน่าอยู่ในระดับกลาง ๆ ของโลกนั้น อาจถูกแปลงค่าเป็นตัวเลขของเบี้ยกันดารที่เพิ่มขึ้นสำหรับพนักงานของบริษัทข้ามชาติที่ประจำในกรุงเทพฯ ซึ่งอาจทำให้บริษัทต่างชาติมีต้นทุนมากขึ้นในการเข้ามาลงทุนในกรุงเทพฯ แต่สำหรับชาวกรุงเทพฯ แล้ว การจัดอันดับดังกล่าวหมายความว่า กรุงเทพฯ ซึ่งเขาอาจต้องอาศัยอยู่ตลอดชีวิตนั้น ไม่สามารถมอบคุณภาพชีวิตที่ดีและความสุขให้แก่เขาได้

ด้วยเหตุนี้การจัดอันดับเมืองจึงสำคัญต่อการวางแผนพัฒนากรุงเทพฯ ไม่เพียงแต่การทราบอันดับของเมืองเท่านั้น แต่ผู้วางแผนการพัฒนาเมืองยังต้องทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่เป็นตัวชี้วัดความน่าอยู่ของเมืองว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้กรุงเทพฯมีความน่าอยู่น้อยกว่าเมืองอื่น ๆ ในโลกคือปัจจัยใด เพื่อจะได้ ldquo;เกาถูกที่คันrdquo; และสามารถทุ่มเทกำลังและงบประมาณเพื่อแก้ปัญหาของกรุงเทพฯ ได้อย่างตรงจุด และมีประสิทธิภาพในการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ
ปกติ Mercer จะเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณชนเพียงว่า กรุงเทพฯ มีอันดับความน่าอยู่ที่เท่าไรของโลก แต่หากต้องการข้อมูลรายละเอียดของตัวชี้วัดแต่ละตัว เราจำเป็นต้องซื้อข้อมูลจากหน่วยงานดังกล่าว ซึ่งผมเห็นว่า มีจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนและคิดนโยบายกรุงเทพฯ ผมจึงได้ซื้อข้อมูลจาก Mercer มาเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ โดยผมจะวิเคราะห์ข้อมูลให้ผู้อ่านได้ทราบในบทความตอนต่อไปครับ
* นำมาจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพฤหัสบดีดีที่ 23 กรกฎาคม 2551
admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-07-26