เปลี่ยน ?สุนัขจรจัด? เป็น ?สุนัขชุมชน?

ที่มาของภาพ http://www.thaispca.org/news/images/thai_news043_pic_0.jpg
ปัญหา ldquo;สุนัขจรจัดrdquo; ถือว่าเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ผู้บริหาร กทม. ควรหาวิธีการแก้ไข จากการสำรวจจำนวนสุนัขจรจัดในกรุงเทพฯ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2551 ที่ผ่านมามีประมาณ 200,000 ตัว แม้ว่าที่ผ่านมาทางกรุงเทพมหานครจะมีความพยายามในการแก้ปัญหาด้วยวิธีการต่าง ๆ แต่ยังไม่ได้ผลเท่าที่ควร เนื่องจากสุนัขจรจัดมีจำนวนมาก รวมทั้งเจ้าหน้าที่มักไม่ค่อยได้รับความร่วมมือจากชุมชน จนถึงขนาดเกิดความขัดแย้งกันระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ ในหลายพื้นที่ชาวบ้านพยายามปกป้องสุนัขจรจัดไว้ไม่ให้ถูกจับไปเพราะสงสารเกรงว่าจะถูกจับไปกำจัดหรือฆ่าทิ้ง
ผมคิดว่าทางออกสำหรับเรื่องสุนัขจรจัดเหล่านี้ ควรเป็นวิธีการที่ประนีประนอมหลาย ๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งที่ผู้ที่รักสุนัข ผู้ที่อยากจะให้กรุงเทพฯ ปลอดจากสุนัขจรจัด ขณะเดียวกันก็ต้องแก้ปัญหาได้ในระยะยาว ถ้าหาก กทม. และชุมชนจับมือกันร่วมรับผิดชอบสุนัขจรจัดที่มีอยู่ในชุมชนต่าง ๆ เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน น่าจะได้วิธีการที่ช่วยลดปริมาณและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสุนัขจรจัดในเขตพื้นที่ กทม.
แนวทางดำเนินการจะสำเร็จได้ต้องดำเนินการปฏิรูปครบวงจรในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัดทั้งระบบ และต้องสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชนและเจ้าพนักงานในการแก้ปัญหานี้ร่วมกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาสุนัขจรจัดเป็นไปอย่างยั่งยืน แนวทางเชิงรูปธรรม อาทิ
ขึ้นทะเบียนและควบคุมสุนัขอย่างเป็นระบบทั้งในรายสุนัขที่มีเจ้าของและสุนัขจรจัด
ปัจจุบันกรุงเทพฯ มีสุนัขเลี้ยงที่มีเจ้าของประมาณ 5-6 แสนตัว ที่เจ้าของต้องทำการขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขที่มีเจ้าของ ตามที่สำนักงานเขต กทม. ได้ออกกฎระเบียบไว้ โดยทาง กทม. จูงใจด้วยการจัดโครงการทำหมันสุนัขราคาถูกร่วมกับสถานพยาบาลรักษาสัตว์ โดยมีการกำหนดช่วงระยะเวลาในการทำหมันที่แน่นอน เช่น หลังจากขึ้นทะเบียนไม่เกิน 2 เดือน หากเกินจากนี้ไป ผู้มาขึ้นทะเบียนจะไม่สามารถใช้สิทธินี้ได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่า กทม. จะออกเป็นระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือการปล่อยสุนัข พ.ศ. 2545 มาแล้ว แต่ กทม. ควรมีมาตรการในการดำเนินการบังคับใช้ระเบียบของกรุงเทพฯ นี้ให้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อให้เจ้าของมีความรับผิดชอบต่อการดูแลสุนัขตนเองเป็นอย่างดี ไม่ปล่อยให้กลายเป็นสุนัขจรจัด หรือก่อความรำคาญแก่ผู้อื่น
เปลี่ยนสุนัขจรจัดเป็นสุนัขชุมชน
แนวทางนี้คือ การให้คนในชุมชนมีโอกาสในการตัดสินใจร่วมกันว่า จะให้สุนัขจรจัดตัวใดเป็นสุนัขชุมชนบ้าง หากประสงค์จะให้เป็นสุนัขชุมชน ทางชุมชนจะดูแลด้านอาหาร สุขภาพ และจัดที่อยู่อาศัยอย่างเป็นสัดส่วนที่ชัดเจนให้สุนัขจรจัดเหล่านั้น และหากมีลูกสุนัขใหม่เกิดขึ้น ชุมชนนั้นจะต้องรับผิดชอบในการขึ้นทะเบียนและเป็นผู้ดูแลสุนัขเหล่านี้ด้วย แต่หากไม่ประสงค์จะดูแลสามารถที่จะแจ้งให้พนักงานนำสุนัขเหล่านี้ไปดำเนินการดูแลต่อไป ยกเว้นในกรณีที่สุนัขจรจัดตัวนั้นเข้าข่ายเป็นสุนัขควบคุมพิเศษ (คือ สุนัขบางสายพันธุ์ที่ดุ หรือมีประวัติทำร้ายคนตามที่ระบุไว้ในระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการควบคุมการเลี้ยงหรือการปล่อยสุนัข พ.ศ. 2545) ทาง กทม. มีสิทธิที่จะไม่อนุมัติให้เป็นสุนัขชุมชนได้
ระดมทำหมัน และฉีดวัคซีน
กรณีของสุนัขชุมชน ทางสำนักงานเขตกรุงเทพฯ ควรทำการขึ้นทะเบียนให้เป็นสุนัขชุมชน โดยทำการฉีดวัคซีนพิษสุนัขบ้าและทำหมันให้กับสุนัขเพศเมีย โดยทางกรุงเทพฯ เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ให้ทั้งหมด สำหรับกรณีการทำหมันสุนัขเพศเมีย สำนักงาน กทม. จำเป็นต้องประสานงานสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานทางด้านสัตวแพทย์ในการระดมทำหมันครั้งใหญ่ทั่วกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นคณะสัตวแพทย์ในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ในเขตกรุงเทพฯ โดย กทม. มีส่วนในการออกค่าใช้จ่ายทางด้านเวชภัณฑ์ในการทำหมันนี้
หาเจ้าของให้สุนัขจรจัด
กรณีสุนัขจรจัดที่ไม่มีผู้ใดรับเป็นเจ้าของ สำนักงานเขต กทม. จะต้องดำเนินการนำสุนัขนั้นไปเลี้ยงไว้ในสถานที่จัดไว้ โดยนำสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของไปทำความสะอาด ดูแลขน ทำการฉีดวัคซีน ทำหมัน รวมถึงการฝึกคำสั่งพื้นฐานอย่างง่าย ๆ เพื่อแจกจ่ายสู่ประชาชนหรือหน่วยงาน (ปัจจุบันมีการฝึกสุนัขจรจัดเหล่านี้ไปใช้ในหน่วยงานด้านการอนุรักษ์และพิทักษ์ป่าไม้) ที่ต้องการสุนัขเหล่านี้ไปเลี้ยงดูต่อไป โดยจัดทำประวัติทะเบียนสุนัขให้ผู้นั้นเป็นเจ้าของ อันเป็นการสนองตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการแก้ปัญหาสุนัขจรจัด
ดังนั้นวิธีการทำให้ปัญหาสุนัขจรจัดหมดสภาพจาก ldquo;สิ่งรกหูรกตาrdquo; กลายเป็นสัตว์เลี้ยงประจำชุมชนที่เป็นทั้งเพื่อนและยามเฝ้าชุมชนได้ จำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเอาจริงเอาจังระหว่างประชาชนในชุมชน กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังที่ได้เสนอไว้ข้างต้น และเราจะเห็นมิติใหม่ของกรุงเทพฯ ที่จะไม่มีสุนัขจรจัดให้เห็นกันอีกต่อไป
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-06-07