ถึงเวลากำหนดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้หญิง

* ที่มาของภาพ - http://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/thumb/3/3f/Black_Rose.jpg/397px-Black_Rose.jpg
สิทธิในการมีชีวิตอยู่อย่างปลอดภัยนับเป็นสิทธิพื้นฐานประการหนึ่งของปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ขององค์การสหประชาชาติ มนุษย์ไม่ว่าจะเชื้อชาติใด ภาษาใด เพศสภาพใด ก็สมควรได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมและชุมชนที่ปลอดจากภัยอันตราย
กรุงเทพมหานครมีประชากรเพศหญิงโดยเฉลี่ยประมาณ 2,900,000 คน ตามข้อมูลที่ศูนย์ข้อมูลกรุงเทพมหานครได้รวบรวมไว้ (สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545ndash;2549) แต่กลับพบว่า ในช่วงที่ผ่านมายังไม่ปรากฏนโยบายหรือแนวทางที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและเป็นระบบมากนักในการดูแลเรื่องความปลอดภัยให้กับผู้หญิง ทั้งที่ความเป็นจริงแล้ว ปัญหาความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับสตรียังคงเกิดขึ้นไม่เว้นในแต่ละวัน ขึ้นอยู่กับว่าจะ ldquo;เป็นข่าวrdquo; หรือไม่
จากผลการสำรวจของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในปี พ.ศ. 2549 เรื่อง ldquo;สถานการณ์ปัญหาการคุกคามทางเพศและเพศสัมพันธ์ในกลุ่มเยาวชนrdquo; ที่มีอายุระหว่าง 15 ndash; 24 ปี ที่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่า เพศหญิงถูกคุกคามทางเพศถึง 66.2 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสอดคล้องกับรายงานที่สำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับกระทรวงยุติธรรมได้ทำการสำรวจไว้ ในโครงการนำร่องสำรวจข้อมูลสถิติอาชญากรรมภาคประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครและจังหวัดนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. 2550 ที่ระบุว่า ผู้ประสบเหตุอาชญากรรมในกรุงเทพมหานครส่วนใหญ่เป็นสตรี
ผมเห็นว่า น่าจะถึงเวลาแล้วที่ยกระดับปัญหาความปลอดภัยของสตรีขึ้นเป็นวาระของกรุงเทพมหานคร และผู้บริหารกรุงเทพฯ ควรจะต้องหันมาให้ความสำคัญและเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยควรเริ่มด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของผู้หญิงในกรุงเทพมหานคร ด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมจากตัวแทนสตรีในทุกภาคส่วนของกรุงเทพฯ ทุกชุมชน เพื่อได้แนวทางที่สะท้อนจากความต้องการของสตรีอย่างแท้จริง นอกจากนี้ กระบวนการกำหนดยุทธศาสตร์ควรเน้นการดึงภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพมหานคร ภาคธุรกิจเอกชน และองค์กรพัฒนาเอกชน ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหามีทิศทางที่ชัดเจน ตรงประเด็น เป็นระบบ และมีความครอบคลุมมากขึ้น ทั้งในมิติของการป้องกัน แก้ไข และฟื้นฟูสตรีผู้ประสบภัย
ในมิติของการป้องกัน ยุทธศาสตร์ความปลอดภัยของสตรีควรมุ่งกำหนดมาตรการป้องกันทั้งตัวบุคคล และการจัดสภาพแวดล้อมชุมชนและพื้นที่สาธารณะให้มีความปลอดภัย เช่น การสอดแทรกหลักสูตรว่าด้วยเรื่องของผู้หญิงและความปลอดภัยของผู้หญิงเข้าไปในการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา การปรับปรุงแหล่งชุมชนแออัดและพื้นที่สาธารณะไม่ให้รกร้างรุงรัง การส่งเสริมให้มีการจัดตั้งเครือข่ายความปลอดภัยของผู้หญิงในชุมชน รวมทั้งเรื่องการสร้างเครื่องมือป้องกันที่ทำให้การกระทำผิดได้ยากขึ้น
ในมิติของการแก้ไขปัญหา ควรมีการกำหนดในยุทธศาสตร์ถึงกลไกในการแก้ไขปัญหาให้เข้มงวดและเด็ดขาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการลงโทษผู้กระทำผิดต่อสตรี ทั้งการกระทำในครอบครัวและในที่สาธารณะ เช่น การแก้ไขกฎหมายเพื่อกำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องรับแจ้งความในกรณีที่เป็นคดีการที่สามีทำร้ายร่างกายภรรยา เป็นต้น
ในมิติของการฟื้นฟู ควรกำหนดแนวทางและมาตรการในการดูแลสตรีที่ประสบเหตุถูกละเมิด ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ จนผู้ประสบเหตุเหล่านี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นปกติ เช่น การดูแลฟื้นฟูจิตใจของสตรีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ การจัดโครงการอบรมให้ความรู้ความเข้าใจกับครอบครัวและชุมชนในการช่วยฟื้นฟูและดูแลผู้ประสบเหตุอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง การให้บริการรักษาพยาบาลและดูสตรีที่ถูกทำร้ายร่างกาย เป็นต้น
ยุทธศาสตร์ดังกล่าวนี้ควรประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กองบังคับการตำรวจนครบาล โรงพยาบาล โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลมากขึ้น
โดยสรุป ปัญหาความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในกรุงเทพมหานครสามารถแก้ไขได้ โดยการยกระดับปัญหานี้ให้เป็นวาระสำคัญที่มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ นโยบาย มาตรการ และแนวทางการดำเนินการเจาะจง โดยผนึกพลังประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องการอย่างเป็นระบบ ซึ่งมีกรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพหลัก แนวทางดังกล่าวนี้น่าจะช่วยทำให้สตรีในกรุงเทพฯ ได้รับการดูแลอย่างเป็นระบบมากขึ้น
เผยแพร่:
0
เมื่อ:
2008-04-21