ใช้ที่รกร้างให้ไม่ร้าง
.jpg)
ที่มาของภาพ lt;http://learners.in.th/file/obdurate/18.jpggt;
ปัจจุบันปัญหาที่รกร้างในเขตกรุงเทพมหานครยังคงเป็นประเด็นปัญหาของเมืองที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข จากข้อมูลการสำรวจของกรุงเทพมหานครในปี พ.ศ. 2550 พบว่า จากพื้นที่ทั้ง 50 เขตของกรุงเทพมหานคร มีอาคารและสิ่งก่อสร้างรกร้างที่เจ้าของไม่ได้ดูแลรักษาทั้งหมดถึง 7,226 แปลง คิดเป็นเนื้อที่ถึง 4,374 ไร่ โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในเขตพื้นที่รอบนอก ได้แก่ เขตมีนบุรี เขตหนองจอก และฝั่งธนบุรี เฉพาะเขตจตุจักรเขตเดียว พบว่ามีที่รกร้างว่างเปล่าถึง 100 กว่าแห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นที่ดินของเอกชน
ที่รกร้างเนื่องจากเจ้าของที่ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแลรักษาพื้นที่ของตนอย่างเหมาะสม นอกจากจะเป็นปัญหาในเชิงทัศนียภาพแล้ว ยังเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชญากรรม ปัญหาความไม่ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน และปัญหาสาธารณภัยหลายประการ เช่น การถูกข่มขืน การถูกชิงทรัพย์ การถูกใช้เป็นแหล่งมั่วสุมต่าง ๆ และเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอัคคีภัย ที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพของคนในกรุงเทพฯ รวมทั้งยังเป็นการปล่อยพื้นที่ร้างให้สูญเปล่า แทนที่จะนำทรัพยากรซึ่งมีอย่างจำกัดมาพัฒนาใช้ให้เกิดประโยชน์
แม้ว่าที่ผ่านมากรุงเทพมหานครจะมีมาตรการและแนวทางในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว เช่น การเปลี่ยนที่รกร้างให้กลายเป็นสวนสาธารณะ การใช้มาตรการทางกฎหมายที่มีความเข้มงวดและจริงจังมากขึ้นในการจัดการกับเจ้าของที่รกร้างที่ไม่ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขพื้นที่ของตน แต่มาตรการและแนวทางเหล่านี้ก็ยังไม่บรรลุผลเท่าที่ควร
ผมจึงขอเสนอแนวทางเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนที่รกร้างในกรุงเทพมหานครให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน โดยการที่ให้กรุงเทพฯ ขอเช่าพื้นที่รกร้างของเอกชนที่อยู่ในบริเวณชุมชนต่าง ๆ ทั่วกรุงเทพมหานคร แล้วให้ชุมชนดำเนินการฟื้นฟู ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์ เช่น ทำเป็นสนามเด็กเล่นของชุมชน ใช้เป็นลานกิจกรรม สนามกีฬา ฯลฯ โดยที่กรุงเทพฯ จะให้การสนับสนุนงบประมาณบางส่วนสำหรับการดูแลและฟื้นฟูที่รกร้างดังกล่าว ร่วมกับการระดมทุนในชุมชน
ในขณะเดียวกัน ผมขอเสนอให้ทางกรุงเทพฯ กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยสำหรับที่รกร้างให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วกรุงเทพมหานคร เช่น การกำหนดให้เจ้าของที่รกร้างจะต้องดูแลให้พื้นที่ของตนเองไม่มีสิ่งของสกปรกรกรุงรังจนอาจเป็นเหตุให้เกิดอันตรายได้ การที่ต้องติดตั้งให้มีแสงสว่างทั่วถึงและเพียงพอในพื้นที่ร้างโดยให้สามารถมองได้อย่างชัดเจนในระยะ 200 เมตร หรือการกำหนดให้ความสูงของหญ้าในที่ร้างจะต้องไม่เกิน 10 เซนติเมตร และต้องมีรั้วรอบขอบชิดเพื่อมิให้คนเข้าไปใช้ประโยชน์โดยมิชอบได้ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เป็นแนวทางเพิ่มเติมเสริมเข้าไปในการป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยที่อาจจะเกิดขึ้นกับสาธารณชน
อย่างไรก็ตาม การแก้ไขปัญหาความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในบริเวณพื้นที่รกร้างดังกล่าว มิใช่เป็นเพียงหน้าที่หรือความรับผิดชอบของภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่ง แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร เจ้าของพื้นที่ และประชาชนที่จะต้องระมัดระวังตนเอง ดังนั้น หากกรุงเทพมหานครสามารถทำให้ความร่วมมือนี้เกิดขึ้นได้ เชื่อว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลสูงสุด
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-04-28