สถานะทางการเงินที่ดี สำคัญต่อคุณภาพมหาวิทยาลัย



* ที่มาของภาพ - www.halalthailand.com/olips/index.php?page=co...

ldquo;มหาวิทยาลัยrdquo; เป็นสถาบันการศึกษาการศึกษาระดับสูง ที่มีส่วนสำคัญในการผลิตคนที่มีคุณภาพระดับสูงให้ประเทศ คุณภาพการศึกษาในมหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด แต่การได้มาซึ่งคุณภาพนั้น มหาวิทยาลัยต้องอาศัยการงบประมาณที่เพียงพอ ดังนั้น จึงต้องแน่ใจว่ามหาวิทยาลัยไม่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อการขาดงบประมาณ
การตรวจสอบภาวะเสี่ยงทางการเงินของมหาวิทยาลัยจึงมีความสำคัญ ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ดังกล่าวชัดเจนนัก จึงไม่อาจทราบว่ามหาวิทยาลัยไทยมีปัญหาทางการเงินมากน้อยเพียงใด ผมเห็นตัวอย่างจากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีลักษณะเหมือนกับไทยตรงที่ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยรัฐและได้รับการจัดสรรงบประมาณจากรัฐ แม้จะมีอิสระในการบริหารจัดการก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่ต่างจากไทยคือ อังกฤษมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสภาวะทางการเงินของมหาวิทยาลัย ซึ่งผมได้นำเสนอประเด็นนี้ไว้ในบทความเรื่อง ldquo;ตรวจสอบความเสี่ยง...สถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยrdquo; ในนิตยสารการศึกษาวันนี้ ฉบับวันที่ 21-28 กุมภาพันธ์ 2551
สาเหตุที่อังกฤษ ให้ความสำคัญกับการตรวจสอบสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัย เนื่องจากเห็นว่า หากสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยไม่ดี จะเสี่ยงต่อคุณภาพการศึกษาที่ลดลง จนส่งผลให้ความนิยมของนักศึกษาทั่วโลกที่จะเข้ามาเรียน ซึ่งกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยตรง เพราะการศึกษาระดับอุดมศึกษาได้ช่วยค้ำจุนเศรษฐกิจของประเทศมาโดยตลอด ดังนั้น เพื่อรักษาความนิยมนี้ไว้ มหาวิทยาลัยจึงไม่เพียงต้องมีการบริหารจัดการที่ดีเท่านั้น ยังต้องมีความเสี่ยงด้านการเงินต่ำด้วย
รัฐบาลอังกฤษมีสภาจัดสรรงบประมาณอุดมศึกษาแห่งอังกฤษ (Higher Education Funding Council for England: HEFCE) จะเป็นหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสถานะทางการเงินของมหาวิทยาลัยรัฐในอังกฤษ นอกเหนือจากการจัดสรรงบให้กับมหาวิทยาลัย HEFCE ทำหน้าที่ตรวจสอบว่ามหาวิทยาลัยมีแผนดูแลสถานะทางการเงินเป็นอย่างไร สถานะทางการเงินอยู่ในภาวะเสี่ยงหรือใกล้เคียงกับความเสี่ยงหรือไม่ แล้วเรียงลำดับมหาวิทยาลัยที่มีความเสี่ยงมากไปจนถึงความเสี่ยงน้อยและไม่มีความเสี่ยงเลย
มหาวิทยาลัยในอังกฤษที่มีสภาวะทางการเงินอยู่ในระดับเสี่ยง มีสาเหตุหลักมาจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอ และแผนการตลาดที่ไม่ได้นำไปสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน เมื่อมหาวิทยาลัยอยู่ในภาวะเสี่ยง HEFCE จะใช้ยุทธศาสตร์เพื่อการสนับสนุนในหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละมหาวิทยาลัยจะได้รับการสนับสนุนต่างกันไป อาทิ ให้คำปรึกษา การสนับสนุนงบเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขความเสี่ยง ศาสตราจารย์เดวิด อีสท์วูด (Prof. David Eastwood) ผู้บริหารระดับสูงของ HEFCE กล่าวว่า การแก้ไขสภาวะเสี่ยงทางการเงินใช้เวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยจำนวนไม่น้อยมีสถานะทางการเงินอยู่ในระดับเสี่ยงมากและมีจำนวนมากได้ปรับปรุงในทางที่ดีขึ้น
เปรียบเทียบกับมหาวิทยาลัยไทย การตรวจสอบสภาวะทางการเงินทำได้ยาก จากรายงานการวิจัยเรื่อง แนวทางการจัดระบบงบประมาณและการลงทุนเพื่ออุดมศึกษา (2546) สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) โดย ศ.บุญเสริม วีสกุล และคณะ ผลการวิจัยได้วิเคราะห์ปัญหาการเงินของมหาวิทยาลัยไว้ว่า มีปัญหาเรื่องปีการศึกษาและปีงบประมาณที่ไม่ตรงกัน ทำให้ยากต่อการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายจากงบประมาณแผ่นดินและงบรายได้ของมหาวิทยาลัย อีกทั้ง การบริหารการเงินจากงบประมาณแผ่นดินและนอกงบประมาณแผ่นดินมีมาตรฐานต่างกัน การใช้งบตามคณะและภาควิชาไม่มีการเปิดเผยหรือเปิดเผยเพียงบางส่วน และรายได้ที่มาจากโครงการพิเศษยังไม่มีการควบคุม
ในอนาคต หากมหาวิทยาลัยไทยเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับทั้งหมด มหาวิทยาลัยจะมีอิสระในการบริหารจัดการงบประมาณและการระดมทุน หากขาดระบบการตรวจสอบ ย่อมเสี่ยงต่อการแสวงหาผลประโยชน์จากบางกลุ่ม ซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณภาพการจัดการศึกษาและกระทบถึงค่าเล่าเรียนของผู้เรียนอย่างไม่เป็นธรรม อีกทั้งหากเกิดปัญหาด้านการบริหารหรือคุณภาพการศึกษา โดยรัฐไม่ได้รับทราบและเข้าไปช่วยเหลือได้ทันท่วงที ก็จะกระทบต่อตัวผู้เรียนโดยตรง
ตัวแบบประเทศอังกฤษที่มีการจัดตั้งหน่วยงานตรวจสอบภาวะทางการเงินของมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องน่าสนใจ รัฐบาลไทยควรมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารูปแบบการทำงานของ HEFCE เพิ่มเติม เพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมหาวิทยาลัยที่จะได้รับการช่วยเหลือทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาการเงิน ที่สำคัญ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นใจในด้านความโปร่งใสของมหาวิทยาลัยแก่ประชาชน กรณีมหาวิทยาลัยไทยต้องออกนอกระบบ

แสดงควมคิดเห็น



admin
เผยแพร่: 
0
เมื่อ: 
2008-03-08